Search

เที่ยวปันสุข : กระตุ้นท่องเที่ยว 2 หมื่นล้าน เพียงพอกับรายได้ 2 ล้านล้านที่สูญไปหรือไม่ - บีบีซีไทย

soho.prelol.com
  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ทิวทัศน์บ้านแหลมหิน จ.ภูเก็ต ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยังคงเงียบสงบช่วงต้นเดือน ก.ค.

15 ก.ค. วันแรกของการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิท่องเที่ยว ผ่านเว็บไซต์ "เราเที่ยวด้วยกัน" โดยที่นักเศรษฐศาสตร์และหน่วยขับเคลื่อนนโยบายเห็นตรงกันว่าตลาด "ไทยเที่ยวไทย" ไม่อาจทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ และหากยังไม่มีการเปิดประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมราว 20% เสี่ยงต้องปิดกิจการ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากรัฐบาลยังยืนกรานนโยบาย "ปิดประเทศ" เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นศูนย์ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเป็นศูนย์ตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศ (จีดีพี) ก็จะหายไป 12-15% ทันที ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 6-7 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อยที่เสี่ยง "ล้มทั้งยืน"

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุ่มงบประมาณ 22,400 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อตอบแทน-เป็นกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขซึ่งถือเป็น "ด่านหน้า" ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขณะที่อีกส่วนเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เดินทางระหว่าง 18 ก.ค.-31 ต.ค. ภายใต้ชื่อ "เราไปเที่ยวกัน" และ "เที่ยวปันสุข"

AFP

เราไปเที่ยวกัน
  • 18,000ล้านบาท งบประมาณที่ใช้

  • 3,000บาท/ห้อง/คืน ช่วยจ่ายค่าที่พักสูงสุดในอัตรา 40%

  • 600บาท/คืน แจกคูปองอาหาร (ไม่เกิน 5 คืน)

  • 24,700 แห่ง โรงแรม/โฮมสเตย์ที่ได้ประโยชน์

  • 38,755 แห่ง ร้านอาหารที่ได้ประโยชน์

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจาก ททท.

กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และส่งผลให้จีดีพีมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% จากที่หลายสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจเคยคาดการณ์ไว้ว่าจีดีพีปีนี้มีโอกาสติดลบตั้งแต่ 5-10%

แต่ถึงกระนั้น ดร.ศุภวุฒิ สมาชิกแรกเริ่มของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม CARE ประเมินว่า เป็นไปได้ที่โรงแรมระดับบนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการหมุนของเงิน 50,000 ล้านบาท หากพิจารณา "ความพร้อม" และ "พฤติกรรมใหม่" ของนักท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 พร้อมหยิบยกข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) มาสนับสนุนสมมติฐาน

  • เที่ยวใกล้บ้าน ขับรถไปเองได้
  • เที่ยวกับครอบครัว/เพื่อนสนิทที่ไว้วางใจ
  • เที่ยวแบบขอมีพื้นที่ส่วนตัว

"ผมเดาว่าคนที่พร้อมจะไปท่องเที่ยวน่าจะเป็นคนรวย เพราะตอนนี้เขาไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ แต่ก็ยังมีเงินเยอะอยู่ เขาก็จะไปท่องเที่ยวในที่แพง ๆ ซึ่งคิดว่าปลอดภัย ขับรถไปได้ ส่วนคนระดับกลางลงมาหน่อยอาจกลัวว่าจะตกงาน อยากเก็บเงินสดไว้ จึงไม่กล้าออกไปเที่ยวแม้จะมีมาตรการจูงใจ เพราะต้องจ่ายเงินเองอีก 60%" ดร.ศุภวุฒิกล่าว

AFP/Getty Images

เที่ยวปันสุข
  • 2,000ล้านบาท งบประมาณที่ใช้

  • 1,000บาท ส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินสูงสุดในอัตรา 40%

  • 2ล้านคน/ครั้ง กระตุ้นให้เกิดการเดินทาง

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจาก ททท.

