ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีอาชีพทำมะพร้าวขาย สุธรรม ศรีแสง บอกว่าตัวเองผูกพันกับต้นมะพร้าวและลิงมาตั้งแต่เด็ก เขาเห็นแม่กับพี่ชายเลี้ยงลิงเก็บมะพร้าวเพื่อจุนเจือครอบครัว และตัวเขาเองเคยเลี้ยงลิงมาถึง 15 ตัว ดังนั้นจึงพูดได้ว่าครอบครัวของเขาให้ความสำคัญกับลิงและไม่ได้มองเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน
"หัวหน้าครอบครัวของผมคือลิง ถ้าผมไม่มีมัน ผมก็ไม่มีเงินมากินมาใช้ในครอบครัว ถ้าผมไม่มีลิงก็คือไม่มีงาน" สุธรรมพูดตอนขี่มอเตอร์ไซค์พา "เล็ก" ลิงตัวหนึ่งของเขาไปปืนต้นมะพร้าวตามคำสั่งจากเจ้าของสวนที่จ้างเขาทำงานประจำวัน เล็กนั่งอยู่ตรงที่ว่างด้านหน้ามอเตอร์ไซค์ มีโซ่คล้องอยู่ที่คอซึ่งคล้องอยู่กับข้อมือของสุธรรม
เมื่อต้นเดือน ก.ค. องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ หรือพีต้า เผยแพร่รายงานการสืบสวนเรื่องการใช้งานลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ที่พีต้าอ้างว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ โดยเสนอหลักฐานเป็นวิดีโอภาพลิงถูกล่ามโซ่ใช้งาน บางตัวอยู่ในสภาพคุ้มคลั่ง หลังรายงานเผยแพร่ออกไป สื่ออังกฤษหลายสำนักรายงานว่าประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวของไทยส่วนหนึ่งได้ระงับการนำเข้าไปขายยังห้างร้านต่าง ๆ ทั่วโลกนับหมื่นร้าน
แต่ในมุมกลับกัน ชาวบ้านที่เลี้ยงลิงมาหลายสิบปี อย่างสุธรรมให้เหตุผลว่าคนเลี้ยงลิงจริง ๆ จะไม่ทำร้ายลิง และสิ่งที่ปรากฏเป็นหลักฐานของพีตานั้นไม่ได้เกิดที่บ้านเกิดของเขาบนเกาะสมุยแน่นอน เขาบอกอีกว่าการเลี้ยงลิงไว้ใช้งานเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านที่คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเพื่อการเกษตรกว่า 1.3 ล้านไร่ ส่วนมากอยู่ในภาคใต้ของประเทศ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เหล่านี้มีการใช้ลิงเพื่อเก็บมะพร้าวบนต้นที่มีความสูงเกินกว่าจะใช้แรงงานคนเพื่อเก็บเกี่ยว
บีบีซีไทยเดินทางลงพื้นที่ เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเกาะมะพร้าว ก่อนการท่องเที่ยวจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อติดตามดูว่าชีวิตในแต่ละวันของลิงที่ถูกเลี้ยงมาเพื่อใช้งานขึ้นมะพร้าวนั้นเป็นอย่างไร
วันทำงานของลิง
ยักษ์ จ๋อ และจ๋อย ตื่นนอนทันทีที่ วิเศษ ศรีแสง เปิดไฟหลังบ้านตอนตี 5 เพื่อเตรียมหุงข้าวให้ลิงกินในตอนเช้า และทันทีที่พวกมันตื่นขึ้นมา ลิงทั้งสามตัวที่มีอาการสะลึมสะลือไม่ต่างอะไรกับคนที่เพิ่งตื่นนอน ต่างก็ลุกขึ้นนั่งรอกินข้าวเช้า
วิเศษนำข้าวที่หุงร้อน ๆ มาใส่ชามก่อนที่จะคลุกด้วยนมข้นหวานและเทใส่ชามให้ลิงทั้งสามตัวที่นั่งรออย่างใจจดใจจ่อ พวกมันจะรีบกินจนหมดจาน
น.สพ. ปานเทพ รัตรากร บอกกับบีบีซีไทยว่าอาหารหลักของลิงก็คือพืช ผัก และผลไม้ แต่การที่เจ้าของลิงที่สมุยให้อาหารเช้ากับลิงของเขาอาจจะเป็นมื้อพิเศษเพื่อเป็นรางวัลหรือเป็นแรงจูงใจให้ทำงาน
