การคุกคามด้วยวาจาและทำร้ายร่างกายคนเชื้อสายเอเชียตะวันออกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ กำลังเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา สะท้อนถึงความจริงอันเจ็บปวดของอัตลักษณ์คนอเมริกัน
แม้นไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ แต่วิถีชีวิตของ เทรซี เหวิน ลิ่ว ไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้ "ความไม่เป็นอเมริกัน" เลย ลิ่วไปดูการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ชม 'เซ็กซ์ แอนด์ เดอะ ซิตี' ทางโทรทัศน์ และอาสาช่วยงานคลังอาหารเพื่อผู้ยากไร้
ก่อนการระบาดของโควิด-19 หญิงวัย 31 ปีคนนี้ ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนเชื้อสายเอเชียตะวันออกที่อาศัยในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส "จริง ๆ นะ ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองดูแตกต่างมากขนาดนั้น"
ความคิดของเธอเปลี่ยนไป เมื่อสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตไวรัสระบาดที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1 แสนคนการเป็นคนเชื้อสายเอเชียในอเมริกา ทำให้ตกเป็นเป้าของการทำร้าย หลายคนรวมถึงลิ่วด้วยรู้สึกได้ถึงภัยคุกคาม
ลิ่วเล่าว่า เพื่อนชาวเกาหลีของเธอคนหนึ่งถูกผู้คนรุมผลักและตะคอกใส่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็บอกให้ออกไปจากร้าน เพียงเพราะเป็นคนเอเชียและสวมหน้ากาก
คนเชื้อสายเอเชียตะวันออกในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส เจอการเหยียดเชื้อชาติรุนแรงกว่านั้น ทั้งถูกถ่มน้ำลายใส่ โดนชกหรือเตะ รายหนึ่งถึงกับถูกมีดแทง
การทำร้ายร่างกายโดยตรง การกลั่นแกล้ง หรือทารุณทางสังคมและการเมืองที่แฝงนัยอคติเชิงต่อต้านเอเชียที่เพิ่มสูง ทำให้คนเชื้อสายเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้หลายคนตั้งคำถามว่า พวกเขาเข้าได้กับสังคมอเมริกันหรือไม่
"ตอนที่ฉันมาสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน เป้าหมายของฉันคือปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอเมริกันให้ได้เร็วที่สุด" ลิ่วกล่าว
"แต่แล้วการแพร่ระบาดก็ทำให้ฉันตระหนักว่า เพราะฉันเป็นคนเอเชีย ด้วยรูปร่างหน้าตาของฉัน และถิ่นที่ฉันเกิด พวกเขาไม่มีทางยอมรับฉันเป็นพวกได้"
หลังเกิดเหตุทำร้ายเพื่อนของเธอที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ลิ่วตัดสินใจซื้อปืนกระบอกแรกในชีวิต
"ฉันหวังว่าโลกมันจะไม่เลวร้าย จนถึงวันที่เราต้องใช้มัน" ลิ่วยังเสริมว่า "หากต้องใช้ปืนจริง ๆ มันต้องเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงอย่างที่ฉันไม่อยากจะจินตนาการถึง"
