ในยามวิกฤตอย่างปัจจุบัน หากสายการบินหลักของชาติจะไม่หวังพึ่งรัฐบาลช่วยต่อสายป่านไม่ให้ขาดอาจเป็นเรื่องที่น่าฉงน สองสามวันมานี้จึงได้เห็นว่าสายการบินต่างประเทศหลายสายเดินแถวออกมาเผยสภาพขาดทุนและเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ
กลุ่มแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม เพิ่งได้ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์รับปากว่าจะช่วยหาทั้งเงินกู้และเงินช่วยเหลือรวม 9 พันล้านยูโร -ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลฝรั่งเศสค้ำประกัน 4 พันล้านยูโร เงินกู้ทางตรง 3 พันล้านยูโร และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ควักกระเป๋า อีก 2-4 พันล้านยูโร แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้กู้เงินไปเพื่อ "ผลาญ" เล่น
ผู้บริหารระดับสูงของแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาล "ไม่ใช่การเซ็นเช็คเปล่า" แต่สายการบินจะต้องลงมือคุมต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลให้ได้อย่างจริงจัง
- โควิด-19 : ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าสหรัฐฯเดือน พ.ค. ติดลบ
- โควิด-19 : นายกฯยังไม่ประกาศปลดล็อก บอก "ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งเรียกร้องมากนักเลย"
เงินภาษีไม่อาจอุ้มสายการบินได้ตลอดไป
ดูเหมือน "ไม้แข็ง" และ "ยาขม" คือสูตรพยุงสายการบินให้อยู่รอด บริติชแอร์เวยส์ (บีเอ) เป็นอีกสายการบินที่มีแผนปรับโครงสร้างและตั้งเป้าลดพนักงานลง 12,000 ตำแหน่งจากทั้งหมด 42,000 ตำแหน่ง การตัดสินใจนี้อยู่บนพื้นฐานที่ประเมินแล้วว่ากว่าการเดินทางทางอากาศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี
อเล็กซ์ ครูซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบอกในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ว่า สภาพการณ์ของอุตสาหกรรมการบินเลวร้ายลง ดังนั้นบริษัทจึงต้องลงมือโดยไม่รีรอ "เราต้องจัดการวิกฤตนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยตัวเอง ไม่มีทางที่รัฐบาลจะเข้ามาอุ้ม และเราไม่อาจคาดหวังให้เอาเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยการจ่ายเงินเดือนให้เราได้ตลอดไป…และเราจะได้เห็นสายการบินบางสายต้องปิดตัวไป"
บีเอจ้างนักบิน 4,500 คน และลูกเรือราว 16,000 คน ขณะนี้พนักงานอีกราว 23,000 คน ถูกขอให้หยุดงานเป็นเวลา 3 เดือนโดย ได้รับเงินเดือนที่รัฐบาลช่วยจ่ายให้ 80% แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ต่อเดือน
การให้พนักงานลาหยุดโดยได้รับเงินเดือนน้อยลงหรือให้เกษียณอายุก่อนกำหนดยังเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของอีกหลายสายการบิน เช่น แควนตัสที่ให้พนักงาน 20,000 คนหยุดงาน แอร์แคนาดาทำแบบนี้กับพนักงาน 15,000 คน หรือแม้แต่อเมริกันแอร์ไลน์ ที่นักบินยอมลาพักงานระยะสั้น และได้รับเงินเดือนน้อยลง ขณะที่อีก 700 คน ยอมเกษียณก่อนกำหนด
คำกล่าวของผู้บริหารบีเอที่ว่าสายการบินบางสายอาจต้องปิดตัว ไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินเลย เพราะสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินว่าความต้องการเดินทางที่ลดลงเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการบินได้ถึง 25 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 11.2 ล้าน ตำแหน่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินจะลดลงถึง 70% ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ดังนั้นการสนับสนุนทางการเงินโดยตรง ให้เงินกู้หรือลดหย่อนด้านภาษีจึงเป็นสิ่งที่ไออาต้าเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกทำหากยังต้องการเห็นสายการบินกลับมาฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคบรรเทาลง
การบินไทยต้องได้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง
สายการบินแห่งชาติของไทยออกมาประกาศตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ว่าบริษัทต้องเผชิญผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ผนวกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และอื่น ๆ ล้วนเป็นปัจจัยลบที่กระหน่ำซ้ำเติมผลการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ต้องปรับลดเที่ยวบินจำนวนมากเหมือนสายการบินอื่น ต้องหาทางลดรายจ่าย และทำแม้กระทั่งปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง และลดผลตอบแทนที่ให้กับคณะกรรมการบริษัทลงครึ่งหนึ่งนาน 6เดือน
แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเงินก้อนมหาศาลที่การบินไทยต้องได้รับเพื่อค้ำจุนให้สายการบินอยู่รอดได้ ตัวเลขที่มีการพูดถึงตามรายงานของสื่อในไทยคือเงินกู้วงเงินราว 5 หมื่นล้านบาทที่กระทรวงการคลังต้องค้ำประกันให้ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องให้อยู่รอดได้จนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น
คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการเมื่อ 29 เม.ย. เรื่องค้ำประกันเงินกู้ที่จะกำหนดเป็นเพดานวงเงินเอาไว้ และสั่งให้บริษัทต้องเสนอแผนฟื้นฟูกิจการโดยยึดหลักการว่าการบินไทยจะยังคงเป็นสายการบินประจำชาติและมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม
เมื่อปีที่แล้ว (2562) การบินไทยและบริษัทย่อย มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ผลประกอบการที่ขาดทุนนี้ยังไม่นับรวมผลกระทบเต็ม ๆ จากโรคโควิด-19 ที่ยังกระหน่ำซัดสายการบินทั่วโลกอยู่ ซึ่งหลายสายประกาศแล้วว่าจะไม่ให้เงินภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ต้องสูญเปล่า ส่วนการบินไทยบอกโดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และรุนแรงขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนและเพิ่มระดับมาตรการรับมืออย่างเข้มข้น
ผลขาดทุน/กำไร 6 ปี การบินไทย (ล้านบาท)
2557 | 2558 | 2559 | 2560 | 2561 | 2562 |
---|---|---|---|---|---|
-15,572 | -13,047 | +15.14 | -2,107 | -11,625 | -12,042 |
"อยู่บน" - Google News
April 30, 2020 at 07:09AM
https://ift.tt/2WcgyYQ
โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดทำสายการบินทั่วโลก ลดคน-ลดเงินเดือน-ขอรัฐช่วย - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดทำสายการบินทั่วโลก ลดคน-ลดเงินเดือน-ขอรัฐช่วย - บีบีซีไทย"
Post a Comment