ยักษ์เป็นลิงที่สนิทกับวิเศษที่สุด เขาบอกว่าเป็นเพราะเขาเคยช่วยชีวิตมันไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มันยืนขึ้นเมื่อเขาเดินเข้ามาใกล้ ๆ และกอดขาเขาไว้แน่น วิเศษลูบหัวยักษ์ก่อนที่จะผละจากมันเพื่อเตรียมตัวออกไปเก็บมะพร้าว
พอ 6 โมงเช้า วิเศษนำโซ่ที่มีเชือกยาวหลายสิบเมตรที่ผูกติดอยู่มาคล้องคอยักษ์และจ๋อ ก่อนที่จะพาพวกมันเดินขึ้นรถบรรทุกเพื่อไปที่สวนมะพร้าว
ทุกครั้งที่วิเศษเข้าสวนไปเก็บมะพร้าว เขาจะพาลิงไปสองตัวเพื่อให้สลับกันทำงาน ตัวหนึ่งนั่งพักเหนื่อยในขณะที่อีกตัวหนึ่งไต่ขึ้นต้นมะพร้าว
ภาพเดียวกันนี้ในมุมมองขององค์กรพิทักษ์สัตว์ถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ แต่คนที่เลี้ยงลิงไว้ใช้งานเห็นตรงกันข้าม
"ลิงพวกนี้เราทรมานเขาไม่ได้ ถ้าเขาจะไม่ขึ้น (ต้นมะพร้าว) ทำยังไงก็ไม่ขึ้นหรอก ตีให้ตายก็ไม่ขึ้น การปีนป่ายมันเป็นธรรมชาติของพวกเขา" มาลี ศรีแสง ภรรยาของวิเศษกล่าว
ดูเหมือนลิงจะสามารถสื่อสารกับเจ้าของได้ เมื่อขึ้นไปบนยอดมะพร้าว พวกมันจะมองลงมายังเจ้าของ รอฟังคำสั่ง พอวิเศษพูดว่า "เอาเอา" ลิงก็จะบิดลูกมะพร้าวนั้น ๆ และทิ้งลงมาที่พื้น มาลีจะเป็นคนนำตะขอปลายแหลมมาจิ้มมะพร้าวและโยนไปกองรวมเป็นจุด ๆ ให้เจ้าของสวนมาขนไป
วิเศษและภรรยาพาลิงไปขึ้นมะพร้าวก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น และให้พวกมันทำงานจนถึงเวลา 10 โมง ก่อนจะพาลิงกลับบ้าน พวกเขาบอกว่าไม่ต้องการให้ลิงทำงานท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวของเกาะสมุย
ในวันที่ทีมงานบีบีซีไทยติดตามคนเก็บมะพร้าวและลิงของพวกเขาไปทำงาน ทันทีที่ที่ถึงบ้าน ลิงทั้งสองตัวได้กินนมถั่วเหลือง อาบน้ำ และไม่ต้องทำอะไรไปจนถึงเช้าวันใหม่
เลี้ยงดีกว่าลูก
วิเศษออกจากเกาะสมุยเพื่อไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ในปี 2525 ตอนที่อายุได้ 12 ปี เขาเติบโตมากับครอบครัวคนเลี้ยงลิง มีความฝันที่อยากจะหาเงินให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และระยอง ไปทำงานด้านเฟอร์นิเจอร์
แต่เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มแย่ลง ทำรายได้ไม่ดีเท่าเดิม เขาและภรรยาตัดสินใจย้ายกลับบ้านที่เกาะสมุย มาลีบอกว่ามีอาชีพที่ทำได้แค่สองอย่างคือไม่ลงทะเลก็ขึ้นต้นมะพร้าว
ในขณะนั้น ราว 6 ปีที่แล้ว คนในครอบครัวของเขาทุกคนยังทำอาชีพเก็บมะพร้าวอยู่ เมื่อขอคำปรึกษา พี่ชายของวิเศษจึงให้ลิงมาหนึ่งตัว
"ตอนได้เจ้ายักษ์มาใหม่ ๆ เขามีอาการป่วยเข้ามาจนเกือบตายแล้ว เราก็รับเจ้ายักษ์เข้ามาดูแล ต้มยาสมุนไพรให้กินจนมันกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง และสามารถทำงานได้ ในช่วงแรก ๆ เราทำงานได้วันละ 500 บาท ก็เลยเริ่มคิดได้ว่าอาชีพนี้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้จริง ๆ" วิเศษกล่าว
"พอได้มาอยู่กับลิงก็เริ่มมีความผูกพันกับลิง ทำงานกับลิงตอนเช้า สาย ๆ ก็พากลับบ้าน เลี้ยงข้าว เล่นกับเขา งานนี้มันเป็นงานที่เรียบง่าย วิถีชีวิตง่าย ๆ ไม่เครียด" เขากล่าวเสริม
