Search

การรื้อฟื้นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์

soho.prelol.com

แผนที่ทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิครอบครอง
อันที่จริงแผนที่ที่เรียกกันว่า “แผนที่เส้นประ” ซึ่งเคยมีถึง 11 เส้น ไม่ใช่แค่ 9 เส้น...ไม่ได้เป็นแผนที่ที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ไม่ว่ายุคท่านประธาน “เหมา” หรือยุค “สี จิ้นผิง” เป็นผู้คิด ผู้ขีดขึ้นมาเอาเลยแม้แต่น้อย แต่กลับเป็น “รัฐบาลก๊กมินตั๋ง” หรือรัฐบาลจีนไต้หวันนับแต่ยุคอดีตนั่นแหละ ที่เป็นผู้ลาก ผู้ขีด มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 หรือตั้งแต่จีนมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังการลงนามยอมรับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ใน “คำประกาศปอตสดัม” (Potsdam Declaration) เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน...

เหตุที่รัฐบาลชาตินิยมก๊กมินตั๋ง คิดจะขีด คิดลากเส้นต่างๆ เอาไว้ในลักษณะเช่นนี้...คงไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นคอมมิวนิสต์-ไม่คอมมิวนิสต์เอาเลยแม้แต่นิด แต่น่าจะเกี่ยวกับ “ความเป็นจีน” นั่นแหละเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความเป็นจีนที่ตั้งอยู่บนความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ความหวาดระแวง อันเนื่องมาจากการถูกพวก “ป่าเถื่อน” หรือใครก็ตามที่ไม่ใช่ชาวฮั่น บุกรุกล่วงล้ำเข้ามาเล่นงานอาณาจักรจีน ที่บรรดาชาวจีนเคยเชื่อๆ กันว่าเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นอาณาจักรที่มีอารยธรรมสูงสุดกว่าใครเขาเพื่อน จนไม่เพียงแต่ต้องสร้าง “กำแพงเมืองจีน” ยาวอีเหลนเป๋นนับเป็นพันๆ หมื่นๆ กิโลเมตร ไว้รอบๆ อาณาเขต ตั้งแต่ก่อนยุค “จิ๋นซีฮ่องเต้” เอาเลยก็ว่าได้ และเมื่อต้องเจอกับพวกป่าเถื่อน ที่ไม่ได้บุกเข้ามาทางบก แบบพวกมองโกล หรือแมนจู ฯลฯ แต่หันมาอาศัยน่านน้ำ ท้องทะเล บุกเข้ามาบังคับให้คนจีนสูบฝิ่นเพื่อขายฝิ่น บุกมายึดแผ่นดินจีนไปตัดแบ่งกันเป็นชิ้นๆ หรือบุกมาบังคับพระจักรพรรดิฮ่องเต้ ผู้ได้รับบัญชามาจากสวรรค์ ให้ต้องหมอบราบคาบแก้วเอาง่ายๆ ฯลฯ โดยอาศัย “เรือปืน” ของชาวตะวันตกแค่ไม่กี่ลำเท่านั้นเอง ความพยายามที่จะสร้าง “กำแพงเมืองจีนทางทะเล” ด้วยการลากเส้นประเอาไว้ 9-11 เส้น จึงย่อมต้องเป็นไปด้วยประการละฉะนี้...

