ปี 2562 ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับหนึ่งของโลก แต่ไม่ใช่ปีแรกที่ชาวเชียงใหม่เผชิญวิกฤตมลพิษทางอากาศ เพราะพอย่างเข้าฤดูแล้ง คนเชียงใหม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้หมอกควันของฝุ่นควันพิษ มานานกว่า 14 ปีแล้ว และสำหรับปีนี้ พูดได้ว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา สะท้อนนโยบายของรัฐและการทำงานในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือล้มเหลว ซึ่งข้อเท็จจริงทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็ยอมรับการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ และการจัดการเชื้อเพลิงขาดประสิทธิภาพผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 19-21 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ จ.เชียงใหม่
ในช่วงประชุมสภาลมหายใจเชียงใหม่ออกแถลงการณ์ถึงคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง 15 ปี มลพิษอากาศฝุ่นละอองภาคเหนือ ปี 2564 ต้องมีความก้าวหน้าที่จับต้องได้ โดยฝากความหวังในการแก้ฝุ่นควันเชียงใหม่ในโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทส.ร่วมประชุมถอดบทเรียนแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษ จ.เชียงใหม่
หลังประชุม 3 วัน กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ถอดบทเรียนออกมา 10 ข้อ ใช้แก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการไฟป่าและหมอกควันระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ 2.แผนจัดหาและสนับสนุนอัตรากำลัง อุปกรณ์ ยานพาหนะ และงบประมาณที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา 3.เฝ้าระวังและดับไฟตลอดเวลา 4.แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงและจัดระเบียบการเผา 5.การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในทุกพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดไฟป่า 6.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชน และภาคประชาชน 7.การผลักดันสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีงบประมาณตรงภารกิจ 8.การกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน 9.การฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เสียหายหลังเกิดไฟไหม้ และข้อสุดท้าย 10. การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งไทยต้องอาศัยเลขาธิการอาเซียนประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันหมอกควันข้ามแดน ข้อเสนอดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ประธานประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลและถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 เมื่อวันที่ 19-21 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ จ.เชียงใหม่
ปีหน้าการแก้ไฟป่าภาคเหนือหนีไม่พ้นกรอบนี้ แผนดังกล่าวจะหยุดปัญหาหมอกควันได้หรือไม่ คนเชียงใหม่ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนแสดงความคิดเห็นจะกลับไปสู่วังวนแบบเดิมๆ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่ รมว.ทส.สรุปจากการประชุมถอดบทเรียนต้องทำให้ครบตามแผนงานโครงการภาครัฐ เพื่อปีหน้าจะเสนองบประมาณได้ 10 ข้อ ที่มีการปรับปรุงบ้าง เพื่อใช้กลไกแบบเดิม หากดูข้อเสนอข้อที่ 1 กับข้อที่ 7 เรื่องผลักดันการถ่ายโอนภารกิจ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้าง ยังไม่มีภาพที่ชัดเจน เพราะต้องได้รับการตอบรับจากกระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 10 ข้อด่วนๆ มาจากโจทย์แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าปีนี้ เพื่อลดฝุ่นควัน แต่ขณะที่ความรู้จากการแก้ปัญหามา 10 