Search

[Classic Review] iFi Audio : 'Retro' Stereo 50 & LS3.5 "All-in-One Vacuum Tube Amplifier & Compact 2-Way Loudspeaker" - AV Tech Guide

soho.prelol.com

ด้วยความที่ได้รีวิวสินค้าของ iFi Audio มาแล้ว 2 รุ่นทั้ง nano iDSD และ micro iDSD ยังไม่นับรวมแอคเซสโซรี่อีกจำนวนหนึ่งของยี่ห้อนี้ที่ได้ลองใช้งานมาบ้างมันทำให้ผมพอเข้าใจถึงเป้าหมายในการออกแบบสินค้าของยี่ห้อนี้มากเสียจนผมรู้สึกตัวเองน่าจะเป็นแฟนบอยของ iFi Audio ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

ที่ผ่านมาสินค้ายี่ห้อนี้เขาจะชัดเจนมากในแนวทางการออกแบบ กล่าวคือ เป็นสินค้าที่จับกลุ่มคนที่ชอบเล่น gadget และ hi-fi ในเวลาเดียวกัน เกือบทุกรุ่นถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดพกพาได้ หลายทุกรุ่นพยายามอัดแน่นความล้ำหน้าในเทคนิควิทยาการสมัยใหม่ให้มาชนิดที่เครื่องเสียงไฮไฟตัวโตกว่าต้องอายม้วนหลบชิดซ้ายไป เรียกว่าเล็กแค่ตัวแต่ความสามารถนั้นกลับสวนทางกัน

เมื่อไม่นานมานี้ทาง iFi Audio เพิ่งเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ออกมา เป็นเครื่องเสียงขนาดใหญ่กว่า hi-fi gadget ที่พวกเขาเคยทำแต่ก็ยังมีขนาดที่กะทัดรัดเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องเสียงฟูลไซส์ทั่วไป ที่สำคัญหน้าตาของมันดูดีมาก (อยากใส่ ก.ไก่ อีกสัก 10 ตัวเพื่อบ่งบอกความรู้สึกที่แท้จริง)

คือเป็นแนวหรูย้อนยุคแบบวินเทจสไตล์ เป็นอะไรที่ดูดีแบบไม้ ๆ หรูหราคลาสสิก และนั่นคือที่มาของเครื่องเสียงตระกูลใหม่จาก iFi Audio ที่มีชื่อว่า ‘Retro’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ย้อนยุค’

‘Retro’ Design
ในปัจจุบัน Retro Series มีเครื่องเสียงอยู่ 2 รุ่นได้แก่ อินทิเกรตแอมป์ Retro Stereo 50 และลำโพง Retro LS3.5 สองคู่หูดูโอ้ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดีเพราะคลานตามกันออกมาจากห้องวิจัยและพัฒนาของทาง iFi Audio เอง ขณะเดียวกันทั้งคู่ยังสามารถแยกวงไปหาคู่จิ้นของตัวเองได้ด้วยโดยไม่มีภาระผูกพันธ์ใด ๆ ซึ่งกันและกัน

ข้อควรทราบหรือทำความเข้าใจประการแรกก็คือ Retro Series ของทาง iFi Audio ไม่ใช่ลักษณะของการย้อนยุคแบบจับเอาของเก่า ๆ ของเดิม ๆ มาแต่งตัวเสียใหม่

หากแต่เป็นตรงกันข้ามซึ่งก็คือการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลออดิโอใหม่ ๆ ล้ำ ๆ มาคลุกเคล้าเข้ากับเทคโนโลยีอมตะที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตอย่างหลอดสุญญากาศและแผ่นเสียง ก่อนจะจับส่วนผสมทั้งหมดมาห่อหุ้มด้วยดีไซน์ที่มีกลิ่นอายย้อนยุคสมดังชื่อ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ปรากฏชัดเจนที่สุดใน Retro Stereo 50

‘Retro’ Stereo 50
Stereo 50 เป็นอินทิเกรตแอมป์แบบฟูลฟังก์ชันที่รับสัญญาณได้ทั้งอินพุต Phono, Analog Line Level และ Digital (USB, Coaxial/Optical, Bluetooth) มีวงจรโทนคอนโทรลพร้อมทั้งสวิตช์บายพาส และภาคขยายเสียงสำหรับหูฟัง เป็นแอมป์ที่มีคุณสมบัติมากมายอัดแน่นอยู่ภายในตัวถังขนาดย่อม มันเยอะเสียจนผมเป็นกังวลว่าจะพูดถึงมันได้ไม่ครบถ้วน