ทางการนครนิวยอร์กและลอสแองเจลิสระบุว่า กรณีที่เกิดจากความเกลียดชังพุ่งเป้าไปที่คนเชื้อสายเอเชียได้เพิ่มขึ้น ด้านศูนย์รับร้องเรียนที่บริหารงานโดยกลุ่มเคลื่อนไหวและมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตท เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งกรณีการเหยียดเชื้อชาติที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาแล้วกว่า 1,700 ครั้ง
ตำรวจใน 13 รัฐทั่วประเทศ เช่น รัฐเท็กซัส วอชิงตัน นิวเจอร์ซีย์ มินนิโซตา และนิวเม็กซิโก ต่างได้รับแจ้งเหตุการณ์เชิงเหยียดคนเอเชียเช่นกัน
มีเสียงวิจารณ์ว่า ผู้มีตำแหน่งระดับสูงเป็นคนทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ที่ถูกวิจารณ์หนักว่า สาดน้ำมันเข้ากองเพลิงด้วยวาทกรรมเชิงต่อต้านจีน เวลาพูดถึงบทบาทของจีนต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ความรู้สึกต่อต้านคนเอเชียยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียต่างรู้สึกว่าไม่เพียงตกเป็นเป้าทำร้าย อัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันของพวกเขาก็ถูกสั่นคลอน ด้วยเช่นกัน
อคติต้านคนเอเชียในสหรัฐฯ เลวร้ายแค่ไหน
คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียจำนวนมาก รวมถึงคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ต่างพูดถึงท่าทีสังคมที่เปลี่ยนไป หลังเกิดการแพร่ระบาด
คิมเบอร์ลี ฮา ชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ที่อาศัยในนิวยอร์กมามากกว่า 15 ปี เล่าว่า เธอรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดือน ก.พ. หลังคนแปลกหน้าเริ่มตะโกนใส่เธอ เวลาจูงสุนัขไปเดินเล่นในนครนิวยอร์ก
"เขาตะโกนว่า 'ฉันไม่กลัวไอ้พวกคนจีนเปื้อนเชื้อโรคหรอก' และเริ่มชี้นิ้วใส่ แล้วตะโกนต่อว่า 'พวกแกไม่ควรมาอยู่ที่นี่ ออกไปจากประเทศนี้ ฉันไม่กลัวไวรัสที่พวกแกเอาเข้ามาในประเทศนี่หรอก' "
สัปดาห์ต่อ ๆ มา เธอยังสังเกตว่า "ทุก ๆ 1 ใน 10 คน" ที่เธอได้พบเจอในที่สาธารณะ จะมีท่าทีโกรธเกรี้ยวเวลาเห็นเธอ
"ฉันไม่เคยรู้สึกถูกคุกคามมากขนาดนี้มาก่อน"
ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของประเทศ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แมดิสัน ฟริมเมอร์ ลูกครึ่งจีน วัย 23 ปี รับรู้ถึงการโจมตีเชิงเหยียดคนเอเชีย แต่ "ไม่คิดว่ามันจะมีดาษดื่นขนาดนั้น"
แต่แล้ว ในเดือน เม.ย. เธอไปช่วยแปลภาษาให้กับสามีภรรยาสูงวัยชาวจีนที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในนครลอสแองเจลิส แต่กลับถูกหญิงคนหนึ่งที่ดูโกรธจัด ด่าทอเป็นเวลานาน ซ้ำร้ายยังเขวี้ยงน้ำใส่ และฉีดสเปรย์ไล่อีกด้วย
"หล่อนตะโกนว่า 'พวกแกกล้าดียังไงมาซื้อของร้านเดียวกับที่ครอบครัวฉันมา กล้าดียังไงที่มาทำลายประเทศของฉัน พวกแกเป็นสาเหตุทที่ทำให้ครอบครัวของฉันหาเงินไม่ได้เลย' "
ฟริมเมอร์เล่าว่า เธอพยายามใช้เหตุผลอธิบายหญิงคนนี้ที่ว่าร้ายตัวเธอ แล้วยังเขวี้ยงขวดน้ำใส่ จนขาและเท้าของเธอเปียก
