Search

IVF : นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้สร้าง “เด็กหลอดแก้ว”ที่ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติ - บีบีซีไทย

soho.prelol.com
  • เรเชล อี กรอสส์
  • ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์

Drawing of Miriam Menkin

เธอคือบุคคลแรกในโลกที่นำไข่และอสุจิมนุษย์มาปฏิสนธิภายนอกร่างกายได้สำเร็จ นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งสำคัญที่นำไปสู่การทำ "เด็กหลอดแก้ว" (in vitro fertilization - IVF) เทคโนโลยีช่วยผู้มีบุตรยากที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ทว่าชื่อของเธอกลับไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก

วันอังคารหนึ่งของเดือน ก.พ.ปี 1944 มีเรียม เมนกิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการห้องวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) ชาวอเมริกัน วัย 43 ปี ต้องอดนอนตลอดทั้งคืนเพื่อปลอบโยนลูกสาวอายุ 8 เดือนที่ร้องไห้งอแงเพราะเจ็บเหงือกจากฟันที่กำลังขึ้น

เช้าวันต่อมา มีเรียมไปทำงานที่ห้องแล็บตามปกติอย่างที่เธอทำมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ภารกิจทุกวันพุธของเธอคือการนำไข่มนุษย์มาผสมกับตัวอสุจิในจานแก้ว แล้วภาวนาให้มันรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว

ในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิคในห้องแล็บของ ดร.จอห์น ร็อค ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป้าหมายในการทำงานของมีเรียมคือการผสมไข่ในหลอดแก้ว (ภายนอกร่างกายมนุษย์) ซึ่งเป็นขั้นแรกในแผนการแก้ปัญหาการมีบุตรยากของ ดร.ร็อค

สำเร็จเพราะ "งีบหลับ" ในที่ทำงาน

View through microscope of the human egg fertilised for the first time

ตามปกติ มีเรียมจะปล่อยให้อสุจิและไข่ผสมกันประมาณ 30 นาที

แต่ในวันพุธนั้นกลับไม่ได้เป็นไปตามแผน

หลายปีต่อมา มีเรียมได้เปิดเผยว่า "ดิฉันรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนมากในขณะที่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูตัวอสุจิว่ายไปมารอบ ๆ ไข่ จนลืมดูนาฬิกาไปสนิท กว่าจะรู้ตัวอีกทีเวลาก็ล่วงไปหนึ่งชั่วโมงแล้ว...พูดง่าย ๆ ก็คือ ดิฉันต้องยอมรับว่าความสำเร็จของดิฉัน หลังจากล้มเหลวมา 6 ปีนั้น ไม่ได้เกิดจากความฉลาดหลักแหลม แต่มาจากการงีบหลับระหว่างทำงาน !"

ในวันศุกร์ของสัปดาห์นั้น มีเรียมกลับไปทำงานที่ห้องแล็บ แล้วได้พบภาพอันน่าอัศจรรย์ของเซลล์อสุจิและเซลล์ไข่ที่รวมตัวกัน และตอนนี้กำลังเกิดการแบ่งตัว ทำให้เธอได้เห็นภาพตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้รับการปฏิสนธิขึ้นในหลอดแก้วสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

ความสำเร็จของมีเรียมครั้งนี้ ได้ช่วยปูทางไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงที่มีบุตรยากได้ตั้งครรภ์ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาชีวิตมนุษย์ในระยะแรกเริ่ม

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี 1978 โลกได้ต้อนรับ ลูอิส บราวน์ "เด็กจากหลอดทดลอง" คนแรกที่ปฏิสนธิด้วยวิธีที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า "การทำเด็กหลอดแก้ว"(in vitro fertilization - IVF)

Woman reading Daily Mail newspaper with the headline: 'And her she is... THE LOVELY LOUISE'

หลังจากนั้น มีเรียมได้เป็นผู้เขียนร่วมในเอกสารงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 18 ชิ้น ซึ่งรวมถึงงานชิ้นประวัติศาสตร์ 2 ชิ้นเกี่ยวกับความสำเร็จในครั้งแรกของเธอ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง Science

แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อ มีเรียม เมนกิน กลับไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับ ดร.ร็อค ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยของเธอ

มาร์กาเร็ต มาร์ช นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในสหรัฐฯ และผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง The Fertility Doctor: John Rock And The Reproductive Revolution กล่าวว่า มีเรียมเป็นมากกว่าแค่ผู้ช่วยของ ดร.ร็อค

"ดร.ร็อค เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา แต่มีเรียมเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความคิด ความเคร่งครัด และความเชื่อแบบนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามระเบียบวิธีวิจัย"

Louise Brown

ชีวิตวัยเด็ก

วันหนึ่งในปี 1900 ไข่กับอสุจิได้ผสมเข้าด้วยกัน แล้วเกิดการแบ่งตัวเป็น 2 เซลล์ จากนั้นก็เพิ่มเป็น 4 และ 8 เซลล์ 9 เดือนถัดมา มีเรียม เฟรดแมน ได้ลืมตาดูโลกในกรุงริกา ประเทศลัตเวีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ปี 1901