วิเศษบอกว่าเขาเลี้ยงดูลิงทั้งสามเหมือนลูก และมีความผูกพันกัน วันไหนที่วิเศษออกไปนอกบ้าน เมื่อกลับเข้ามา ลิงก็จะร้องเรียกเขาและเข้ามากอด แต่เขาบอกว่าลิงจะไว้ใจแต่เจ้าของเท่านั้น
"เราได้กินอะไรพวกเขาก็ได้กินแบบนั้น นี่กินดีกว่าลูกผมอีก" วิเศษกล่าว
เราให้ใจเขา เขาก็ให้ใจคืนมา
วันที่ 3 ก.ค. กลุ่มพิทักษ์สัตว์พีต้าออกรายงานการสืบสวนเรื่องการทรมานลิงที่ใช้ฝึกเพื่อขึ้นต้นมะพร้าว พีต้าระบุในแถลงการณ์ว่าผู้สังเกตการณ์ได้ถ่ายภาพลิงที่ถูกล่ามด้วยโซ่เส้นสั้น ๆ และถูกบังคับให้วิ่งวนเป็นวงกลม ถูกจับใส่กรงแคบ ๆ ท่ามกลางฝนตก และบังคับให้ปีนต้นไม้ในฤดูเก็บเกี่ยวมะพร้าวเพื่อทุ่นแรงคนงาน
พีต้าได้เริ่มสืบสวนข้อเท็จจริงและไปเยี่ยมโรงเรียนฝึกหัดลิง 4 แห่ง และไปสังเกตการณ์การแข่งขันลิงเก็บมะพร้าวอีก 1 แห่ง โดยพีต้ารายงานว่าลูกลิงที่ถูกนำมาใช้ฝึกตามโรงเรียนจะถูกพรากจากแม่ตั้งแต่เล็ก และถูกบังคับให้เก็บมะพร้าวจากต้นในอุตสาหกรรมมะพร้าวที่ส่งออกไปทั่วโลก และลิงเหล่านั้นยังถูกล่ามไว้กับยางรถยนต์เก่า ๆ ใกล้ถังขยะหรือไม่ก็ถูกจับใส่กรงที่มีขนาดพอ ๆ กับตัวในสภาพอึดอัด
หลังจากพีต้าได้เปิดโปงการกระทำที่ถือว่าเป็นการทรมานลิงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมะพร้าวในไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยอย่างกะทิ ได้รับผลกระทบในเรื่องการส่งออกอย่างหนัก มีรายงานว่าร้านค้ากว่าหมื่นร้านทั่วโลกไม่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่มาจากประเทศไทย ด้วยสาเหตุที่ว่ามีการทรมานสัตว์เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต
นอกจากผู้ประกอบการและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ได้รับผลกระทบแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและผู้เลี้ยงลิงก็ได้รับผลกระทบจากข่าวที่เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นกัน
"เมื่อก่อนที่เริ่มทำมะพร้าวใหม่ ๆ ได้ลูกละ 7 บาท แต่ตอนนี้พอมีข่าวเรื่องการแบนสินค้ามะพร้าวไทยจากต่างประเทศก็ลำบากกันมาก มะพร้าวเหลือลูกละ 3 บาท ทำงานกันไม่ได้เท่าเดิม แล้วจะให้พวกเราทำอย่างไร นี่มันภูมิปัญญาชาวบ้าน คนมาเกาะสมุยมาท่องเที่ยวก็อยากจะมาดูลิง มาดูมะพร้าว มันเป็นจุดขายของเกาะสมุยอยู่แล้ว" มาลีตัดพ้อ
"ไม่รู้ว่า (พีต้า) ไปเอาข้อมูลมาจากที่ไหน ถ้าพวกเขาได้มาเห็นความเป็นอยู่ของลิงที่นี่ และการเลี้ยงดู ก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ทรมานมัน เราต้องรู้จักนิสัยของสัตว์ เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา เราให้ใจเขา เขาก็ให้ใจเราคืนมา" มาลีพูด ขณะที่วิเศษสามีของเธอย้ำว่าไม่มีการทรมานลิงเกิดขึ้นบนเกาะสมุย
มาลีอธิบายเพิ่มเติมว่ามะพร้าวบนเกาะสมุยบางต้นมีอายุร่วมร้อยปี และลูกมะพร้าวจะอยู่สูงมากจนคนไม่สามารถเก็บถึงจึงต้องพึ่งลิงที่ทำได้ดีและเร็วกว่า เธอบอกด้วยว่าวันไหนที่ลิงไม่ได้ขึ้นมะพร้าว พวกมันจะมีอาการเครียด
