ย้อนเวลากลับไปสัก 10 ปีก่อน หากถามว่าทีมฟุตบอลใดที่คนไทยเล่นแล้วสนุกสนาน ในเกม Winning Eleven คำตอบคงจะต้องมี “ทีมชาติไทย” อยู่ในนั้น ภาพของขุนพลช้างศึกในยูนิฟอร์มสีเหลืองที่โลดแล่นอยู่บนพื้นหญ้าจำลองสีเขียว ยังคงอยู่ในความทรงจำของเรา
ด้วยความรักในฟุตบอลไทย มีเกมเมอร์มากมายที่ลงมือปรับแต่ง และสร้างแพตช์ของตัวเองขึ้นมา แต่ไม่มีแพตช์ไหนจะได้รับความนิยมไปกว่า แพตช์ไทยลีก จาก เว็บไซต์ WINNING.IN.TH ที่กลายเป็นต้นแบบ กระจายเกม WINNING ฉบับไทยไปทั่วประเทศ
เวลาล่วงเลยผ่านจนถึงวันที่ ทีมชาติไทยและสโมสรไทย ถูกบรรจุในเกม Winning Eleven (หรือ PES) อย่างถูกลิขสิทธิ์ เรื่องราวของผู้สร้างแพตช์ไทยลีกในตำนาน หายไปจากความทรงจำ แต่ใครจะรู้ว่า เขายังคงอยู่ในวงการ และลงมือผลักดันเพื่อให้ความฝันที่เคยสร้างคงอยู่ต่อไป
Main Stand เดินทางมาพูดคุยกับ เอกพล พลนาวี หัวหน้าฝ่ายจัดการแข่งขันและกิจกรรม สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้สร้างแพตช์ไทยลีกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กับเป้าหมายในวันที่ฟุตบอลไทย ยังต้องเดินต่อไปในเกมฟุตบอล
มือสร้าง Fake Team
ความหลงใหลในกีฬาฟุตบอลของ เอกพล พลนาวี ถูกกดปุ่มสตาร์ทขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์
ผ่านการซึบซับจาก คุณพ่อ น.อ. ปฏิพล พลนาวี อดีตนักฟุตบอลสังกัดทหารอากาศ และการ์ตูนยอดนิยมของเด็กชายชาวไทยยุคนั้นอย่าง กัปตันสึบาสะ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ เอกพล อยากเป็นนักฟุตบอลอย่างมาก
แม้เขาจะพบว่า ตัวเองไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านฟุตบอล เหมือนฮีโร่ในการ์ตูน เอกพลนำเอาความรักในกีฬาชนิดนี้ ลงสู่สนามหญ้าจำลองบนแผ่นเกมส์
“ผมชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเกมกีฬา เกมฟุตบอล ผมเล่นเกมฟุตบอลแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น FM (เกม Football Manager), FIFA หรือ Winning ผมเล่นมาแล้วทุกอย่าง” เอกพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นการสร้างแพตช์เกมของตัวเอง
“เกมฟุตบอลสมัยก่อน มีทีมชาติในเอเชียแค่สองทีม คือ ทีมชาติเกาหลีใต้ และ ทีมชาติญี่ปุ่น ผมอยากให้มีทีมชาติไทยบ้าง เล่นไปเล่นมา ผมจึงเริ่มคิดปรับตัวผู้เล่นในเกมเป็นทีมชาติไทย”
“Winning จะมีทีม โหมดที่เป็น Fake Team (ทีมไม่ได้ลิขสิทธิ์ชื่อสโมสรจริง) เราสามารถเข้าไปแก้ไขชื่อ เปลี่ยนเสื้อผ้านักเตะได้ ผมก็เข้าไปเปลี่ยนชื่อทีมพวกนี้เป็นทีมชาติไทย ใส่ชื่อนักเตะทีมชาติไทยเข้าไป เอาธงชาติไทยเข้าไปติดอยู่ในเสื้อ ผมเริ่มต้นจากตรงนั้น”