และแม้จีนก๊กมินตั๋ง จะถูกจีนคอมมิวนิสต์เล่นงานตกน้ำ ตกท่า ต้องเผ่นไปตั้งหลักที่เกาะไต้หวันไปแล้วก็ตาม แต่ก็ด้วย “ความเป็นจีน” ที่ว่านี่เอง กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1999 กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไต้หวันซึ่งหนีไม่พ้นต้องหันไปพึ่งพาคุณพ่ออเมริกามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ก็ยังเคยออกแถลงการณ์ อ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และกฎหมาย ยืนยันถึงความถูกต้องของ “แผนที่เส้นประ” อย่างเป็นทางการ ต่างไปจากรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่ไม่เคยแสดงท่าทีโดยชัดเจน ว่าคิดจะยึด “แผนที่เส้นประ” ที่ว่านี้ เป็นตัวกำหนดเขตแดน ดินแดนของประเทศจีนจริงๆ หรือไม่ แต่หันมาแสดงออกในทาง “พฤตินัย” ด้วยการเข้าไปยึดเกาะโน้น เกาะนี้ หรือไปสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในแต่ละช่วง แต่ละระยะ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อ “ความเป็นจีน” ต้องตกอยู่ภายใต้บรรยากาศอันน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง ความหวาดระแวงครั้งใหม่ อันเนื่องมาจากการถูกหมายหัวว่าเป็น “คู่แข่ง” หรือ “คู่กัด” ของอภิมหาอำนาจสูงสุดในโลก ความจำเป็นที่ต้องหันมาสร้าง “กำแพงเมืองจีนทางทะเล” เอาไว้ป้องกันพวก “ป่าเถื่อน” ประเภทคุณพ่ออเมริกา จึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...

ความพยายามบริหารจัดการ ความขัดแย้งที่จีนต้องมีกับบรรดาประเทศเล็ก ประเทศน้อย ซึ่งต่างอ้างถึงอาณาเขตดินแดนของตัวเองที่อยู่ภายในแผนที่เส้นประไปด้วยกันทั้งสิ้น จึงย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยศิลปะ ความประณีตละเอียดอ่อน อาศัยเวลา รวมทั้ง “ความเป็นมหาอำนาจ” ในทางที่ถูก-ที่ต้อง ไปจนถึงเงินๆ-ทองๆ และเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อบรรดาความขัดแย้งดังกล่าว มันมี “ผลประโยชน์” จำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะนับตั้งแต่หน่วยงาน องค์กรด้านพลังงาน ไม่ว่า “คณะกรรมการความร่วมมือตรวจหาแหล่งแร่” ของสหประชาชาติ หรือกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ต่างหันมานำเสนอรายงาน ว่าด้วยแหล่งทรัพยากรน้ำมันและแก๊ส ที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในทะเลจีนใต้ จนทำให้ประเทศต่างๆ ที่ต่างต้องการ “รายได้” หรือต้องการ “การพัฒนา” ประเทศตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ต่างหันมา “อ้างสิทธิ” หันมาชักจูงบรรดา “บริษัทน้ำมัน” ของชาวตะวันตก มาร่วมลงทุน แย่งยื๊อบรรดาทรัพยากรเหล่านี้ จนทำให้บรรดาเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ หรือทะเลจีนตะวันออก ต้องกลายสภาพเป็น “ทะเลแห่งความโลภ” ไปจนได้ และทำให้ “ความขัดแย้ง” ระหว่างจีนกับบรรดาประเทศเล็ก ประเทศน้อย ออกจะหนักหน่วงรุนแรงมิใช่น้อย ถึงขั้นเคยต้องยิงกัน สู้กัน ไม่ว่าระหว่างทหารจีนกับเวียดนาม หรือกับฟิลิปปินส์มาแล้ว หลายครั้ง หลายหน...

