เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ คงจะเคยได้ยินคำว่า ICO ตอนนั้นบูมมากๆ จนทำให้คนเริ่มสนใจว่ามันคืออะไร ต่างจาก IPO อย่างไร ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่จะมาพลิกวงการการระดมทุนกันเลยทีเดียว
ด้วยเพราะทำได้ง่ายกว่าการเสนอขาย IPO มีเพียงไอเดีย ก็ทำเหรียญโทเคนออกมาเสนอขายนักลงทุนได้แล้ว โดยอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
แต่ปัจจุบันนี้ ตลาด ICO ได้วายไปเสียแล้วทั้งในต่างประเทศและในไทย โปรเจกต์ส่วนใหญ่ล้มเหลวไม่เป็น
ท่า ไอเดียที่เสนอมาไม่สามารถที่จะต่อยอดเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตามแผน นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์หลอกลวง
อีกมากมาย หน่วยงานภาครัฐก็ออกมาเตือน ซึ่งในที่สุดแล้วกระแสของ ICO ก็ค่อยๆ เงียบไป
มาวันนี้ มีผุดเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คำ "DeFi" อันเกิดขึ้นจากพื้นฐานของบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีเช่นกันและเลดี้ฯ คิดว่า อาจจะต้องทำความรู้จักไว้สักหน่อย จะได้ไม่ตกเทรนด์ ส่วนอนาคตจะรุ่งไม่รุ่ง จะเป็นเหมือน ICO มั๊ย? อันนั้นไม่รู้ เพราะมันยังเพิ่งตั้งไข่
เมื่อเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญ เลดี้ฯ เคยมีโอกาสได้ฟัง (ตอนโควิดระบาดหนัก) เรื่อง DeFi จาก LIVE SCBTV แต่ก็ไม่คิดว่าผ่านไปแค่ 3 เดือน กระแส DeFi จะบูมได้มากขนาดนี้
วันนี้จึงคิดว่าเป็นจังหวะเวลาที่ดี ที่จะย้อนกลับมาสรุปเรื่องราวของ DeFi บทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลจาก LIVE SCBTV หัวข้อ Decentralized Finance บริการการเงินที่จะเปลี่ยนโลกที่คุณรู้จัก โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่อง DeFi คือ คุณกษิดิ์เดช พูลสุขสมบัติ Technical Lead จาก SCB10X
#มาเริ่มกันเลยค่ะ
คุณกษิดิ์เดช ได้ปูพื้นก่อนจะไปถึง Decentralized Finance (DeFi) โดยไล่จากกำเนิดของคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งถือว่าเป็น "รากฐาน" ของ DeFi จุดเริ่มต้นคือปี 2552 คริปโทเคอร์เรนซีอย่าง "บิตคอยน์" ได้กำเนิดขึ้นก่อนที่ต่อมาจะมีอีกหลายสกุล เช่น อีเธอเรียม, บิตคอยน์แคช,ไลต์คอยน์ เป็นต้น พวกนี้นี่คือคลื่นลูกแรกซึ่ง "คริปโทเคอร์ เรนซี" ก็จะมีเพื่อใช้ทำธุรกรรมแค่โอนไปมาให้กัน และก็มีการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ในการระดมทุนแบบ ICO
ต่อมาคลื่นลูกที่ 2 ก็เกิดพัฒนาการเป็น "ระบบการให้บริการทางการเงิน" ด้วยคริปโทฯ ขึ้นมา โดยจะทำงาน
บนระบบบล็อกเชน (Blockchain) ด้วยคำสั่งอัตโนมัติของ Smart Contract ซึ่งเป็นชุดของโค้ดคอมพิวเตอร์
Smart Contract อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ สมมุติเวลาเราซื้อของออนไลน์เราไม่รู้จักคนขาย ทำให้อาจเสี่ยงโอนเงินไปแล้วไม่ได้ของ จึงมีการเขียนเงื่อนไขด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ว่า เมื่อโอนเงินไปแล้วเงินจะพักไว้ก่อน (ยังไม่ถึงมือคนขาย) จนกว่าคนขายจะส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อ เมื่อนั้น Smart Contract ถึงจะทำการโอนเงินให้ผู้ขาย ซึ่งโค้ดจะทำงานตามคำสั่งที่เขียนไว้
และด้วยความฉลาดของ Smart Contract มันจึงทำให้เราสามารถทำธุรกรรมการเงินต่างๆ เช่น ฝากเงิน กู้เงิน ลงทุน ฯลฯ เหมือนกับที่ทำกับระบบธนาคารได้ ด้วยวิธีการเขียนเงื่อนไขต่างๆ ลงไปเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ ต่างกันแค่ระบบใหม่นี้ไม่ต้องผ่านธนาคาร (ซึ่งเป็นตัวกลาง) และใช้คริปโทฯ เราจึงเรียกระบบการเงินแบบนี้ว่า DeFi หรือบริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง ดังนั้น คนที่มาใช้บริการ DeFi คือคนที่เชื่อใจโค้ดคอมพิวเตอร์หรือ Smart Contract ว่ามันทำงานถูกต้อง ไม่มีการแก้ไขใดๆ