การปรับสร้างทีมชาติไทยในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เอกพล หันหน้าเข้าสู่วงการปรับแต่งเกมฟุตบอลแบบเต็มตัว เขาเริ่มทำแพตช์เองเป็นครั้งแรกในเกม Championship Manager 2003/2004 (Football Manager ในปัจจุบัน) โดยใช้ชื่อแพตช์ว่า CM Coco Thai
แพตช์เกมฟุตบอลแรกของเอกพล ไม่ได้หวือหวาอะไรมากมาย เพียงแค่เป็นการปรับเพิ่มภาษาไทยให้เข้าไปอยู่ในเมนูเกม แต่แพตช์เสริมสุดเบสิคนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่เปิดประตูให้เอกพล ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตแพตช์ไทยลีกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
“ผมเข้าไปเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร Future Gamer คอยเขียนแนะนำวิธีการเล่นเกม FM หรือ Winning”
“ช่วงที่เขียนหนังสือเกม ผมได้รู้ว่าตลาดเกมส์ตรงนี้ มีหลายคนที่เล่นเกมฟุตบอลเหมือนเรา ผมเลยมาคิดว่า ในเมื่อผมปรับแต่งเกมของตัวเองอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองอัพโหลดให้คนอื่นมาเล่นเกมเดียวกับเราบ้าง”
“ผมจึงรวมตัวกับน้องที่รู้จักในอินเตอร์เน็ตก่อตั้งเว็บไซต์ WINNING.IN.TH ถือเป็นเว็บเกม Winning รุ่นแรกของไทย”
แพตช์ไทยลีกอันดับหนึ่ง
เว็บไซต์ WINNING.IN.TH คือเว็บไซต์สังคมออนไลน์ในรูปแบบเว็บบอร์ด ภายในเว็บมีการอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับเกม Winning Eleven หรือ PES (Pro Evolution Soccer) และเป็นที่พบปะของแฟนเกมฟุตบอล ที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในเว็บไซต์แห่งนี้
เอกพล รับบทเป็นหัวเรือใหญ่ของเว็บไซต์ WINNING.IN.TH ในฐานะ Webmaster เขาเริ่มนำแพตช์ Winning ที่เคยปรับแต่งไว้เล่นคนเดียว ลงแจกจ่ายให้กับสมาชิกภายในเว็บไซต์ โดยเขาไม่รู้เลยว่า แพตช์เกมที่สร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งปันภายในเว็บไซต์ จะโด่งดังจนถูกนำไปก็อปขายทั่วประเทศไทย
“ช่วงแรกผมเริ่มทำแค่ทีมชาติไทยอย่างเดียว น่าจะเป็นช่วงปี 2005/06 จนกระทั่งเกม PES 2007 ผมเริ่มสร้างแพตช์ไทยลีก มีการแก้ไขเสื้อ ใส่หน้าตานักเตะลงไป และใส่สโมสรในไทยลงไปแทน”
“ส่วนสำคัญที่ทำให้เกมสมบูรณ์คือสมาชิกในเว็บบอร์ด พวกเราช่วยแชร์ข้อมูลร่วมกัน เช่น ป้ายเชียร์ทีมชาติไทย หรือ เสียงร้องเพลงเชียร์ของกลุ่มเชียร์ไทย ผมนำสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเกม เพราะผมรู้แล้วว่า ตอนนั้นคนเริ่มสนใจไทยลีก ผมจึงนำแพตช์ที่สร้างไปโพสต์ลงในเว็บไทย์แลนด์สู้สู้ ในเว็บพันทิป จนได้ฐานแฟนบอลไทยขึ้นมา”
“ผมเปิดฟรีให้คนดาวน์โหลด เพื่อให้มันกระจายตัวมากที่สุด วันหนึ่ง ผมไปเดินเล่นแถวเซียร์ รังสิต มันมีร้านเกมที่ขายแพตช์เถื่อนผมเดินเข้าไปดูรู้สึกทำไมแพตช์นี้คุ้นจัง อ้าว มันของเรานี่หน่า (หัวเราะ)”