คาดหากยังไม่เปิดประเทศก่อน ต.ค. มี SME เจ๊งเพียบ

รัฐบาลคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะช่วย "ชุบชีวิต" ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ "บาดเจ็บสาหัส" เพราะมี "รายได้เป็นศูนย์" ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์

ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทยระบุว่า โรงแรม 90% ได้ประกาศ "ปิดชั่วคราว" ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อแรงงานในระบบที่มีอยู่ 1.6-1.8 ล้านคน กระทั่งเดือน ก.ค. จึงทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้ประกอบการราว 30-40% ที่ยังคงปิดให้บริการ และคาดการณ์ว่าโรงแรมไม่ต่ำกว่า 20% ต้อง "ปิดถาวร" เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงลูกค้า

"ถ้าไม่มีการผ่อนคลาย หรือมาตรการชัดเจนผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดถาวรไปเลยอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมา รายได้ก็ไม่ครอบคลุมกับรายจ่าย ก็คือขาดทุน แล้วเราจะทนขาดทุนไปได้อีกกี่เดือน" นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย ระบุ

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการที่มาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราเที่ยวด้วยกัน" มีตั้งแต่โฮสเทลถึงโรงแรมระดับ 5-6 ดาว สนนราคาห้องพักคืนละตั้งแต่ 200-35,500 บาท ทว่าหากประชาชนต้องการได้รับอานิสงส์เต็มพิกัดตามมาตรการนี้คือได้รับการสนับสนุนค่าที่พักคืนละ 3,000 บาท ก็ต้องจองห้องพักกับโรงแรมมากดาวที่คิดค่าเข้าพักคืนละ 7,500 บาทขึ้นไป

หาดในตัวเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อ มิ.ย.

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคอย่าง ดร.ศุภวุฒิไม่คิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยฐานคิดเรื่อง "อุ้มนายทุน แล้วหวังให้คนข้างบนไปพยุงคนข้างล่างต่อ" เพราะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) นับแสนรายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ต่างจากบางอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นขาใหญ่อยู่ไม่กี่ราย โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีให้ทั่วถึง

"ตอนนี้ทุกคนก็ใช้สายป่านตัวเองหมดล่ะ เขายังสงสารลูกน้อง ยังพยายามเปิด พยายามจ้างงาน โดยหวังว่าเดือน ต.ค. จะมีโกลเดน วีค (สัปดาห์เฉลิมฉลองวันชาติจีน) แต่ถ้าเขาสงสัยว่าจะไม่มีการเปิดประเทศ ไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง เมื่อไปถึงตรงนั้น เขาอาจจะต้องยอมปิดบริษัทไป โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะเริ่มขายทิ้ง ตอนนั้นล่ะที่นายทุนตัวใหญ่ ๆ จะเข้ามาซื้อสินทรัพย์ราคาถูก และทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่มขึ้น" นักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่ม CARE ระบุ

อัดฉีด "ไทยเที่ยวไทย" ไม่ต่างจาก "เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง"

การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 80% หรือคิดเป็น 30 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 8.2 ล้านคน รายได้หายไป 1.5 ล้านล้านบาท และมีคนไทยเที่ยวในประเทศ 70 ล้านคน/ครั้ง นั่นทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีหดหายไป 2.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพี

คำถามคือเม็ดเงินเพียง 22,400 ล้านบาทที่รัฐบาลโปรยลงไปจะสร้างมรรคผลอะไรได้ในทางเศรษฐกิจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ศุภวุฒิอธิบายว่า มันก็ไปได้ตามระยะเวลาที่รัฐบาลเปิดลงทะเบียน ก็อาจช่วยต่อชีวิตคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้สัก 2-3 เดือน หากโชคดีเป็นพนักงานโรงแรมใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี แต่ถ้าเป็นพนักงานที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ดีไม่ดีเงินอาจไปไม่ถึงตรงนั้น "ทุกอย่างมันขึ้นกับว่าคุณอยู่ตรงไหนของเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละพื้นที่ แต่ละสาขาอุตสาหกรรม ก็ได้รับผลแตกต่างกันไป"