โดยหลัก ๆ แล้วมันทำหน้าที่เป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอที่ภาคขยายเสียงใช้หลอดสุญญากาศข้างละสามหลอด โดยมีหลอดประเภทไตรโอด/เพนโทด (ในหลอดเดียวกัน) เบอร์ ECF82 จำนวนหนึ่งหลอดทำหน้าที่เป็นภาคขยายส่วนหน้า

อีกสองหลอดคือหลอดเพนโทดเบอร์ EL84X ทำหน้าที่เป็นภาคเอาต์พุตแบบพุชพุลที่มีกำลังขับข้างละ 25 วัตต์ ตัวเลขกำลังขับนี้ทาง iFi แจ้งเอาไว้ว่าเป็นการวัดโดยการป้อนสัญญาณดนตรีจริง ๆ โดยต่อแอมป์เข้ากับลำโพงที่แมตช์กันแล้ววัดจุดที่สัญญาณเริ่มเกิด clipping

ภาคขยายแบบหลอดสุญญากาศในที่นี้ไม่เพียงแค่จ่ายกำลังออกไปให้ลำโพงทางขั้วต่อสายลำโพงด้านหลังเครื่องเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่จ่ายกำลังออกไปทางขั้วต่อเอาต์พุตหูฟังที่ออกแบบให้รองรับทั้งหูฟังความไวสูงและหูฟังความไวต่ำ ด้วยกำลังขับสูงสุด 7,000 มิลลิวัตต์หรือเทียบเท่ากับ 7 วัตต์

ซึ่งทางผู้ผลิตเคลมว่ากำลังขับระดับนี้สามารถขับหูฟังขาโหดทั้งหลายได้สบาย ๆ นอกจากนั้นเขายังแบ่งเอาต์พุตหูฟังบนหน้าปัดเครื่องออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งเป็นขั้วต่อหูฟัง 3.5mm (ขั้วเล็ก) สำหรับหูฟังความไวสูงทั้งหลาย อีกชุดเป็นขั้วต่อหูฟัง 6.3mm (ขั้วใหญ่) สำหรับหูฟังที่มีความไวระดับปกติจนถึงความไวต่ำ

นอกจากอินพุตสำหรับสัญญาณเสียงอะนาล็อกเหมือนในแอมป์ทั่วไปแล้ว ใน Stereo 50 ยังมีภาค D/A Converter (DAC) สำหรับเล่นกับไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงด้วยครับ โดยเฉพาะช่องอินพุต USB นั้นเรียกว่าจัดเต็ม

เพราะยกเอาเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ใน DAC/AMP รุ่น micro iDSD ซึ่งล้ำหน้าสุด ๆ มาปรับปรุงใช้ในแอมป์ตัวนี้ ดังนั้นมันจึงตอบสนองต่อสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงได้ล้ำหน้าไม่แพ้กันนั่นคือการรองรับสัญญาณ Native ของฟอร์แมต Octa-DSD512(24MHz), PCM768kHz, 2xDXD ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับสูงสุด ณ เวลานี้แล้ว

นอกจากนั้นภาคฟิลเตอร์ก็ยังคงได้รับการเอาใจใส่เหมือนที่พบได้ใน micro iDSD นั่นคือ ถ้าเล่นกับสัญญาณ PCM ระดับไม่เกิน 192kHz วงจรฟิลเตอร์จะเป็นดิจิทัลฟิลเตอร์แบบ Minimum phase เพื่อลดการเกิด ringing ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียงแข็งกระด้างไม่น่าฟัง

ในกรณีที่เป็นสัญญาณดิจิทัลที่มี sample rate สูงกว่า 192kHz หรือ DXD/2xDXD และ DSD วงจรฟิลเตอร์ที่ใช้จะเป็นวงจรอะนาล็อกฟิลเตอร์ล้วน ๆ ซึ่งทาง iFi เคลมว่าเทคนิคนี้จะทำให้สัญญาณที่ได้ปราศจากฟิลเตอร์โดยสิ้นเชิง

นอกจากภาคดิจิทัลโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในภาค DAC แล้ว อีกส่วนที่ดูเหมือนจะถูกยกมาจาก micro iDSD ด้วยก็คือวงจรปรับแต่งเสียงที่มีชื่อว่า ‘3D’ และ ‘XBass’ ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้อย่างละ 2 ระดับหรือเลือกปิดไม่ใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ก็ได้เช่นกัน