“เขาก็อปแพตช์เรามาขาย แต่ผมทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะสมัยก่อน การปรับแต่งเกมแบบนี้มันคือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเหมือนกัน ผมคงจะไปฟ้องเขาไม่ได้ ในแง่ดีคือ การที่แพตช์เกมของเราถูกทำมาขายเป็นแผ่น มันช่วยพาคนเข้ามาหาเว็บไซต์มากขึ้น ต้องขอขอบคุณร้านค้าต่างๆที่เอาเกมผมไปขาย (หัวเราะ) จนทำให้มีคนรู้จักเว็บไซต์ผมเยอะมาก”
เหตุผลที่แพตช์ไทยลีกของ เอกพล ได้รับความนิยมจนร้านขายเกมเถื่อนต้องก็อปปี้มาขาย มาจากจุดเด่นสองยากที่แตกต่างจากแพตช์ winning อื่นในช่วงเวลาดังกล่าว หนึ่ง คือ ความสมดุลของเกม และความสมจริงของหน้าตานักเตะในลีกไทย ที่เอกพลลงทุนไปเก็บภาพถึงขอบสนามด้วยตัวเอง
“ตอนนั้นจุดขายของแพตช์ผมคือ การเป็นแพตช์ที่ค่าพลังสมดุลมากที่สุด จากที่ผมเคยเล่น เคยทำแพตช์เกม FM มาก่อน ทำให้ผมรู้ว่าเราสามารถแปลงค่าพลังของนักเตะไทยในเกม FM มาแปลงเป็นค่าพลังในเกม Winning ได้ ทางเว็บต่างประเทศทำตรงนี้กันมานานแล้ว และมีโปรแกรมให้ใช้งานอยู่”
“ผมแปลงค่าพลังจากตรงนั้น แล้วนำมันมาเป็นจุดขาย เพราะเมื่อก่อน มีคนทำแพตช์เกม Winning เยอะ แล้วค่าพลังนักเตะไทยของแพตช์อื่นจะเก่งมาก แต่แพตช์ผมไม่ใช่แบบนั้น ผมให้ความสำคัญในเรื่องสมดุลของเกมด้วย”
“จุดขายอีกอย่างคือ การสร้างหน้าตานักเตะที่เหมือนจริงในเกม ผมพยายามสร้างสิ่งพวกนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เพื่อให้คนอยากเล่น เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟุตบอลไทย ผมคิดว่าหากเรามีเกมไทยลีกที่สมจริง มันจะช่วยให้คนสนใจไทยลีกได้”
“การสร้างกราฟฟิคตรงนี้ ผมต้องเข้าไปคลุกคลีอยู่กับไทยลีก เพราะการจะทำหน้านักเตะให้เหมือนจริงที่สุด ผมต้องมีภาพหน้านักเตะที่มีคุณภาพสูง แล้วนักเตะในไทยลีกหลายคน ไม่สามารถหาภาพได้จากอินเตอร์เน็ต ผมต้องเข้าไปถ่ายภาพเขาเองที่สนามฟุตบอล”
“ผมตระเวนไปสนามฟุตบอลทั่วกรุงเทพ นั่งดูโปรแกรมว่าทีมจากต่างจังหวัดจะเข้ามาแข่งในเมืองตอนไหน ผมก็จัดตารางหมุนเวียนไป จนครบ 16 ทีมในไทยลีก”
“ผมใส่หน้าพี่โกสินทร์ (สินทวีชัย หทัยรัตนกุล) พี่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) เข้าไป อย่างรูปที่ผมเอาให้ดู (โชว์รูปในโทรศัพท์มือถือ) มันเป็นความสมจริงที่ผมอยากสร้างให้เกิดขึ้น คนเล่นเขาจะภูมิใจที่ได้รู้สึกว่า ทีมชาติไทยมีหน้านักเตะที่เหมือนจริงอยู่ในเกม”
ภารกิจต่อไป
หลังจากชีวิตเข้าสู่วัยทำงาน เอกพล พลนาวี ไม่ได้กลับเข้าไปใกล้ชิดวงการเกมฟุตบอลอยู่พักใหญ่ ประกอบเวลานั้น มีนักปรับแต่งหน้าหน้าใหม่ ทำให้เขาเลือกเฟดตัวเองออกมา เพื่่อมุ่งมั่นทำงานที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