ตอนที่ไปชำระเงินที่แคชเชียร์ หญิงคนนี้ยังเดินผ่านเข้ามา แล้วฉีดอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนสเปรย์ฆ่าเชื้อ หรือน้ำหอมปรับอากาศ แล้วยังเดินตามสามีภรรยาสูงวัยชาวจีนไปที่รถ ก่อนถ่ายรูปของพวกเขา พลางตะโกนว่า "นี่มันเป็นความผิดของพวกแก" และสบถคำหยาบคาย ที่มีคำว่า "จีน" "พวกสกปรก" และ "ลัทธิคอมมิวนิสต์"
"ฉันวิ่งไปหาพวกเขา แล้วบอกเป็นภาษาจีนกลางให้เข้าไปในรถ เอาข้าวของที่ซื้อมาขึ้นรถให้พวกเขา ฉันยื่นไข่ให้ทั้งคู่ผ่านหน้าต่าง" ฟริมเมอร์เล่า แต่หญิงคนนั้นยังไม่หยุด ขับรถตามเธอ จนเธอต้องขับรถไปใกล้สถานีตำรวจ หญิงคนนั้นถึงจะยอมเลิกลา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิชาวเอเชีย และมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตท ได้ร่วมกันสร้างฐานข้อมูลในชื่อ STOP AAPI HATE ที่บันทึกการแจ้งเหตุเกี่ยวกับการแบ่งแยกจากโควิด-19 ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และประชาชนจากหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ
พวกเขาได้รับตัวอย่างข้อมูลจาก 45 รัฐ โดยกรณีที่เกิดขึ้นส่วนมาก เกิดในรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก
บันทึกการแจ้งความนั้น ครอบคลุมกรณีที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ การคุกคามทางวาจาเป็นรูปแบบที่มีรายงานเข้ามามากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานถึงการเดินเลี่ยง ทำร้ายร่างกาย การแบ่งแยกในที่ทำงาน ห้ามเข้าสถานประกอบการ และการทำลายทรัพย์สินด้วย โดยผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย
รัสเซลล์ จุง อาจารย์แห่งสถาบันชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตท ซึ่งรับหน้าที่รวบรวมฐานข้อมูลนี้ ระบุว่า เขายังพบกรณีที่มีคนถูก "ไอหรือถ่มน้ำลายใส่" หลายครั้งอีกด้วย ซึ่งเขาได้เพิ่มเข้าไปในหมวดหมู่เพิ่มเติมของฐานข้อมูลแล้ว
การถ่มน้ำลายใส่ เป็นสิ่งที่ เท็ด เหงียม ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามในเมืองฟิลาเดลเฟีย ประสบเข้ากับตัวเอง
เขาเล่าว่าเมื่อเดือน มี.ค. ชายคนหนึ่งตะโกนด่าเขาว่า "ออกไป แกนี่แหละทำให้เกิดไวรัสโคโรนา" ตอนแรก เขาก็ไม่ได้คิดอะไรมาก
แต่แล้วช่วงปลายเดือน ชายคนหนึ่งถ่มน้ำลายใส่เขา ตอนที่เดินผ่านเหงียม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขา "รู้สึกแย่นานวันถึงสองวันเลย"
"ผมแจ้งตำรวจ แต่ก็ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหน…โชคดีที่อย่างน้อยผมก็ไม่ได้ติดเชื้ออะไรมา" เหงียม วัย 37 ปีกล่าว
ฐานข้อมูล STOP AAPI HATE รวบรวมข้อมูลจากการแจ้งเหตุของผู้ประสบเหตุเองผ่านออนไลน์ ขณะที่ บีบีซีได้วิเคราะห์บทสัมภาษณ์ และรายงานของสื่อในสหรัฐฯ พบว่า เกิดเหตุคุกคามพุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียมากกว่า 100 ครั้ง นับแต่เดือน ม.ค.