แต่ก็นั่นแหละ...ด้วยลีลาพญามังกร แถมยังเป็น “มังกรในสายหมอก” (Dragon in the fog) อย่างที่นักเขียน นักการทูต อย่าง “เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร” ท่านได้ให้ชื่อ ฉายา เอาไว้ซะอีกด้วย การเปลี่ยนโฉมหน้า เปลี่ยนลีลาจากประเทศคอมมิวนิสต์จนๆ กลายมาเป็น “ทุนนิยมเผด็จการ” ที่รวยเอาๆ แถมยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยี จนสามารถสำรวจแหล่งแก๊ส แหล่งน้ำมันใต้ทะเล ในระดับความลึกตั้งแต่ 3,000-7,000 เมตร ทั่วอาณาบริเวณทะเลจีนใต้ จีนตะวันออก สามารถควักเงินระดับนับพันๆ ล้านหยวนมาร่วมลงทุนกับบรรดาบริษัทของประเทศต่างๆ ไม่ต่างไปจาก “บรรษัทข้ามชาติ” ของตะวันตก ได้แบบชนิดถึงไหนก็ถึงกัน รวมทั้งยังอาจแถมเงินให้กับโครงการพัฒนาของประเทศต่างๆ ได้แบบซื้อหนึ่ง-แถมหนึ่ง หรือแบบ “เล้ง-อยู่สะพานขาวแค่นี้เอง” จึงทำให้บรรดา “ความขัดแย้ง” ระหว่างจีนกับบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลงไปแบบฮวบๆ ฮาบๆ ในช่วงหลังๆ หรือทำให้การนำเอาเรื่องข้อพิพาทในเกาะแก่งต่างๆ ที่อาจเรียกว่าดินแดน หรือแผ่นดินไม่ถึงกับเต็มปาก เต็มคำ คือส่วนใหญ่มักเป็นแค่ท้องน้ำที่ประกอบไปด้วยโขดหิน สันทราย หรือแนวปะการัง ฯลฯ กระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ไม่ว่าพื้นที่ที่เรียกว่า “สแปรตลีย์” (Spratly) “พาราเซล” (Paracel) “ปราตัส” (Pratas) ไปจนถึง “Macclesfield Bank” หรือ “Scarborough Shoal” ฯลฯ ต่างก็ไม่ถึงกับทำให้แต่ละฝ่าย ต้องหันมายิงกัน สู้กัน เหมือนแต่ก่อน...

ดังนั้น...การที่คุณพ่ออเมริกาท่านพยายามไปหยิบเอา “มุกเก่าๆ” มาประยุกต์ให้กลายเป็น “มุกใหม่” จึงหนีไม่พ้นต้องดัดแปลงให้กลายเป็นเรื่องของ “Freedom of Navigation Operation” หรือเรื่องของ “เสรีภาพการเดินเรือ” ไปแทนที่ และคงไม่น่าจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้น แรงจูงใจต่อบรรดาประเทศเล็ก ประเทศน้อย ในย่านนี้มากมายสักเท่าไหร่นัก เพราะถ้าหากไม่ถึงกับไปทำอะไรที่ขัดอก-ขัดใจ หรือไปยั่วยวน-กวนส้นตีน คุณพี่จีนท่านจนเกินไป ก็น่าจะมี “เสรี” ระดับไม่น้อยกว่า “เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” อยู่แล้วแน่ๆ ด้วยเหตุนี้...ความพยามปรับรูป ปรับขบวน เพื่อให้ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” นำไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งความเป็น “อิสระเสรี” และ “การเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific region) จึงน่าจะเป็นสิ่งที่สนุกสนานเมามันซ์ซ์ซ์ อยู่ในแต่เฉพาะบรรดาประเทศที่ตัดสินใจ “เลือกข้าง” เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าอินเดีย-ออสเตรเลีย-และญี่ปุ่น ก็ตาม...

ส่วนประเทศเล็กๆ อย่างไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาทั้งหลาย...ที่ต้อง “ลื่นเหลือล้น ทนเหลือหลาย” ไปตามสภาพ ไม่ต่างไปจากประเทศเล็ก ประเทศน้อย ในทะเลจีนใต้ ย่อมหนีไม่พ้นต้องยึด “แนวกลางๆ” เอาไว้ก่อน ไม่ว่ามหาอำนาจทางการทหารที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดในโลกอย่างคุณพ่ออเมริกา ท่านพยายามอวดกล้าม โชว์กล้าม กันในลักษณะไหนก็แล้วแต่ เพราะโดย “ศักยภาพความเป็นชาติ” หรือความแข็งแกร่งของแต่ละประเทศ มันคงไม่ได้วัดตัดสินเพียงแค่ “อำนาจทางทหาร” ล้วนๆ เท่านั้น...

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
July 16, 2020 at 11:43AM
https://ift.tt/30tZDTR

การรื้อฟื้นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "การรื้อฟื้นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ (จบ) - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.