จนกระทั่งเขาได้ทราบข่าวว่า หน่วยงานต้นสังกัดของเขา มีโครงการที่จะพูดคุยกับโคนามิ ผู้ผลิตเกม PES เพื่อนำลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องของฟุตบอลไทย ทั้งในทีมชาติ และสโมสร ไปอยู่ในเกมฟุตบอลที่มีคนรู้จักมากที่สุดเกมหนึ่งของโลก แน่นอนว่า เขาไม่ลังเลใจที่ปฏิเสธโอกาสนี้
“พี่โจ (พาทิศ ศุภะพงษ์) เป็นคนเริ่มต้นความคิดนี้ เขาอยากเห็นทีมชาติไทย และไทยลีก ไปอยู่ในเกม PES เราจึงเริ่มวางแผนจะเข้าไปคุยกับโคนามิเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริง”
“ผมรู้จักกับพี่โจมาตั้งแต่ทำเว็บไซต์ เราทั้งคู่เป็นคอเกมฟุตบอลเหมือนกัน พี่โจเองติดตามแพตช์ของผมมาตลอด เขาก็บอกผมว่า พี่ไปคุยกับโคนามิมา เพราะพี่อยากเอาทีมชาติไทยเข้าไปอยู่ในเกมแบบถูกลิขสิทธิ์ ผมแค่ตอบไปว่า เต็มที่เลยครับ ถ้าอยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่ม เดี๋ยวช่วยเสริมให้”
กระทั่งในปี 2017 เอกพล เป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลัง ผู้ร่วมผลักดันให้ ทีมชาติไทย เข้าไปอยู่ในเกม PES ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ หลังจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ โคนามิ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ภาระงานของ เอกพล จึงเปลี่ยนไป เขาถูกปรับมาทำงานด้าน ประสานข้อมูลต่างๆที่ผู้สร้างเกมต้องการ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนทีม, รายชื่อสโมสร, รายชื่อผู้เล่น หรือ ใบหน้านักเตะ ตามที่ผู้ผลิตจากญี่ปุ่นต้องการ
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปตั้งแต่วันวาน ไม่ว่าหน้าที่การงานจะเป็นอย่างไร เอกพล ยังเป็นเกมเมอร์สายกีฬา ที่ขยับนิ้วบังคับนักเตะจำลองบนจอ และติดตามทุกความเคลื่อนไหวของฟุตบอลไทย ตั้งแต่ทีมชาติไทยไม่ถูกลิขสิทธิ์ จนถึงวันที่ภาพแห่งความฝันเกิดขึ้นจริง
“ก่อนหน้านี้ ผมเคยเปลี่ยนไปเล่น FIFA เพราะเกมมันกำลังมาแรง อีกอย่าง เจ (ชนาธิป สรงกระสินธิ์) ย้ายไปอยู่ทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร ทำให้มีนักเตะไทยที่ถูกลิขสิทธิ์ในเกมขึ้นมา ผมก็เล่นแต่ FIFA ไล่ตามซื้อการ์ดเจทุกใบ”
“แต่วันนี้ ผมเลิกเล่น FIFA เพราะว่า นักเตะไทยทั้งหมด ไม่ใช่แค่เจ ได้เข้าไปโลดแล่นในเกมอย่างถูกลิขสิทธิ์ ทันทีที่ผมแชร์ข่าวไปว่า ฟุตบอลไทยได้เข้าไปอยู่ในเกม PES แฟนเกมส่วนใหญ่เขาพูดตรงกันหมดนะว่า มันคือสิ่งที่รอกันมานานจริงๆ”
การที่ฟุตบอลไทยเข้าไปโลดแล่นในเกมระดับโลกอย่าง Pro Evolution Soccer ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ ถือเป็นความสำเร็จมหาศาลของวงการลูกหนังบ้านเรา แต่สำหรับเอกพล มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