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ออกนโยบาย และผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ เห็นตรงกันคือ การส่งเสริม "ไทยเที่ยวไทย" ไม่สามารถทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เสียไปได้

อ่าวมาหยา จ.กระบี่ เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวตะวันตก ถ่ายเมื่อปี 2561

สำหรับ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหายไปของท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา ดร.ศุภวุฒิยกตัวอย่างว่า ใน จ.ภูเก็ตเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงปีละ 10.6 ล้านคน สร้างรายได้ 4.19 แสนล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวไทย 3.9 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 5.23 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความพยายามจะเอา 12 บาท ไปโปะ 100 บาท จึงเป็นยากและเป็นไปไม่ได้ในความเห็นของ ดร.ศุภวุฒิ มาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" จึงไม่ต่างจากการ "เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง"

เช่นเดียวกับนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าด้านสื่อสารการตลาด ททท. ที่ระบุว่า "ไทยเที่ยวไทย" เป็นเพียงการช่วย "ผ่อนหนักให้เป็นเบา" และ "แค่กระเตื้อง แต่ไม่รู้จะกลับมาเมื่อไร" เพราะแม้ในภาวะปกติ รายได้จากไทยเที่ยวไทยก็ทำสร้างรายได้ให้ประเทศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

รายได้ท่องเที่ยววูบ 2.19 ล้านล้านบาท. . .

ออกนโยบาย "กล้า ๆ กลัว ๆ"

งบกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,400 ล้านบาทนี้ เจียดมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แม้เป็นการ "กู้เงินมาเที่ยว" และเป็นการ "ดึงเงินในอนาคตมาใช้" แต่ ดร.ศุภวุฒิย้ำว่านี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแนวคิดในการบริหารจัดการวิกฤต

เขาทดลองถอดแนวคิด-วิธีจัดการของประเทศหลัก ๆ ที่มองโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ไม่มีใครคาดฝัน ทำให้รัฐบาลต้องสั่งปิดธุรกิจ ปิดเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ อุปมาได้กับเส้นทางที่ทุกคนเดินมากลาย จู่ ๆ ตกลงไปเป็นเหวลึกและยาวประมาณ 2 ปีกว่าจะมีวัคซีน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการทอดสะพานเพื่อให้ทุกคนทุกธุรกิจเดินข้ามไปได้ และยืนอยู่ได้จนถึงจุดที่ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นั่นทำให้รัฐบาลหลายประเทศเอาเงินให้บริษัทรักษาอัตราการจ้างงาน พอข้ามสะพานใหม่แล้วค่อยปรับโครงสร้างหลังโควิด-19 หรือแม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ยังเตือนว่า "ระวังอย่าให้เศรษฐกิจเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่"

เมื่อย้อนกลับมาดูการล้างพิษเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาของรัฐบาลไทย ที่มีหัวหน้ารัฐบาลเป็นเจ้าของเพลง "สะพาน" สิ่งที่ ดร.ศุภวุฒิเห็นคือการออกมาตรการแบบ "กล้า ๆ กลัว ๆ" และ "ค่อย ๆ ทำทีละขยัก" รอดูก่อนว่าถูกใจประชาชนหรือไม่ ถ้าถูกใจก็อาจต่ออายุหรือขยายกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ เหมือนกรณีแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท

"การ์ดอย่าตก" สร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง

2 วันก่อนรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราเที่ยวด้วยกัน" หวังดึงเงินจากกระเป๋าสตางค์ของกลุ่มคนที่พอมีกำลังซื้อมาเยียวยาเศรษฐกิจ ได้เกิดเหตุ "โควิดถล่มระยอง" เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานข้อมูลเมื่อ 13 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่จำนวน 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นนายทหารสัญชาติอียิปต์ซึ่งเดินทางเข้าไทยระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค. ก่อนเข้าพักในโรงแรม และได้ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า