เลดี้ฯ ขอสรุปเพื่อจำแบบง่ายๆ "DeFi" คือ บริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง โดยใช้คริปโทเคอร์เรนซี และรันระบบด้วย Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
#ประโยชน์ของการใช้ DeFi
บริการ DeFi คือ การเชื่อใจโค้ดและโค้ดคอมพิวเตอร์เป็นแบบเปิดเราสามารถเข้าไปตรวจสอบโค้ดคอมพิวเตอร์ที่อยู่บนระบบบล็อกเชน จึงไม่มีการแยกว่าบริการ DeFi นี้เป็นของประเทศไหน เพราะคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการได้ นับตั้งแต่วันแรกที่บริการนั้นๆ เกิดขึ้น โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร
ความพิเศษอีกอย่างคือ แต่ละ DeFi แต่ละบริการยังสามารถทำงานร่วมกันได้ เชื่อมต่อกันได้เหมือนเลโก้ (Money Lego) ซึ่งในระบบการเงินในโลกปัจจุบันทำไม่ได้
#DeFi ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
1. การปล่อยกู้ (Lending)
เช่น Compound จะมีคอนเซปต์การทำงานคล้ายกับธนาคารคือรับฝากเงินเข้ามาแล้วนำไปปล่อยกู้ จากนั้นนำดอกเบี้ยปล่อยกู้มาจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ฝากเงิน (คล้ายกับย่อแบงก์มาอยู่ใน Smart Contract) แต่ Compound จ่ายดอกเบี้ยเป็นวินาที ดอกเบี้ยไม่นิ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งกลไกนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ Smart Contract ของ Compound ดังนั้น แทนที่จะถือคริปโทฯ ไว้เฉยๆ ถ้าเราไม่ได้เอาไปเทรด เราก็เอาคริปโทฯ ไปฝากไว้ที่ Compound เพื่อรอรับดอกเบี้ย ให้เงินคริปโทฯ มันทำงาน
ถามว่ามีคนใช้บริการนี้หรือไม่ อัปเดตตัวเลข ณ วันที่ 31/07/63 Compound มีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกล็อคไว้อยู่ที่ 761.7 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 660% ในระยะเวลาแค่ 2 เดือน
2. Stablecoin
เช่น MakerDAO เป็นแพลตฟอร์มสร้าง Stablecoin คอนเซปต์การทำงานคือ เรานำ ETH (ซึ่งปกติราคาจะผันผวน) เอามาเป็นหลักประกันไว้ที่ MakerDAO เพื่อที่จะได้รับ DAI (ซึ่งเป็น Stablecoin หรือเหรียญที่ราคาค่อนข้างนิ่ง) ในอัตรา 1.5 เท่า เช่น อยากได้ DAI 100 ล้านดอลลาร์ต้องนำ ETH ไปเป็นหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์ (เมื่อเราได้ DAI มาก็อาจจะนำไปฝากไว้ที่ Compound เพื่อกินดอกเบี้ย)
3.Decentralized Exchange
หรือตลาดแลกเปลี่ยนที่ไม่มีตัวกลาง เช่น Uniswap มีคอนเซปต์ คือ แลกเปลี่ยนได้ทันที โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร ต่างจาก Exchange แบบปกติทั่วไปที่ต้องผ่านการทำ KYC แต่รูปแบบนี้คือเป็นส่วนตัว รู้แค่ว่าแอดเดรสไหนแลกหรียญแต่ไม่รู้ว่าใครแลก
เลดี้ฯ ขอเสริมตรงนี้นิดหนึ่งว่า ปัจจุบันในบ้านเรา มี Decentralized Exchange เกิดขึ้นแล้วชื่อแบรนด์ KULAP ซึ่งได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง โดยสำนักงาน ก.ล.ต. (ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมระบบเพื่อเปิดให้บริการ คาดว่าจะเปิดบริการได้นปีนี้)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : KULAP เปิดตัว Decentralized Licensed Exchange
4.บริการล็อตเตอรี่คริปโทฯ