ปี จะทำให้อยู่ในวังวนเดิมๆ สิ่งที่รัฐต้องทำ คือ การวางแผนป้องกันและจัดการพื้น ระบบการทำงานที่ผ่านมายังคิดในกรอบบรรเทาสาธารณภัยอยู่ ประเด็นต่อมาจากการติดตามอีเว้นท์รองนายกฯ และรัฐมนตรีมาเชียงใหม่ เป็นการพูดถึงฝุ่นควันบวกภัยแล้งต่างๆ ด้วย อีกทั้งพูดถึงปัญหาแต่ละจังหวัด ซึ่งการจัดการไม่เหมือนกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคิดในกรอบเดิมๆ บริหารจัดการแบบเดิมๆ เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ใช้แก้ปัญหาจริง นอกจากปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด การทำผังพื้นที่เป็นอีกเครื่องมือการบริหารจัดการเชื้อไฟ ซึ่งในแผนจัดการเชื้อไฟของรัฐที่พูดมา เป็นการจัดการที่ไม่ได้พูดถึงตั้งแต่ต้นทางการเกิดเชื้อไฟ มุมมองทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากข้อมูลพื้นที่ที่ถูกต้อง ขอบเขตของปัญหาเป็นอย่างไร จะไปสู่กรอบคิดที่ชัด
“ อีกเรื่องที่นำไปสู่ข้อถกเถียงต่อ คือ การจัดการเชื้อเพลิง ยังหาข้อยุติไม่ได้ การจัดการฝุ่นควันในอุดมคติ ต้องมีการเผา ขณะเดียวกันอีกแนวทางไม่เผา หากไปถึงขั้นควบคุมไม่ได้จะเกิดไฟไหม้รุนแรงเช่นปีนี้ ก็มีข้อเสนออีกต้องมีวิธีการจัดการเชื้อไฟ ความเห็นของส่วนใหญ่หรือมติมหาชนการแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์เฉพาะหน้านี้ ยังไม่ได้คุยกันอย่างจริงจัง การถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจึงเป็นแบบด่วนๆ ยังไม่ใช่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หรือนำตัวอย่างรูปธรรมแก้ปัญหาได้มาขับเคลื่อนต่อ ส่วนที่ขาดหายไปจาก10 ข้อที่พูดถึง จะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาฝุ่นควันเฉพาะหน้า ไปสู่การวางแผนจัดการระดับพื้นที่ ระดับชุมชน รวมถึงวิธีสนับสนุนงบประมาณ “
ประเด็นต่อมา อาจารย์ไพสิฐ กล่าวถึงข้อเสนอเพิ่มอัตรากำลังคน อุปกรณ์ว่า สภาลมหายใจฯ ต้องขับเคลื่อนต่อจะมีข้อเสนอที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อเสนอที่รัฐมนตรีจะนำเข้า ครม. จะนำไปสู่วังวนแบบเดิมและเกิดความไม่คุ้มค่า หากรัฐยังคิดบนกรอบแบบนี้ อย่าไปหวัง แต่หากเริ่มต้นปรับปรุงกฎระเบียบที่ติดขัด อีกส่วนทำระบบปฏิบัติในระดับพื้นที่ ทำตั้งแต่ตอนนี้หน้าฝน ทำแนวเขต แนวกันไฟอย่างไร จะช่วยแก้ปัญหาได้ แก้หมอกควันต้องแก้ด้วยกรอบความคิดใหม่ๆ
ด้าน วิทยา ครองทรัพย์ กรรมการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ คือองค์กรที่ระดมคนเชียงใหม่ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้าไปช่วยรัฐในการพัฒนาคุณภาพอากาศของเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจากต้นตอควันพิษทั้งในชนบทและในเมือง ผ่านโครงการต่างๆ ที่เข้ามาขับเคลื่อนให้คนในสังคมได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา และลงมือแก้ไขจากตัวเองอย่างจริงจัง เราถอดบทเรียนและยอมรับว่า ปีนี้ไฟป่าหนักกว่าทุกปี มีการเผามากขึ้น จุดความร้อนเพิ่มขึ้น มีคดีเกิดขึ้นกว่า 1,000 คดี แต่จับผู้กระทำผิดได้มาถึง 10 ราย ถึงเวลาต้องทบทวนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อจะเดินหน้าสู่การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