สำหรับภาคโฟโนที่มากับอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ พิจารณาจากคุณสมบัติของมันแล้วก็ดูจะไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าของแถมเลย เข้าใจว่าน่าจะยกเอาโฟโนปรีแอมป์รุ่น iPhono ของทาง iFi เองมาใส่ใน Stereo 50 นั่นแหละครับ

เพราะมันรองรับเกนขยายในช่วงกว้างสำหรับหัวเข็มทั้งชนิด MM และ MC อีกทั้งยังมี EQ ในมาตรฐานต่าง ๆ มาให้เลือกใช้งานอีกเพียบเช่น RIAA, Columbia, Decca, EMI, CCIR/Teldec หรือ DMM จะว่าไปแล้วโฟโนปรีแอมป์แยกชิ้นหลายรุ่นยังมีคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ครบเลยครับ

นอกเหนือจากเรื่องทางเทคนิคแล้ว ดีไซน์ที่สะดุดตาของ Stereo 50 ได้แรงบันดาลใจมาจากแอมป์หลอดยุคคลาสสิกอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นกรอบเฟรมไม้ที่ทำจากไม้แบมบูแท้ ๆ แผงหน้าปัดและลูกบิดที่ทำจากอะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีทองกุหลาบ (Rose Gold) หรือแม้แต่สวิตช์โยกแบบ toggle ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในแอมป์หลอดยุคคลาสสิก

ช่องระบายอากาศและรูพรุนรอบตัวเครื่องบ่งบอกชัดเจนว่าแอมป์หลอดตัวนี้น่าจะร้อนไม่เบาในเวลาใช้งาน ซึ่งหลังจากที่ได้ลองใช้งานมันก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ ดังนั้นห้ามเอาอะไรไปวางปิดทับช่องระบายความร้อนเหล่านี้โดดเด็ดขาดนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอกกันก่อน

นอกจากตัวเครื่อง Stereo 50 แล้วในกล่องใส่เครื่องยังมีแอคเซสซอรี่อื่น ๆ อีกจิปาถะให้มาพร้อมใช้งาน หลายชิ้นเป็นของคุณภาพดีเกินว่าที่จะพูดได้ว่าเป็นของแถม เช่น สายลำโพงที่เป็นสายเงินถักมาอย่างดิบดี เป็นต้น

‘Retro’ LS3.5
จากภาพโปรโมตตามเวบไซต์หรือโบรชัวร์สินค้ามันชัดเจนมากว่า Retro LS3.5 เป็นลำโพงที่ถูกสร้างมาเพื่อให้แมตช์กับ Stereo 50 โดยกำเนิด ชื่อรุ่นที่ชวนให้นึกถึงลำโพงคลาสสิกรุ่นหนึ่งที่กลายเป็นตำนานอย่าง BBC Monitor 3/5A นั่นก็เพราะว่ามันถูกออกแบบโดยมีเสียงของ 3/5A เป็นตัวตั้งต้น และทาง iFi ก็เคลมว่าด้วยเทคโนโลยีการผลิตไดรเวอร์ที่ห่างกันอยู่หลายสิบปีทำให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ของ 3/5A ไปแล้ว!

Retro LS3.5 เป็นลำโพงขนาดเล็ก 2 ทาง 2 ตัวขับเสียง ตัวตู้ลำโพงทำจากไม้แบมบู (Natural Bamboo) ขัดเรียบแล้วเคลือบผิวด้านเหมือนลำโพงราคาแพง ทาง iFi เคลมว่าตัวไม้แบมบูนี้มีน้้ำหนักเบากว่าแต่มีความแข็งแกร่งมากกว่าลำโพงตู้ไม้ทั่ว ๆ ไปถึง 3 เท่า ระบบเบสโหลดดิ้งเป็นระบบตู้เปิดแบบ P.G.A.H Voigt tuned Enclosure ด้านหลังเป็นช่องระบายอากาศแบบ Slot port เป็นช่องแคบ ๆ ยาวเกือบเท่าหน้ากว้างของตู้ลำโพง

ความน่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเพราะการออกแบบตู้ลำโพงของเขายังใช้หลักการ ‘Acoustic Active Tuning with minimal damping’ หรือการจูนที่ตัวตู้ลำโพงโดยตรงและใช้การแดมปิ้งให้น้อยที่สุด วิธีการของเขาคือการใช้ไม้ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีลักษณะเป็นแท่งขนาดสั้นยาวแตกต่างกันไปแปะเอาไว้ที่ผนังตู้ด้านในตามตำแหน่งที่ได้จูนเสียงเอาไว้