เช่น PoolTogether คอนเซปต์การทำงานคือ แต่ละคนนำเหรียญ DAI ไปฝากเพื่อแลกกับล็อตเตอรี่ ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งรวมกันสมมุติ 1 ล้านดอลลาร์ จากนั้น PoolTogether จะนำ 1 ล้านดอลลาร์ไปฝากที่ Compound จากนั้นก็นำดอกเบี้ยที่ได้จาก Compound (ซึ่งจ่ายทุกวินาที) มาให้กับผู้ที่โชคดี 1 รางวัลและได้ไปหมดทั้งก้อนเลย ซึ่งผู้ที่โชคดีจะสุ่มโดย Smart Contract
#อนาคต DeFi
คุณกษิดิ์เดช เชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ DeFi เติบโต เพราะเขาจะมองหารูปแบบการลงทุน
ในโลกอินเทอร์เนต อย่างการฝากเงินคริปโทฯ ซึ่งได้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากธนาคาร
นโยบายการเงิน ที่จะขับเคลื่อนให้คริปโทเคอร์เรนซีเติบโต เมื่อมันเติบโตผู้คนจะเริ่มมองต่อแล้วว่าจะนำคริปโทฯ ไปทำให้มันเกิดประโยชน์อย่างไร ทำให้เข้ามาสู่โลกของ DeFi และส่วนตัวเขาเชื่อว่า DeFi มาแน่ๆ
#ความเสี่ยงของการใช้บริการ DeFi
1. บริการ DeFi ตัวใหม่ๆ ต้องระวัง ถ้าอ่านโค้ดได้จะดีมาก ต้องเข้าใจ Smart Contract ตัวนั้นๆ ก่อน แต่ถ้าอ่านโค้ดไม่ได้ก่อนจะเอาคริปโทฯ ไปทำให้มันเกิดประโยชน์ อาจจะรอสักพักให้มีคนเข้าไปใช้เยอะๆ จนมั่นใจก่อน
2. ลงทุนในระดับความเสี่ยงที่รับได้ อย่าลงหมดหน้าตัก และสนุกไปกับมันเพราะเราอยู่ในโลกใหม่ของคริปโท เคอร์เรนซีแล้ว
*ท้ายนี้ เลดี้ฯ ขอสรุปภาพรวมของตลาด DeFi ถามว่าเติบโตมากแค่ไหนในวันนี้ หากจะดูทั้งระบบนิเวศของ DeFi อ้างอิงจาก www.defipulse.com จะพบว่ามูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกล็อคไว้ทั้งหมดอยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (31/07/63) เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในต้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น1,230% ในเวลาไม่ถึง 2 ปี
*และหากสังเกตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 63 จะพบว่าอัตราการเติบโตของ DeFi พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง จาก
ราวๆ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นมาที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเวลาเพียง 2 เดือนหรือเพิ่มขึ้น 344%
*น่าสนใจว่าอนาคตของ DeFi จะเป็นอย่างไร จะเข้ามาเพิ่มทางเลือกให้กับผู้คนในระดับทั่วไปได้ช้าเร็วขนาดไหน เพราะปัจจุบัน คนที่เข้าถึงได้ยังคงอยู่ในวงจำกัด ของกลุ่มคนที่สนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันยังเป็นเรื่องที่ใหม่และมีความซับซ้อน
*ดูๆ ไปแล้วมันก็คล้ายๆ กับเหล้าเก่าในขวดใหม่นะ เพียงแค่ของที่จับต้องได้มันแปลงร่างเป็นดิจิทัลอาศัยความเก่งกาจของเทคโนโลยีบนเทคโนโลยี ส่วนตัวก็เชื่อว่าเทรนด์ของโลกมันไปทางดิจิทัลอยู่แล้วล่ะ รวมถึงบริการทางการเงินต่างๆ ด้วย แต่ของใหม่ที่อายุไม่กี่ปีก็ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง เลดี้ฯ เป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่จะวิ่งเข้าใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นแน่ๆ
"แต่ก็พร้อมจะเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร...เพราะโลกมันวิ่งเร็วจริงๆ...อย่างน้อยก็ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองแหละน่ะ"
-----------------------------------------------------------
บทความ By เลดี้แซป1990 -LadyZap1990
เลดี้ฯ มีห้องอ่านข่าว/บทความที่น่าสนใจ Telegram และ LINE Open Chat
แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปค้าาา ^_^
-----------------------------------------------------------
0 Response to "Decentralized Finance (DeFi) คืออะไร? - efinanceThai"
Post a Comment