เพราะในทางกลับกัน ฟุตบอลไทยได้เข้าไปอยู่ในสายตาของคนทั่วโลก ในฐานะหนึ่งในลีกถูกลิขสิทธิ์ของเกม PES หมายความว่าฟุตบอลไทยจำเป็นต้องยกมาตรฐานให้ทัดเทียมกับลีกนานาชาติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าฟุตบอลจากประเทศไทย มีดีพอจะยืนหยัดในเกมนี้ต่อไป
“ไทยลีกเข้าไปใน PES ช่วงต้นปี 2019 มันคือการเสริมเข้าไปในภาค 2019 ช่วงท้าย ตอนนั้นผมเข้าไปเช็คในเว็บบอร์ดต่างประเทศ เสียงตอบรับไม่ค่อยดีหรอก คนบ่นเยอะว่า เอามาทำไมไทยลีก ทำไมไม่เอาลีกบ้านเขาที่ดังกว่า เป็นที่รู้จักกว่า”
“เรากล้าก้าวไปตรงนี้เพราะว่า เกมช่วยทำให้ฟุตบอลไทยเป็นที่รู้จักได้จริง ยกตัวอย่างทีมชาติกือราเซา ที่มาเตะคิงส์คัพ 2019 ผมได้เห็นข่าวว่าพวกเขารู้จักบ้านเรา ในฐานะทีมฟุตบอลที่มีอยู่ในเกม PES มันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราต้องการมาโดยตลอด”
เรื่องนอกประเทศและในประเทศต้องเติบโตไปด้วยกัน กีฬาอีสปอร์ตกำลังเติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเกม PES ที่มีการสร้างลีกแข่งขันอาชีพ Thai E-League Pro ถือเป็นก้าวกระโดดใหญ่ในวงการเกมฟุตบอลบ้านเรา ถือเป็นมาตรฐานที่ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต้องรักษาไว้ให้ได้
ภารกิจต่อไปของ เอกพล กับเกมกีฬา PES คือ การรักษามาตรฐาน และความนิยมที่ดีแบบนี้ต่อไป ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของผู้ชายคนหนึ่ง ที่เคยพาฟุตบอลไทยเข้าไปอยู่ในเกมแบบไม่ถูกลิขสิทธิ์กับการรักษาสิ่งที่เขาสร้างมา ให้คงไว้อย่างถูกต้องต่อไป
“ผมเคยเป็นคนทำให้ทีมชาติไทยเข้าไปอยู่เกม แบบละเมิดลิขสิทธิ์ ปัจจุบัน ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเอาฟุตบอลไทย เข้าไปอยู่ในเกมได้อย่างถูกต้อง มันเป็นความฝันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ที่อยากเห็นฟุตบอลไทยเข้าไปอยู่ในเกม”
“ปัจจุบันเราทำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของผม คือ ทำอย่างไรให้ ฟุตบอลไทยมันอยู่ในเกมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่วันหนึ่งเขาไม่ต้องการฟุตบอลไทยแล้ว ขอถอนลีก ขอถอนทีมชาติออกจากเกม เรื่องแบบนี้มันเคยเกิดขึ้นกับประเทศอื่น”
“ผมต้องทำให้ฟุตบอลไทยอยู่ต่อ และเดินก้าวไปให้ไกลกว่านี้ ไม่แน่วันหนึ่ง เราอาจจะได้เห็นทีมชาติไทยไปอยู่ในเกมอื่นด้วย เมื่อวานผมเคยพาฟุตบอลไทยเข้าไปอยู่ในเกมได้ วันนี้ต้องทำให้มันเดินไปต่อได้เหมือนกัน”
"อยู่บน" - Google News
May 04, 2020 at 11:38AM
https://ift.tt/2Yztdrt
เอกพล พลนาวี : อดีตมือสร้างแพทช์เถื่อนผู้ผลักดัน "ไทยลีก" เข้าสู่วินนิ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ - Sanook
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เอกพล พลนาวี : อดีตมือสร้างแพทช์เถื่อนผู้ผลักดัน "ไทยลีก" เข้าสู่วินนิ่งที่ถูกลิขสิทธิ์ - Sanook"
Post a Comment