วิธีนี้เป็นหลักการเดียวกันกับการจูนเสียงของเครื่องดนตรีอะคูสติกอย่างเช่น กีตาร์โปร่ง นั่นเอง จากนั้นก็บุช่องว่างภายในตู้ด้วยวัสดุที่ทาง iFi เรียกว่า ‘Advanced amino-plastic open cell acoustic foam’ ซึ่งอ้างว่าช่วยให้การตอบสนองเสียงทุ้มออกมาดีที่สุดอีกทั้งยังได้เสียงกลางที่สะอาดสะอ้านอีกด้วย

สำหรับไดรเวอร์ที่ใช้ในลำโพงรุ่นนี้ทาง iFi ระบุว่าเป็นไดรเวอร์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นทวีตเตอร์โดมผ้าไหมขนาด 1.1 นิ้ว มิดเบสกรวยกระดาษเคลือบขนาด 4.5 นิ้ว ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 59Hz – 20kHz ความไว 90dB อิมพิแดนซ์เฉลี่ย 4 โอห์ม น้ำหนักลำโพงทั้งตัวหนักข้างละ 3.5 กิโลกรัม

นอกจากตัวลำโพงแล้ว ในกล่องที่ใส่มันมาผมยังพบหน้ากากลำโพงอีกหนึ่งคู่ที่เนื้อฟ้าเป็นสีเทาอ่อน ๆ ขณะที่หน้ากากที่มาพร้อมกับลำโพงนั้นเป็นเนื้อผ้าสีดำ เข้าใจว่าเขาให้มาเผื่อสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนหน้ากากให้สีมันเข้ากับการตกแต่งห้องหรือเปลี่ยนตามความพอใจส่วนตัวก็แล้วแต่ การเปลี่ยนก็ง่ายมากครับเพราะหน้ากากแปะเอาไว้ด้วยแรงแม่เหล็กเท่านั้นเอง เอาปลายเล็บงัดเบา ๆ ที่ขอบหน้ากากก็หลุดออกมาแล้วอย่างง่ายดาย

First Impression
อันที่จริงก่อนที่จะได้รับเครื่องมารีวิวในครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้เจอตัวจริงของ Retro ทั้งคู่ในงานโชว์เครื่องเสียง BAV ที่ผ่านมา ตัวจริงของมันสวยกว่าในรูปที่ผมเห็นก่อนหน้าพอสมควร แต่เรื่องของเสียงยังไม่ได้ประทับใจอะไรสาเหตุหลักเนื่องมาจากสถานที่ลองฟังนั้นไม่อำนวยเพราะเป็นที่เปิดโล่งและแวดล้อมไปด้วยเสียงรบกวนเซ็งแซ่ ดังนั้น first impression ระหว่างผมกับ iFi Retro จึงไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากการพบกันครั้งแรก

ตัดภาพกลับมาที่กองบรรณาธิการผมเปิดลังกระดาษสีขาวสองใบที่มีรูปกราฟฟิกของ Stereo 50 และ LS3.5 อยู่บนตัวกล่องออกมา สัมผัสแรกคือกลิ่นไม้แบมบูอ่อน ๆ (ที่จริงก็อยากเรียกว่าไม้ไผ่ตามคำแปลล่ะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าไผ่ของบ้านเขากับไผ่ของบ้านเรามันเหมือนกันไหม) แะภาพของตัวเครื่องกับตู้ลำโพงที่ห่อหุ้มด้วยเนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ๆ เป็นอะไรที่ช่างดูอบอุ่นนุ่มนวลเสียเหลือเกิน

หลังจากอ่านคู่มือใช้งานและสำรวจรอบ ๆ ตัวเครื่องทั้งสองคร่าว ๆ ผมก็จัดแจงต่อใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ลำพังตัว LS3.5 นั้นไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าลำโพงทั่วไปหรอกครับ แต่ Stereo 50 นี่สิอาจจะต้องนั่งทำความเข้าใจกันเล็กน้อย

เพราะขั้วต่อ, สวิตช์ และไฟสัญลักษณ์บางส่วนมันถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกันระหว่างฟังก์ชันที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ขั้วต่ออินพุตดิจิทัล Coaxial กับ Optical, ขั้วต่ออินพุตอะนาล็อกของช่องอินพุตที่ 1 และ 2 เลือกใช้งานได้ทั้งแบบ RCA และโฟนแจ็ค 3.5mm แต่ของอินพุต 2 จะแยกขั้ว 3.5mm ไปไว้ที่หน้าเครื่อง หรือขั้วต่ออินพุตอะนาล็อกช่องที่ 3 ที่แบ่งกันใช้กับอินพุตโฟโนแบบ MC High หรือ MM โดยเลือกใช้จากปุ่มหมุนเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณซ้ายมือด้านหลังเครื่อง