ตอนอายุประมาณ 2 ขวบ ครอบครัวของเธอได้อพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ โดยที่พ่อได้ทำงานเป็นหมอ

เมื่อโตขึ้น มีเรียมได้เดินตามรอยบิดา โดยสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในปี 1922 ด้วยปริญญาด้านประวัติศาสตร์ และกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ (comparative anatomy)

ในปีต่อมา เธอได้รับปริญญาโทด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้สอนวิชาชีววิทยาและสรีรวิทยาเป็นระยะสั้น ๆ ในนครนิวยอร์ก

ตอนที่มีเรียมตัดสินใจสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนการแพทย์ เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคแรก นั่นคือ การถูกปฏิเสธจากโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ 2 แห่ง น่าจะด้วยเหตุผลที่เธอเป็นผู้หญิง เพราะในสมัยนั้นมีโรงเรียนแพทย์ชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งที่รับผู้หญิงเข้าเรียน

ชีวิตสมรส

ในเวลาต่อมา มีเรียมได้แต่งงานกับอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ชื่อ วาลี เมนกิน ซึ่งตอนนั้นกำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนเธอทำงานเป็นเลขาเพื่อช่วยหาเงินส่งสามีเรียนหนังสือให้จบ

มีเรียมใช้ความใกล้ชิดในแวดวงวิชาการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรต่าง ๆ ด้านวิทยาแบคทีเรีย และคัพภวิทยา หรือ วิทยาเอ็มบริโอ ที่ศึกษาเรื่องตัวอ่อนมนุษย์ รวมทั้งยังช่วยสามีในการทดลองต่าง ๆ ในห้องแล็บด้วย ซึ่งที่นั่นทำให้เธอได้รู้จักกับ ดร.เกรกอรี พินคัส นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งในเวลาต่อมาเขาและ ดร.ร็อค ได้ร่วมกันพัฒนายาคุมกำเนิดชนิดเม็ด

ดร.พินคัส ได้มอบหมายให้มีเรียมช่วยสกัดฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิดจากต่อมใต้สมอง แล้วนำไปฉีดใส่มดลูกของกระต่ายเพศเมียเพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่เพิ่ม

การทดลองการปฏิสนธิเทียม

Dr John Rock

ดร.ร็อค ได้เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งต้องการนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองในสัตว์ของ ดร.พินคัส ไปสู่การวิจัยทางคลินิก

โดยทุกวันอังคาร เวลา 08:00 น. มีเรียมจะวนเวียนอยู่ที่ด้านนอกห้องผ่าตัดที่ชั้นใต้ดินของโรงพยาบาลเพื่อการกุศลสำหรับสตรีรายได้ต่ำแห่งหนึ่งในเมืองบรุกไลน์ รัฐแมสซาชูเซตส์

หากเธอโชคดี ดร.ร็อค จะส่งรังไข่ชิ้นเล็ก ๆ ที่เขานำออกจากคนไข้ให้แก่เธอ จากนั้นมีเรียมจะผ่าถุงไข่ ซึ่งเธอเล่าว่ามีขนาดประมาณเม็ดถั่วเฮเซลออกมาเพื่อหาไข่อันล้ำค่าที่อยู่ข้างใน

สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า มีเรียมจะทำงานเป็นกิจวัตร นั่นคือ ออกหาไข่ในวันอังคาร, ผสมไข่เข้ากับอสุจิในวันพุธ, ภาวนาให้ไข่และอสุจิรวมตัวกันในวันพฤหัสบดี และส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจผลในวันศุกร์

การทดลอง 6 ปี

ทุกวันศุกร์ เวลาที่มีเรียมตรวจดูตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน สิ่งที่เธอเห็นมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ ไข่ที่ไม่ได้รับการผสม และตัวอสุจิที่ตายแล้ว เธอทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ 138 ครั้ง ในช่วงเวลากว่า 6 ปี

จนกระทั่งวันศุกร์หนึ่งในเดือน ก.พ.ปี 1944 ที่เธอเปิดประตูตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนออกมา แล้วต้องร้องเรียก ดร.ร็อค

ในขณะนั้นห้องแล็บเต็มไปด้วยผู้มาเยี่ยมชม "ทุกคนวิ่งกรูกันเข้ามาดูมนุษย์อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา"

ในเวลาต่อมา มีเรียมเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า เธอ "ไม่กล้าปล่อยสิ่งล้ำค่านั้นให้คลาดสายตา"

เธอพยายามรักษาไข่ที่ปฏิสนธิแล้วด้วยการคอยหยอดของเหลวใส่จานเพาะทีละหยดไปตลอดทั้งคืน ทว่าในที่สุดเธอก็สูญเสียมันไป แต่ก็ประสบความสำเร็จในการผสมไข่กับอสุจิได้ซ้ำอีก 3 ครั้ง