“ รัฐบาลต้องยอมรับว่า ปัญหาเกิดจากการแก้ปัญหาที่รัฐบาลโยนภาระให้จังหวัดจัดการ ข้อเท็จจริงเกิดการเผาป่าจนเกินกำลังเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดจะดูแล การสั่งการของผู้ว่าฯ ก็มีปัญหา ผู้รับคำสั่งสับสน เพราะมีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพย์ กระทรวงเกษตรฯ หน่วยทหารในพื้นที่ ที่เข้าไปทำงาน เชียงใหม่มีพื้นที่ป่ากว่า 10 ล้านไร่ แต่มีเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ป่าเพียง 2 ล้านไร่ หรือ 20% เท่านั้น อีก 80% ดูแลไม่ได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ดับไฟป่ามืออาชีพแทบไม่มี มีแต่จิตอาสา อสม. เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่า หลายครั้งเกิดความสูญเสีย การแก้ปัญหาหมอกควันล้มเหลวเกิดจากระบบ โจทย์สำคัญจะทำอย่างไรให้ 80% ที่เหลือ นี้มีการดูแล พื้นที่เหล่านี้ขึ้นมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ แต่ความจริงถ่ายโอนอำนาจมา โดยผู้รับมอบไม่มีความพร้อมและไม่มีงบประมาณ บาง อปท. โดน สตง.ตรวจสอบงบจัดการไฟป่า แต่เราก็ช่วยประสาน มีประชุมปลดล็อคปัญหานี้ในรูบแบบงบฉุกเฉิน เชียงใหม่มี 220 อปท. ที่มีพื้นที่อยู่ในป่า 110 แห่ง หากไม่มีความพร้อม การจัดการไฟป่าและหมอกควันไม่สำเร็จแน่นอน “ วิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลต้องออกกฎหมายอากาศสะอาด ระหว่างที่รอกฎหมาย ควรตั้งคณะกรรมการบริหารอากาศแห่งประเทศไทย หรือ”บอร์ดอากาศ” ขึ้นมาเป็นเพื่อดำเนินงานและบริหารจัดการทั้งระบบ ควบคุมดูแลคุณภาพอากาศให้สะอาดและปลอดภัยต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะจะให้ระดับจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบไม่ไหว จากนั้นค่อยกระจายมาเป็นบอร์ดอากาศระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
เขาย้ำการพัฒนาคุณภาพอากาศสำคัญ เพราะเราขาดอากาศหายใจไม่ได้ แม้วันนี้สถานการณ์จะผ่านไปแล้ว แต่ต้องเตรียมพร้อม วางแผน และกำหนดมาตรการ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปอย่างยั่งยืน ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม เราเจอไฟป่าภูกระดึง ดอยหลวงเชียงดาว ปีนี้ไฟป่าโหมไหม้ดอยสุเทพอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์เชียงใหม่เมืองท่องเที่ยว
ส่วนสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ แกนนำสภาลมหายใจฯ คนเดิม ให้ภาพชัดๆ ว่า เกิดจากระบบนิเวศป่าไม้เสียสมดุล ป่าที่เชียงใหม่เป็นป่าผลัดใบและป่าดิบชื้น มีการทิ้งใบจากต้นในเขตป่าผลัดใบ ใบไม้สะสมในป่าจะเกิดการไหม้เองตามธรรมชาติจนลามไปถึงอีกเขต ในอดีตเมื่อถูกความชื้นของป่าเขตดิบชื้นก็หยุด แต่เมื่อธรรมชาติขาดสมดุลไฟป่าก็ลาม นำมาสู่การชิงเผา เพื่อคุมไฟป่า แต่จะต้องดำเนินการเผาแบบควบคุม บริหารจัดการเชื้อเพลงให้ถูกเวลา ที่ผ่านมารัฐไม่มีแผนบริหารจัดการอย่างถูกต้อง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าทั้งผืนไม่มี ไม่ทำปฏิทินการเผาที่มาจากฐานข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ก่อนประสานทุกพื้นที่ เริ่มเผาเวลาไหนและจบเมื่อใด เครือข่ายภาคประชาชนทำแอพพลิเคชัน”จองเผา”ขึ้นมา ก็ไม่นำไปปรับใช้ ทุกวันนี้ต่างคนต่างทำ การเผาผิดเวลาทำให้เกิดฝุ่นควันห่มคลุมเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะในที่สุด การแก้ปัญหาภาครัฐเริ่มต้นทำงานในช่วงวิกฤต มีคำสั่งห้ามเผา ใครเผาโดนไล่จับ รัฐขาดความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา คนภาคเหนือไม่ควรเจอฝุ่นควันเกินมาตรฐาน แต่ 10 กว่าปีนี้ไม่เคยทำให้ฝุ่นควันหายไป อย่าหลอกประชาชน
วิทยา บอกอีกว่า ต้นเหตุหมอกควันถัดมา คือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพดที่ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วใช้การเผาไร่เพื่อปลูกใหม่ นอกจากการเผาในป่าแล้ว เชียงใหม่ยังห่มควันจากยานพาหนะ การคมนาคมขนส่ง รถเก่าที่ปล่อยควันดำ การก่อสร้างที่ก่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก การเผาขยะ หรือแม้แต่ควันไฟจากร้านอาหารปิ้งย่างในเมือง ต้องมีมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดฝุ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ส่วนสาเหตุถัดมาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและลาว ซึ่งมีบริษัทไทยเข้าไปเกี่ยวข้องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ ควันพิษจากที่นั่นก็ข้ามพรมแดนมาเชียงใหม่ การแก้ปัญหาเรื่องนี้รัฐบาลต้องเอาจริงใช้มาตรการด้านภาษีกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผา สนับสนุนตลาดให้กับสินค้าที่ปลอดการเผา ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอย่างมีประสิทธิภาพและในพื้นที่เหมาะสม ไม่ใช่พื้นที่ลาดชัน สภาลมหายใจเชียงใหม่สนับสนุนการเปลี่ยนเกษตรเชิงเดี่ยวการทำเกษตรแบบยั่งยืน เพราะจะลดหมอกควันให้น้อยลง
นอกจากนี้ แกนนำสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับสิทธิการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพิงป่า โดยไม่ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธุ์มีการดูแลจัดการที่เป็นระบบขึ้น เป็นไร่หมุนเวียนที่มีการบริหารการเผา หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนรักษาป่าในทุกพื้นที่อย่างเข้มแข็งให้ต่อเนื่อง นี่คือ ความยั่งยืนในการรักษาป่า ถ้าต้องการแก้ปัญหาหมอกควันให้สำเร็จ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อเมือง เพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อสุขภาพของตนเองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ปล่อยให้วิกฤตไฟป่า ฝุ่นPM 2.5 และหมอกควันเกิดขึ้นทุกปี
ด้าน ดร.ชัยยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มช. กล่าวว่า การจัดการแก้ไฟป่าและหมอกควันจากนี้ควรจะเป็นการคิดและเคลื่อนจากแผนข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน ใช้ อปท.เป็นแพลตฟอร์ม อีกประการข้อเสนอพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ยังเป็นการพูดกว้างๆ แต่หมายถึงจะนำกลุ่มไหนมามีส่วนร่วม ยกตัวอย่างกรณีการระบาดโควิด สั่งการจากส่วนกลาง มี อสม.ปฏิบัติการในพื้นที่ ขณะเดียวกันประชาชนตระหนักถึงปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วม แต่ 10 ข้อสรุปที่รัฐมนตรีพูดถึง เราไม่เห็นบทบาทภาคประชาชนที่ชัดเจน จะมีวิธีให้เขาทำอะไร ระดมศักยภาพของท้องถิ่นอย่างไร ประการต่อมาการผลักดันให้กลไกอาเซียนทำงาน ที่ผ่านมาฝุ่นควันข้ามพรมแดนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย เป็นเรื่องที่ต้องออกแรง และอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาใหญ่ และในเชิงยุทธศาสตร์ยังไม่มีการพูดถึง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมคุณภาพอากาศ ฉะนั้น รัฐถอดบทเรียนมีข้อสรุปยังไม่เห็นแผนเชิงยุทธศาสตร์แก้ปัญหาหมอกควัน และไม่มีเจตจำนงในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
“ เมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจ ไม่ได้หมายความว่า อบต.ทำทุกอย่างหมด แต่ อบต.ควรเป็นฝ่ายประสานงานกับชุมชนท้องถิ่น และเอื้ออำนวยความสะดวกงบประมาณ และออกข้อบัญญัติขึ้นมาเพื่อการใช้งบประมาณ ที่จนท.อบต.ไม่ต้องหวั่นการลงโทษ ทำให้คนบริหารงานมีความสบายใจ อบต.ส่วนใหญ่มั่นใจ แต่ติดขัดถ่ายโอนอำนาจมา แต่ไม่มีงบประมาณขึ้นมา หรือมีงบมาบ้าง แต่ติดเงื่อนไขที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการใช้เงินผิดประเภท “ ดร.ชัยยันต์ กล่าวทิ้งท้ายต้องปลดล็อคปัญหาใหญ่นี้ ทำให้งานแก้หมอกควันมีประสิทธิภาพขึ้น
"ล้มเหลว" - Google News
May 24, 2020 at 08:11AM
https://ift.tt/2WUWATT
ถอดบทเรียน 14 ปี แก้หมอกควันภาคเหนือ "ล้มเหลว - ซ้ำรอยเดิม" - ไทยโพสต์
"ล้มเหลว" - Google News
https://ift.tt/2Kza010
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ถอดบทเรียน 14 ปี แก้หมอกควันภาคเหนือ "ล้มเหลว - ซ้ำรอยเดิม" - ไทยโพสต์"
Post a Comment