ยังไม่หมดแค่นั้นครับ ยังมีเรื่องของสถานะไฟสีต่าง ๆ ที่คุณอาจจะจำเป็นต้องทราบด้วย ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือการใช้ปุ่มปรับโทนคอนโทรลมาตั้งค่า EQ ของภาคโฟโน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มองได้สองมุมล่ะครับ มุมหนึ่งคือความชาญฉลาดในการใช้งานปุ่มควบคุมที่สามารถทำงานซ้ำซ้อนได้กันช่วยให้ไม่ต้องมีปุ่มควบคุมมากมายจนดูรกตา

แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับบางคนก็อาจจะมองว่าเป็นความไม่สะดวกในการทำความเข้าใจได้ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ดีทาง iFi เขาคงทราบปัญหานี้ดีเลยให้ตัวช่วยมาเป็นแผ่นกระดาษแข็งสองใบที่ให้มาเป็น Quick Start Guide เป็นอะไรที่ช่วยเหลือได้มากพอสมควร ดังนั้นการใช้งานในช่วงนี้แผ่นกระดาษทั้งสองใบจึงอยู่ไม่ห่างตัวเครื่องเลยครับ

ในรีวิวนี้ผมมีโอกาสได้ลองฟังภาคโฟโนของ Stereo 50 เพียงคร่าว ๆ เนื่องจากโอกาสไม่อำนวยนัก โดยฟังผ่านเทิร์น Thorens TD203 ที่เปลี่ยนหัวเข็มเป็นของยี่ห้อ SoundSmith รุ่น Carmen สุ้มเสียงที่ออกมาไม่มีปัญหาอะไรเลย เกนขยายเหลือเฟือ น้ำเสียงมีสมดุลของโทนเสียงที่ดีเยี่ยม

ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าในซิสเตมนี้ต้องไปขวนขวายหาโฟโนปรีแอมป์แบบแยกชิ้นที่ไหนมาใช้อีกเลย มันให้ความสุขที่กำลังลงตัวพอดิบพอดีอยู่แล้วครับ ที่สำคัญเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันให้เสียงดีกว่าตอนที่ได้ฟังในงานเครื่องเสียงเมื่อคราวก่อนมาก ๆ ครับ ใครที่ได้ฟัง Retro ในงานโชว์ที่ว่าผมแนะนำให้ลบประสบการณ์นั้นออกไปจากความทรงจำโดยด่วน

มาดูการเล่นเพลงจากแหล่งสัญญาณดิจิทัลกันบ้าง เรียบง่ายและทันสมัยที่สุดเห็นจะเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สายบลูทูธที่ทาง iFi เลือกใช้การเข้ารหัวที่นิยมใช้กันแพร่หลายวงการไฮไฟอย่าง aptX มันเป็นระบบไร้สายที่เสียงดีพอสมควรเหมือนที่ผมคุ้นเคย มันจับคู่กับแท็ปเล็ตหรือสมาร์ตโฟนได้ง่ายด้วยวิธีการ pairing ธรรมดา และง่ายกว่านั้นสำหรับเครื่องที่มีระบบ NFC

ปัญหาเดียวที่ผมเจอคือการเล่นเพลงกับอุปกรณ์รุ่นเก่าอย่าง iPhone4s นั้นเสียงเพลงจะมีการสะดุดติดขัดเหมือนการรับส่งสัญญาณมีปัญหาแม้ว่าผมจะยืนอยู่ใกล้ ๆ เสาอากาศทางด้านหลังตัวเครื่อง Stereo 50 ก็ตาม แต่กับ iPhone 6 ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นเลย ถ้านี่คือความปกติ เข้าใจว่าคงเป็นเพราะทาง iFi เขาจูนแบนด์วิดธ์ให้เน้นไปที่คุณภาพเสียงมากกว่า

ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปสำหรับระบบไร้สายว่ามันต้องแลกมาด้วยความสามารถในการเชื่อมต่อที่ลดลงจึงเป็นปัญหากับสมาร์ตโฟนรุ่นเก่าอย่าง iPhone4s นั่นเอง