24 ชม. ผ่านไป คำสั่งจองโรงแรมและห้องสัมมนาภายในเมือง "ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า" ถูกยกเลิก 100% ตามคำเปิดเผยของประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ขณะที่ ศบค. สั่งชะลอการอนุญาตการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแบบผ่อนคลายตามข้อกำหนดของบรรดา "วีไอพี" ประกอบด้วย กลุ่มที่มีเหตุยกเว้นหรือได้รับอนุญาต, กลุ่มบุคคลในคณะทูต และกลุ่มนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในระยะสั้น

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เห็นว่าสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดจากรัฐบาลในเวลานี้คือการสถาปนาหลักเกณฑ์ที่เป็นทางการเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวต่างชาติเข้ามาในไทยได้

สิ่งที่ ดร.ศุภวุฒิอยากชี้ชวนให้สังคมพิจารณาจากกรณีทหารอียิปต์ และกรณีเด็กหญิงวัย 9 ขวบ บุตรสาวของอุปทูตซูดาน ติดเชื้อโควิด-19 คือทั้ง 2 กรณีนี้จะทำให้เกิดผู้ป่วยหน้าใหม่ในไทยกี่ราย สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงแค่ไหน และรัฐสามารถบริหารจัดการได้ดีหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศ ณ วันที่ 15 ก.ค. จำนวน 3,232 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ก็คิดเป็นเพียง 1.79% ของยอดผู้ป่วย

"ในเมื่อโรคนี้มีผู้เสียชีวิตเปอร์เซ็นต์กว่า ๆ แล้วทำไมคุณต้องการ absolute perfection (ความสมบูรณ์แบบอย่างสัมบูรณ์) ทั้งที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล"

ตลอดเวลา 5 เดือนของการ "ปิดประเทศ" และ "ปิดเศรษฐกิจ" ดร.ศุภวุฒิประเมินว่าอาจทำให้จีดีพีหายไป 30%

ส่วนแรกคือ กลุ่มนักท่องเที่ยว ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเข้ามาเที่ยวเมืองไทย แต่ไทยยังไม่เปิดประเทศรับเพราะกลัวเชื้อโควิด ทั้งที่สถิติของประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดของโลกอย่างสหรัฐฯ ที่ 3.54 ล้านราย ก็คิดเป็นเป็นเพียง 1.08% ของพลเมืองอเมริกันทั้งหมด 329 ล้านคน "นี่คือสิ่งที่คนไม่ได้นึกถึง ดังนั้นถ้าเราคัดกรองดี ๆ ในหลักการคุณน่าจะสามารถคัดกรอง 98-99% ที่ไม่ติดเชื้อได้ไม่ใช่หรือ ไม่ใช่ว่าเขาติด 40-50% พอคุณจิ้มไปก็เจอเชื้อ ฉะนั้นในหลักการโอกาสที่เขาจะไม่ติดเชื้อมีสูงนะครับ" แต่แน่นอนว่าทุกอย่างมีความเสี่ยง และเป็นเรื่องที่รัฐไทยต้องถามตัวเองว่าจะสยบความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วแค่ไหน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อไปว่า หากรัฐต้องการมาตรการที่เท่าเทียมกัน (equal treatment) ก็ต้องห้ามไม่ให้นักธุรกิจเข้ามาด้วย นักธุรกิจญี่ปุ่นที่มีบริษัทในไทยไม่สามารถเข้ามาดูโรงงาน ดูแลควบคุมมาตรฐานการผลิตได้เลยหรือ ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปหมดเลยหรือไม่ หรือในส่วนของการลงทุนใหม่ผ่านกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ซึ่งปกติคิดเป็น 20% ของจีดีพี จะต้องหยุดไปแค่ไหน ถ้าหยุดไปครึ่งหนึ่งก็ 10% ของจีดีพี ซึ่งการลงทุนนี้สำคัญ เพราะนอกจากเป็นการสร้างงานในปัจจุบัน ยังเป็นการสร้างการผลิตในอนาคต และมีความสำคัญต่อการทำให้จีดีพีโตในระยะยาว