แล้วจู่ ๆ สามีของมีเรียมก็ตกงาน ส่งผลให้เธอต้องย้ายตามเขาไปทำงานที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งคนที่นั้นมองว่าการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นงานวิจัยที่อื้อฉาว แม้แต่แพทย์คนหนึ่งยังเปรียบว่ามันเป็น "การข่มขืนในหลอดแก้ว"

การขาดนักวิทยาศาสตร์ทักษะดีอย่างมีเรียมทำให้การวิจัย IVF ในเมืองบอสตันต้องหยุดชะงักลง เพราะไม่มีผู้ช่วยของ ดร.ร็อค คนใดที่ประสบความสำเร็จในการผสมไข่กับอสุจิในหลอดแก้วได้สำเร็จอีกเลย

The Free Hospital For Women, Brookline, Massachusetts

ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง

แม้จะไม่สามารถไปที่ห้องแล็บได้ แต่มีเรียมก็ยังคงร่วมงานกับ ดร.ร็อค แบบระยะไกล

ในปี 1948 ทั้งคู่ร่วมกันตีพิมพ์รายงานเรื่องความสำเร็จในการทำ IVF ครั้งแรกในวารสาร Science โดยที่ มีเรียม มีชื่อเป็นนักวิจัยหลัก

แต่จากนั้นไม่นาน นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้นี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการสานต่องานวิจัยเรื่องนี้จากปัญหาครอบครัว

มีเรียมมีความคิดจะหย่าขาดจากสามีมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งจากการที่เขาควบคุมเรื่องการเงิน และการข่มขู่จะใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูกทั้งสองคือ ลูซี และกาเบรียล

แต่เมื่อพฤติกรรมเขาเลวร้ายลง ในที่สุดมีเรียมก็ตัดสินใจเดินออกมาจากชีวิตคู่ และพบว่าตัวเองต้องดิ้นรนอย่างหนักในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องลูก ๆ

กลับไปบอสตัน

ช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 มีเรียมย้ายกลับไปเมืองบอสตัน เพื่อเอาลูซี ซึ่งป่วยเป็นโรคลมชัก เข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ

ส่วนตัวเธอเองได้กลับไปร่วมงานกับ ดร.ร็อค ทว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนับแต่เธอลาออกไป

ในตอนนี้ ห้องแล็บของ ดร.ร็อค ได้เปลี่ยนภารกิจหลักจากการทำเด็กมาเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเกิด โดยการพัฒนาการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้สะดวก จนนำไปสู่การอนุมัติการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1960

Miriam Menkin with her daughter, Lucy

ศักยภาพที่ไม่ถูกค้นพบ

ในขณะที่ ดร.ร็อค กำลังเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดของเขา มีเรียมได้ทำงานอยู่เบื้องหลังในฐานะ "ผู้ช่วยงานเขียนวิจัย"

เธอค้นคว้าหาหัวข้อวิจัยต่าง ๆ ตั้งแต่การแช่แข็งอสุจิของญี่ปุ่นไปจนถึงการปฏิสนธิม้า เธอยังร่วมเขียนงานวิจัยที่ศึกษาว่าสายกางเกงชั้นในที่ทำความร้อนได้จะทำให้ผู้ชายเป็นหมันได้ชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดูห่างไกลจากเป้าหมายเริ่มแรกของเธอ แต่ก็เป็นความพยายามขยายขอบเขตความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศึกษาปริศนาเรื่องการเจริญพันธุ์ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดในยุคนั้น

มันเป็นการยากที่จะทราบได้ว่ามีเรียมจะประสบความสำเร็จเรื่องอะไรบ้าง หากชีวิตของเธอไม่ได้เป็นไปในรูปแบบนี้ หากเธอไม่ได้แต่งงานกับ วาลี เมนกิน หรือหากเธอได้รับปริญญาเอก

แต่สิ่งที่สามารถบอกได้ก็คือสภาพแวดล้อมและยุคสมัยที่เธออยู่นั้น ทำให้เธอต้องอยู่ในกรอบบางอย่าง แม้แต่ความสำเร็จสูงสุดด้านวิทยาศาสตร์ของเธอ เรื่องของมีเรียมยังถูกนำเสนอในลักษณะของแม่ลูกอ่อนจิตฟุ้งซ่านที่สร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญโดยบังเอิญ

แต่หากได้ดูการจดบันทึกอย่างละเอียดถี่ถ้วนของเธอ ความเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัย และเอกสารอ้างอิงในงานวิจัยที่มีการสืบค้นมาอย่างดีของเธอ ก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดมาด้วยความสามารถของตัวเธอเองโดยแท้

มาร์กาเร็ต มาร์ช เคยกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้นี้เอาไว้ว่า "เธอไม่ใช่แค่ผู้ช่วยของใคร"

Let's block ads! (Why?)



"มันใช้งานได้" - Google News
July 25, 2020 at 03:27PM
https://ift.tt/3g32327

IVF : นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้สร้าง “เด็กหลอดแก้ว”ที่ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติ - บีบีซีไทย
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "IVF : นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้สร้าง “เด็กหลอดแก้ว”ที่ปฏิวัติการเจริญพันธุ์ของมนุษยชาติ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.