ดังนั้นหลังจากการลองฟังจาก source ต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่าฟังก์ชันใน Stereo 50 สามารถใช้งานได้จริงแล้ว มากกว่า 60-70% ของรีวิวนี้จะเป็นการใช้งานอินพุต USB เล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ Mac mini เป็นหลัก ทั้งเล่นจากโปรแกรมเล่นเพลงแบบออฟไลน์ตามปกติเช่น Audirvana Plus หรือทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ (TIDAL) โดยใช้โปรแกรม Roon

สำหรับการควบคุมสั่งงานที่ตัวเครื่อง Stereo 50 นอกจากการสั่งงานโดยตรงที่ตัวเครื่องแล้ว เขายังมีรีโมตคอนโทรลพลาสติกเล็ก ๆ แบบไร้สายอินฟราเรดมาให้ใช้ควบคุมความดัง-เบาของเสียงมาให้ด้วยครับ แต่ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบใช้เพราะมันคุมได้แค่ความดัง หรืออาจจะเป็นเพราะผมใช้งาน Stereo 50 แบบวางใกล้ ๆ ตัวด้วยกระมังครับ ใช้มือหมุนเอาก็สะดวกแถมยังได้ฟิลลิ่งมากกว่า

เสียงดีโดยไม่ต้องมีตัวช่วย
เวลาร่วม 1 เดือนเต็ม ๆ ในการฟังเพื่อการรีวิวเครื่องเสียงชุดนี้ทำให้ผมมั่นใจที่จะบอกว่านี่คือเครื่องเสียงชุดเล็กที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ในด้านการถ่ายทอดความเป็นดนตรี มันเสียงดีได้โดยไม่ต้องอาศัยการปรับแต่งโทนคอนโทรลหรือฟังก์ชัน 3D และ XBass ช่วยแต่อย่างใด ถือว่าฟังก์ชันเหล่านี้เอาไว้ใช้เป็นทางเลือกในกรณีที่อยากลองหรือจำเป็นต้องใช้ก็แล้วกันครับ (ในคู่มือมีแนะนำไว้เล็กน้อย)

แต่ด้วยลักษณะที่ผมใช้งานเป็น desktop audio นั่งฟังกันในระยะไม่ห่างจากตัวเครื่องและลำโพงมากนัก ผมสามารถฟังเครื่องเสียงชุดนี้ได้อย่างมีความสุขในขณะที่ไม่ใช้งานฟังก์ชันปรุงแต่งเสียงเหล่านั้นเลย ในที่นี้มันจึงเป็นส่วนเกินสำหรับผม แต่มันอาจจะเป็นตัวช่วยสำหรับคุณก็ได้นะครับ ยังไงเขาก็ให้มาแล้วลองแล้วชอบแบบไหนก็ใช้อย่างนั้นแหละครับ ก็มันเลือกได้นี่หน่า

เสียงที่ได้จาก Stereo 50 และ LS3.5 ฟังแล้วไม่ต้องสงสัยเลยครับว่ามันเป็นเนื้อคู่กันหรือเปล่า มันใช่เลย เป็นเครื่องเสียงที่ผมใช้ฟังเพลงหลากหลายมาก ๆ มากเสียจนรับรู้ได้ว่ามันเด่นมากที่เสียงกลาง เป็นความเปิดกระจ่าง สดใส ในขณะที่มีสมดุลเสียงดีเยี่ยม มิติเสียงดีมากสมกับที่เป็นลำโพงเล็ก

และที่คุยว่าลำโพงคู่นี้พัฒนาต่อมาจาก BBC LS3/5A ลองฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะเกินจริงไปมากนัก อย่างน้อยมันก็เล่นได้ดังกว่าและไม่แป้กง่ายเหมือน 3/5A ทุ้มก็มีเนื้อมีหนังมากกว่าด้วยครับ

เสียงทุ้มของลำโพงเล็ก ๆ คู่นี้อาจจะไม่ได้ออกแนวตึงตังหรือฟังสะดุดหูมากนัก แต่มันไม่ใช่ลำโพงประเภทที่ขาดแคลนเสียงทุ้มแน่นอนครับ มันมีทุ้มและลงได้ลึกพอสมควรด้วย ลักษณะของเสียงทุ้มจะเป็นลักษณะของเสียงทุ้มที่นุ่มนวล อิ่มแต่ไม่ถึงกับหนาแน่นเข้มข้น เรียกว่าฟังเพลงร็อคได้ไม่ขัดหูก็แล้วกัน เปิดฟังเบา ๆ แบบเอาเพลินได้สบาย ๆ หรือจะเร่งดังให้ฟังสนุกก็ยังรับใช้กันได้ไม่ถึงกับอั้นตื้อหรือแป้กกันง่าย ๆ