"เหมือนกับการเลี้ยงเด็ก เราจะรู้ว่าลิงแต่ละตัวมีนิสัยเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรกับพวกมัน บางทีแค่พูดว่า แอ๊ะ ๆ พวกเขาก็กลัวแล้ว" มาลีอธิบาย
วิเศษอธิบายเสริมว่าลิงแต่ละตัวมีราคาสูงประมาณ 40,000 - 50,000 บาท และทุกตัวจะมีไมโครชิพฝังอยู่
มุมมองจากเจ้าของธุรกิจ
ในขณะที่คนเลี้ยงลิงและชาวสวนมะพร้าวกำลังหาทางออกเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดได้ สำหรับผู้ผลิตและส่งออกในพื้นที่เกาะสมุยอย่าง วิศิษฐ์ จันทร์สิทธิพงศ์ กลับมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะกำหนดราคากลางของมะพร้าวเพื่อให้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอยู่ได้
"ถ้าจะให้พูดตรง ๆ ก็จะบอกเลยว่ามะพร้าวบ้านเราราคาแพง แถมราคาขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอด ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวอย่างผมก็ต้องคอยรับมือกับราคาที่ผันผวนไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา" วิศิษฐ์กล่าว
เขาอธิบายว่าผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกมะพร้าวหลายรายอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการส่งออก เพราะหากมีการระงับไม่ซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย ผู้ประกอบการก็ยังสามารถตีตราว่าเป็นสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปขายได้อยู่ดี
"รัฐบาลควรประกาศราคากลางของมะพร้าวไปเลย แล้วแบบนี้จะทำให้ทุกคนเล่นอยู่ในสนามที่ราคาเดียวกัน และเราก็จะได้ของที่มีคุณภาพเท่า ๆ กัน และชาวบ้านก็จะได้ไม่ถูกกดราคา"
เหมือนตัดมือตัดเท้า
บีบีซีไทยได้รับคำบอกเล่าจากผู้เลี้ยงลิงบางรายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เริ่มเดินสายประชาสัมพันธ์เรื่องการดูแลลิงที่ใช้เก็บมะพร้าว และมีการเปรยว่าทางการอาจมีการสั่งห้ามการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในพื้นที่เกาะสมุย
"ถ้าไม่ให้ใช้ลิงเก็บมะพร้าวจริง ๆ ผมก็คงอดตายแหละ เพราะผมไม่มีอาชีพอื่นเสริมเลย ก็คงไม่ต่างกันกับการตัดมือตัดเท้าผมเลย" สุธรรมกล่าวและอธิบายว่าเขายังเป็นหนี้ธนาคารจากการลงทุนซื้อลิงและรถ หากรัฐบาลไม่ให้การชดเชยใด ๆ เขาก็จะยังใช้ลิงขึ้นต้นมะพร้าวอยู่ต่อไป
สุธรรมย้ำว่า "ลิงกับเกาะสมุยเป็นวิถีชาวบ้าน อยากให้ทุกคนลงมาดูเลยว่าเราดูแลลิงได้สมบูรณ์แข็งแรงขนาดไหน…ถ้าห้ามไม่ให้ใช้ลิงขึ้นต้นมะพร้าวจริง ๆ ก็คงเสียดายเพราะนี่เป็นอาชีพที่เราทำมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าไม่ให้ใช้ลิงขึ้นจริง ๆ ผมก็จะไม่ให้ลิงของผมกับใครนะ ก็จะเลี้ยงดูเอง พาไปเที่ยว กินอยู่ด้วยกันจนเขาตาย ถึงไม่ทำให้เกิดรายได้แล้ว ผมก็จะไม่ทิ้งเขา"
"มันใช้งานได้" - Google News
August 14, 2020 at 11:03AM
https://ift.tt/31UfdZm
การใช้ลิงขึ้นมะพร้าว ภูมิปัญญาตามวิถีชาวบ้านหรือการทรมานสัตว์ - บีบีซีไทย
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การใช้ลิงขึ้นมะพร้าว ภูมิปัญญาตามวิถีชาวบ้านหรือการทรมานสัตว์ - บีบีซีไทย"
Post a Comment