และกว่า 70% ของเหตุที่เกิดขึ้น ล้วนเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของโรค โดย 40% ของผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจ
บางกรณีที่เกิดขึ้นยังเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ตำรวจนครนิวยอร์กเปิดเผยว่า ได้สืบสวนอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว 14 คดี มีเหยื่อเป็นชาวเอเชีย 15 คน และยังเกิดการทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 9 ครั้งในรัฐนิวยอร์ก
ส่วนที่แคลิฟอร์เนีย ชายสูงวัยคนหนึ่งถูกตีด้วยแท่งเหล็ก แล้วยังมีวัยรุ่นอีกคนที่ถูกส่งโรงพยาบาล หลังถูกทำร้ายร่างกาย
ในรัฐเท็กซัส ครอบครัวเอเชียหนึ่ง ซึ่งมีเด็กเล็กอายุ 2 ขวบ และ 6 ขวบอยู่ด้วย ถูกมีดแทงยกครัวในซูเปอร์มาร์เก็ต
สถานีข่าวเอบีซี รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ว่า "ผู้ต้องหาให้การว่า เขาแทงครอบครัวนี้ เพราะคิดว่าเป็นชาวจีน ที่กำลังเอาเชื้อไวรัสโคโรนามาแพร่" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เหยื่อมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถิติเหตุเหยียดคนเอเชียในสหรัฐฯ
- ผลสำรวจพบว่าประชาชน 1 ใน 3 ได้พบเห็นคนต่อว่าคนเอเชียว่าเป็นต้นตอการแพร่ระบาด
- มีการแจ้งเหตุ 1,710 ครั้งไปยังฐานข้อมูล STOP AAPI HATE โดย 15% เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย ไอใส่ หรือถ่มน้ำลายใส่
- สื่อรายงานถึงเหตุเหยียดคนเอเชียมากกว่า 100 กรณี
- คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนครนิวยอร์กรับเรื่องกรณีการต่อต้านคนเอเชีย 133 เหตุ เมื่อเทียบกับเพียง 11 เหตุในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ทางคณะกรรมาธิการได้เข้าช่วยเหลือใน 91 กรณี
- มีอาชญากรรมที่เกิดจากอคติต่อคนเอเชีย 14 คดี ที่ตำรวจในนิวยอร์กได้ดำเนินการสืบสวนแล้ว
- กรณีที่เกิดจากความเกลียดชังมากกว่า 100 ครั้ง โดยแจ้งเหตุไปยังกลุ่มพลเมือง และสำนักงานตำรวจในลอสแองเจลิส
- กรณีที่เกิดจากอคติ 6 ครั้ง แจ้งความกับตำรวจในเมืองซีแอตเทิล
- เว็บไซต์รวมกลุ่มคนแนวคิดหัวรุนแรงที่เกลียดชังคนเอเชียได้เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก: Ipsos, STOP AAPI HATE, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งนครนิวยอร์ก, ตำรวจนครบาลนิวยอร์ก คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งลอสแองเจลิส, ตำรวจซีแอตเทิล , ฝ่ายวิจัยบีบีซี
คนเอเชียในสหรัฐฯ ยังแจ้งว่า พวกเขาถูกปฏิเสธการให้บริการ อาทิ ห้องพักโรงแรม หรือการนั่งอูเบอร์ เพียงเพราะเชื้อชาติของพวกเขา
แมตต์ (นามสมมติ) ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ทำงานเป็นแพทย์ห้องฉุกเฉิน ในรัฐคอนเนตทิคัต สังเกตเห็นว่าคนป่วยหลายคนขอเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพียงเพราะพวกเขาบอกว่ามีคนเอเชียไออยู่ใกล้ ๆ
เขายังมีประสบการณ์ตรงจากอคติต่อต้านคนเอเชียด้วย ตอนที่เขาพยายามรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่าติดเชื้อโควิด-19
"ผมสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่ เดินเข้าไปแล้วแนะนำตัว พอพวกเขารู้นามสกุลของผม พวกเขาก็ทำเหมือนว่า 'อย่ามาแตะต้องตัวฉัน ขอหมอคนอื่นได้ไหม อย่าเข้ามาใกล้ตัวฉันนะ' อะไรประมาณนี้"
ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เผชิญกับ "การแบ่งแยกอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเลวร้ายกว่า" แมตต์กล่าว และเขากลัวว่า กรณีเหมือนที่เขาประสบมา จะทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์
"ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียด เราต้องทำงานหนักขึ้น สวมอุปกรณ์ป้องกันที่อึดอัดมากตลอดเวลา และพวกเราหลายคนต้องสุ่มเสี่ยงกับโควิด-19 โดยตรง"
'แค่เหมือนคนจีน ก็โดนทำร้าย'
ไวรัสโคโรนามีที่มาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์พยายามใช้วาทกรรมที่สื่อว่า จีนล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด จนลุกลามมาถึงสหรัฐฯ
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทรัมป์จงใจเรียกไวรัสโคโรนาว่า "ไวรัสจีน" ซึ่งผู้สังเกตการณ์มองว่า เป็นการเหมารวมทั้งประเทศจีน รัฐบาลจีน และคนจีน จนอาจทำให้คนจีนในสหรัฐฯ ถูกมองในทางไม่ดีไปด้วย
ก่อนที่เวลาต่อมา ทรัมป์จะร้องขอให้คุ้มครองคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยกล่าวว่า "การแพร่ระบาดของไวรัสไม่ใช่ความผิดของพวกเขา"
แต่คำพูดนั้น ไม่เพียงพอที่จะยับยั้งไม่ให้ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนถูกกล่าวโทษ และคนเอเชียตะวันออกก็ยังตกเป็นเหยื่อ
ศาสตราจารย์จุง ระบุว่า แม้ 40% ของการแจ้งเหตุจะมาจากคนเชื้อสายจีน แต่กรณีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากประชาชนที่สืบเชื้อสายเอเชียตะวันออก
"มันเป็นตัวอย่างของการเหมารวมเชื้อชาติ 'แค่เหมือนคนจีน ก็โดนทำร้าย' "
เมือเดือน ก.พ. ช่วงก่อนที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ จะแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้า ดาห์ยุง โอห์ อายุ 23 ปี จำได้ว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งจ้องเธอด้วยท่าทีคุกคามบนชานชาลารถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก
"ผู้หญิงคนนั้นเริ่มเข้ามาใกล้ฉัน ชี้นิ้วใส่ และพูดว่า 'ทำไมเธอไม่สวมหน้ากาก เธอควรใส่หน้ากากนะ' " นักศึกษามหาวิทยาลัยจากเกาหลีใต้เล่า
แต่ผู้หญิงคนที่พูดกับเธอ ก็ไม่ได้ใส่หน้ากาก โอห์รู้สึก "ถูกพุ่งเป้าโจมตี เพราะจริง ๆ แล้ว มีคนอีก 10 ถึง 20 คนรอบ ๆ ที่ไม่ได้ใส่หน้ากากเหมือนกัน"
"ฉันโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเหมือนเธอคนนั้นพุ่งเป้ามาที่ฉัน เพราะฉันเป็นคนเอเชีย เป็นหญิงร่างเล็กที่ง่ายต่อการเป็นเป้าโจมตี"
โอห์ยังถือว่าโชคดี ที่สิ่งที่เธอต้องเจอไม่ได้บานปลายเป็นเหตุรุนแรง เพราะเหตุการณ์คล้ายกันที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในนิวยอร์กช่วงเดือนมีนาคม ผู้หญิงเอเชียถูกทำร้ายร่างกายเพียงเพราะไม่ใส่หน้ากาก หลายคนแม้จะใส่หน้ากากแล้วก็ยังถูกรังควาน
ศาสตราจารย์จุงระบุว่า การใส่หน้ากาก เป็นสถานการณ์แบบมีแต่เสียกับเสียสำหรับคนเอเชีย เพราะ "ถ้าพวกเขาใส่หน้ากาก ก็จะถูกสงสัยว่าติดเชื้อ แล้วถ้าไม่ใส่ ก็จะถูกมองว่าติดเชื้อแล้วแต่ยังเพิกเฉย"
"อยู่บน" - Google News
May 30, 2020 at 08:35AM
https://ift.tt/2ArFfsP
โควิด-19: การระบาดของไวรัสโคโรนา เพิ่มอคติและความเกลียดชังต่อคนเอเชียในสหรัฐฯ - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19: การระบาดของไวรัสโคโรนา เพิ่มอคติและความเกลียดชังต่อคนเอเชียในสหรัฐฯ - บีบีซีไทย"
Post a Comment