แต่อย่างไรก็ดีอย่าไปคาดหวังว่ามันจะตอบสนองได้อย่างถึงใจโดยไม่มีข้อจำกัดเลยนะครับ มันแค่ทำได้เกินตัวไปพอประมาณเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ตามสรีระของมัน เวลาฟังร็อคหรือเฮฟวี่เมทัลก็เป็นความสนุกแบบย่อส่วนลงมาสักหน่อยล่ะครับ แต่ที่ต้องชมเชยคือไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังพยายามคุมโทนรักษาคุณงามความดีในน้ำเสียงของมันอยู่ได้ ต้องยอมรับว่าเขาจูนเสียงมาได้เนี้ยบจริง ๆ

อีกส่วนหนึ่งของความดีความชอบ คงต้องยกให้ Stereo 50 ที่เปรียบเสมือนตัวนำพาสัญญาณต้นน้ำและขุมพลังในการผักดันความเป็นดนตรีผ่าน LS3.5 ออกมา ผมรู้สึกว่ามันเสียงดีมาก มากพอ ๆ กับความร้อนที่แผ่ออกมาตัวรอบแม้ว่าจะใช้งานในห้องแอร์ก็ตาม มันร้อนเหมือนแอมป์คลาสเอ มันเสียงดีมากและมากเป็นพิเศษเมื่อผมฟังดนตรีที่เป็นอะคูสติก

มันส่งผ่านความอ่อนโยน ความนุ่มนวลสดใสของเสียงเปียโน ไวโอลิน หรืออะคูสติกกีตาร์ ที่ทำให้โสตประสาทของผมตื่นรู้ กำซาบ และปล่อยอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับบทเพลงและดนตรีได้อยู่เสมอ ๆ ตลอดช่วงเวลาของการใช้งาน บ่อยครั้งที่มันย่อส่วนวงดนตรีมาบรรจงวางไว้บนโต๊ะทำงานของผม ซึ่งประสบการณ์นี้แตกต่างจากการฟังเพลงบนโต๊ะทำงานด้วยหูฟังที่ผมคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง

ทว่าในบางครั้งที่จำเป็นจะต้องฟังเพลงจากหูฟัง Stereo 50 ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วงแรกที่ใช้งานผมเกือบลืมไปแล้วว่ามันสามารถทำหน้าที่เป็นแอมป์หูฟังหลอดแท้ ๆ ได้ด้วย เมื่อเสียบหูฟังเข้าไปมันจะตัดเสียงที่ออกลำโพงอัตโนมัติ

ลำพังแค่ใช้งานเฉพาะของแอมป์หูฟัง บอกได้เลยครับว่าแอมป์หูฟังตัวนี้คุณภาพเข้าขั้นดีเลิศ ใครที่ซื้อ Stereo 50 ไปเท่ากับว่าคุณได้ทั้งแอมป์หลอดสำหรับใช้งานกับลำโพงขนาดย่อมและแอมป์หลอดชั้นดีสำหรับหูฟังอยู่ในเครื่องเดียวกัน มันเสียงดีเหมือนข้างต้นที่ผมได้เรียบเรียงความรู้สึกบอกคุณผ่านตัวหนังสือไปแล้ว แถมยังใช้งานกับหูฟังได้ตั้งแต่หูฟังเอียร์บัดตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงหูฟังฟูลไซส์ พวกฟูลไซส์ความไวต่ำก็ยังเอาอยู่ ดังนั้นห้ามคิดว่ารูเสียบหูฟังใน Stereo 50 เป็นของที่เขาแถมมาให้งั้น ๆ โดยเด็ดขาด !

ลองฟังกับลำโพงอื่น
ที่จริงด้วยกำลังขับที่มีจำกัดอยู่แค่ข้างละ 25 วัตต์ การซื้อ Stereo 50 พร้อมกับ LS3.5 จึงเป็นการการันตีแบบมั่นใจได้ 100% ว่ามันจะเข้ากันได้และเสียงดีด้วย แต่จากที่ได้สอบถามทางตัวแทนจำหน่ายในเวลานั้น ทำให้ทราบว่าชุด iFi Retro นี้สามารถซื้อได้ทั้งเป็นชุดแอมป์กับลำโพง หรือจะซื้อแยกกันก็ได้