"คุณไปลองคิดดูให้ดีดีกว่าว่าคุณจะอยู่กับโควิด 19 อย่างไร แล้วก็เลือกจับคู่กับประเทศที่มีมาตรการรัดกุม ไปเจรจากับเขาว่าจะแบ่งความเสี่ยงกันอย่างไร มันเป็นการแบ่งความเสี่ยงแน่นอน เขาก็ไม่ได้อยากให้ประชากรของเขามาติดเชื้อในประเทศเรา เขาก็ต้องรับผิดชอบประชากรเขาเช่นกัน" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสระบุ

สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี

อุปสรรคที่ทำให้การ "เปิดเศรษฐกิจ" ยังไม่อาจเกิดขึ้นตามทัศนะของ ดร.ศุภวุฒิ เกิดจาก "ความกลัว เพราะรัฐบาลบอกให้กลัว"

"รัฐบาลพยายามพูดเหมือนกับว่า absolute perfection เป็นผลงานที่ดีมากเลยของรัฐบาล ไม่อยากให้อันนี้เปรอะเปื้อนเลย และรัฐบาลขู่ตลอดอย่าการ์ดตก ๆ ขนาดปลอดเชื้อในประเทศ 44 วันก็ยังบอกให้ตั้งการ์ด แต่ถ้าเราตั้งการ์ดตลอดเวลา มือคุณทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนะ มันก็มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง" ดร.ศุภวุฒิพูดพลางแสดงท่ายกมือตั้งการ์ดให้ดู

จาก "สุขภาพนำเสรีภาพ" สู่ "สุขภาพนำเศรษฐกิจ"

เมื่อฐานคิดในการปราบโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ค่อย ๆ เคลื่อนจาก "สุขภาพนำเสรีภาพ" ในช่วงต้น ไปสู่ "สุขภาพนำเศรษฐกิจ" ณ ปัจจุบัน ภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ "เจ็บจริง-เลือดไหลจริง" จึงคล้ายถูกกดทับด้วย "ความกลัวหมู่"

"ใช่ มันไม่เห็นภาพ (ความเสียหายทางเศรษฐกิจ) นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาพูดกันเสมอว่าเราประเมินความเสี่ยงไม่เป็น หลายคนถึงคิดว่าตัวเองจะถูกล็อตเตอรี่ไงทั้งที่โอกาสถูกน้อยมาก ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีนี้เราคิดว่าเรามีโอกาสติดโควิดสูงมากเลย ผมถามว่าคุณรู้จักใครสักคนไหมที่ติดเชื้อ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักนะ เพราะมีแค่ 3,000 คน จาก 68 ล้านคน แต่ถามว่าคุณรู้จักคนที่ถูกรถชนตายไหม ผมว่าเราอาจรู้จักนะ เพราะในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 40,000-50,000 คน แต่ถามว่าคุณห้ามขับรถไหม ไม่ห้าม"

ภาพ "ตลกร้าย" ที่นักเศรษฐศาสตร์รายนี้พบเห็นบนท้องถนน เป็นภาพชายขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อก แต่สวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้งที่ชีวิตบนท้องถนน ความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุสูงกว่าการติดเชื้อไวรัส

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากบีบีซีไทยสรุปจากงานสัมมนา "ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว" Rescue Forum : Tourism" จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวสด และกลุ่ม CARE เมื่อ 11 ก.ค. 2563

Let's block ads! (Why?)



"หายไป" - Google News
July 15, 2020 at 06:30PM
https://ift.tt/3ezKh50

เที่ยวปันสุข : กระตุ้นท่องเที่ยว 2 หมื่นล้าน เพียงพอกับรายได้ 2 ล้านล้านที่สูญไปหรือไม่ - บีบีซีไทย
"หายไป" - Google News
https://ift.tt/3bJg2bb
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "เที่ยวปันสุข : กระตุ้นท่องเที่ยว 2 หมื่นล้าน เพียงพอกับรายได้ 2 ล้านล้านที่สูญไปหรือไม่ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.