ผมว่าออปชันนี้น่าสนใจเลยโดยเฉพาะตัว Stereo 50 ที่นอกจากจะใช้งานในลักษณะ desktop audio ได้แล้วยังสามารถนำไปใช้งานในห้องขนาดย่อม ๆ หรือในมุมเล็ก ๆ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจภายในบ้านได้ด้วย

ในกรณีนี้ผมได้ลองยก Stereo 50 ไปใช้งานกับลำโพง Wharfedale Diamond 121 ซึ่งเป็นลำโพงเล็กยอดนิยมอีกรุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า LS3.5 เล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่าพอสมควร พบว่ามันเข้ากันได้ดีกับ Stereo 50 เลยครับ น้ำเสียงไปด้วยกันได้ดีเลย น้ำเสียงที่ได้ลดทอนความโปร่งพลิ้วหวานลงไปบ้าง

แต่แลกกลับมาด้วยดุลน้ำเสียงที่ทุ้มนุ่มขึ้นรวมถึงเนื้อเบสที่เข้มข้นขึ้นเล็กน้อยโดยรวมฟังเพลงร็อคหรือดนตรีที่มีบีทหนัก ๆ ได้สนุกข้ึนพอสมควร แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนฮาร์มอนิกส์ในย่านความถี่สูงจากดนตรีอะคูสติกไม่ได้แจกแจงออกมาได้ครบถ้วนเท่ากับตอนที่ Stereo 50 ได้จับคู่กับลำโพงของเขาเอง

ในส่วนนี้ก็ให้ไว้เป็นไอเดียนะครับ ผมคิดว่ายังน่าจะมีลำโพงเล็กอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือกสำหรับ Stereo 50 อยู่อีกพอสมควร แต่ถ้าไม่อยากไปวุ่นวายเสียเวลาจับคู่ ก็ลำโพง LS3.5 นี่แหละครับที่ฟังดีเหลือเฟือแล้ว

Modern Retro Hi-Fi
หลังจากที่ได้ลองเล่นลองฟัง iFi Audio Retro ทั้งสองรุ่น ผมคิดว่ามันเป็นคนละอารมณ์กับการเล่นของเก่าย้อนยุคแบบที่คนนิยมเครืื่องเสียงวินเทจเขาไปตามหามาเล่นกัน

แต่ Retro ทำให้ผมนึกถึงรถยนต์มินิคูเปอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่นำเอา passion หรือความลุ่มหลงในอดีตของรถมินิคูเปอร์ยุคดั้งเดิมมาคลุกเคล้ากับประดิษฐกรรมสมัยใหม่ที่ล้ำหน้า ใส่ดีไซน์ที่ดูร่วมสมัยเข้าไปจนทำให้ได้ส่วนผสมใหม่ที่มีกลิ่นอายของความคลาสสิกกลมกลืนอยู่กับความไฮเทค

แต่ด้วยความที่ Retro เป็นเครื่องเสียง ลำพังแค่ดีไซน์คงไม่มากพอจะใช้พิจารณาคุณค่าในงบประมาณ 7 หมื่นกว่าบาทได้ถ้าไม่ได้ฟังเสียงของมันด้วย จากที่ได้ลองฟังมาตลอด 1 เดือนเศษ ผมคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความลงตัวและง่ายที่สุดสำหรับคนที่ชอบฟังเพลง

ทั้งแบบเอาฟังเพลินหรือฟังเอาเนื้อหาสาระจริง ๆ ของดนตรี โดยไม่เกี่ยงด้วยต่างหากว่าคุณจะฟังจากระบบเสียงอะนาล็อกที่สุดแสนคลาสิกอย่างแผ่นเสียงหรือฟังจากไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงที่สุดแสนจะไฮเทค หากถามว่ายังมีเครื่องเสียงตัวไหนอีกไหมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนเบ็ดเสร็จอยู่ในเครื่องเดียวกัน ในวินาทีนี้ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ครับ


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

Let's block ads! (Why?)



"มันใช้งานได้" - Google News
July 12, 2020 at 08:50PM
https://ift.tt/2AWn932

[Classic Review] iFi Audio : 'Retro' Stereo 50 & LS3.5 "All-in-One Vacuum Tube Amplifier & Compact 2-Way Loudspeaker" - AV Tech Guide
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "[Classic Review] iFi Audio : 'Retro' Stereo 50 & LS3.5 "All-in-One Vacuum Tube Amplifier & Compact 2-Way Loudspeaker" - AV Tech Guide"

Post a Comment

Powered by Blogger.