Search

อุปกรณ์กล Antikythera กับการวิจัยโบราณคดีใต้ทะเล - ผู้จัดการออนไลน์

soho.prelol.com

นักท่องเที่ยวชม Antikythera ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ (REUTERS/Alkis Konstantinidis)
วันหนึ่งในฤดูในไม้ร่วงก่อนจะถึงเทศกาลอีสเตอร์ปี 1900 เพียงเล็กน้อย ขณะเรือเก็บฟองน้ำของชาวเกาะ Symi ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เดินทางถึงเกาะ Antikythera ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเกาะ Kythera กับเกาะ Crete เรือได้ถูกพายุพัดโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง จนกัปตันเรือ Dimitrios Kontos เกรงว่าเรือจะอับปาง จึงตัดสินใจนำเรือเข้าหลบในอ่าวของเกาะ Antikythera เป็นการชั่วคราว และคอยจนกระทั่งพายุสงบ Kontos จึงสั่งให้ลูกเรือลงน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาฟองน้ำเพิ่มเติมก่อนกลับบ้าน

Elias Stadiatis ซึ่งเป็นลูกเรือคนหนึ่ง จึงได้กระโจนลงน้ำตามคำสั่งกัปตันเรือ และพบว่าที่ระยะลึกประมาณ 42 เมตร แทนที่จะเห็นฟองน้ำเรียงรายที่ท้องทะเลอย่างดารดาษ เขากลับเห็นซากเรืออับปางลำหนึ่ง จึงว่ายน้ำเข้าไปใกล้ๆ และเห็นรูปปั้นทองสำริด ซึ่งมีแขนข้างหนึ่งหัก Stadiatis จึงนำแขนนั้นกลับขึ้นเรือ เพื่อให้กัปตันและเพื่อนๆ ดู จากนั้นทุกคนจึงตัดสินใจดำน้ำลงไปสำรวจเรือที่อับปาง และได้เห็นวัตถุมีค่ามากมาย เช่น รูปปั้นหินอ่อน รูปปั้นทองสำริด ไหเหล้าองุ่น อัญมณีล้ำค่า และเครื่องใช้ รวมถึงเหรียญตราจำนวนมาก กระจัดกระจายอยู่ในซากเรือ

หลักฐานเหล่านี้ทำให้นักดำน้ำทุกคนประจักษ์ว่า สิ่งที่เห็นเป็นซากเรือที่ได้อับปางลงในทะเลเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อใดไม่มีใครรู้ รวมทั้งไม่มีใครรู้ด้วยว่ามันเป็นเรือของชาติใด ใครเป็นผู้สร้าง และเรือกำลังเดินทางจากสถานที่ใดไปที่ใด กัปตันเรือ Kontos จึงตัดสินใจทำหนังสือขออนุญาตจากรัฐบาลกรีซ ให้นักประดาน้ำดำของตนลงไปขนทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา เพื่อนำมาประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ (National Archaeological Museum) ในกรุง Athens ของประเทศกรีซ

ขั้นตอนการขออนุญาต การตระเตรียมคน และอุปกรณ์ดำน้ำ รวมถึงการมีสภาพที่เหมาะสมของทะเลขณะขนสมบัติใต้ทะเลขึ้นบก ก็ต้องเอื้ออำนวย เงื่อนไขเหล่านี้ได้ทำให้โครงการขนโบราณวัตถุกว่าจะสามารถดำเนินการได้ เวลาก็ล่วงเลยถึงเดือนกันยายนปี 1901

ข่าวการพบสมบัติโบราณที่อยู่ใต้ทะเล Aegean ได้ทำให้ชาวกรีซทุกคนตื่นเต้นมาก หลายคนคาดหวังจะได้เห็นผลงานของศิลปินอัจฉริยะในสมัยก่อนคริสตกาล เช่น Phidias ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้สร้างมหาวิหาร Parthenon ด้านนักประวัติศาสตร์ก็ต้องการจะอ่านอักษรที่จารึกอยู่บนโบราณวัตถุเพื่อจะได้รู้ที่มาของเรือ รวมถึงรู้สาเหตุที่ทำให้เรืออับปางด้วย

จากบรรดาสมบัติทั้งหมดที่ถูกนำขึ้นมาเพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในกรุง Athens ไม่มีวัสดุใดมีค่าเทียบเคียงได้กับกล่องไม้กล่องหนึ่ง ซึ่งมีขนาด 31.5 X 20 X 10 เซนติเมตร และมีฝาปิด ภายในกล่องมีอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยล้อ เกียร์ ฟันเฟือง เข็มชี้ และแขนหมุนที่ถูกเรียงซ้อนกันบ้างและวางพาดตัดกันบ้าง และภาพผิวของอุปกรณ์กลที่มีคราบสนิมจับเขรอะ ได้ทำให้ทุกคนเห็นมันเป็นของเล่นที่เสียแล้ว จึงไม่มีใครให้ความสนใจในตัวกล่องเลย

จนกระทั่งวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1902 เมื่อ Valerios Stais ซึ่งเป็นนักโบราณคดีได้เปิดกล่องออกดู และหลังจากที่ได้พินิจพิเคราะห์การทำงานของอุปกรณ์ภายในกล่องร่วมกับ Derek Price แห่งมหาวิทยาลัย Yale ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็พบว่า เมื่อครั้งที่อุปกรณ์ยังสามารถทำงานได้ มันคงเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์ในสมัยกรีกโบราณเคยใช้คำนวณหาตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ ดวงจันทร์ รวมถึงดวงอาทิตย์ด้วย หรือมันอาจจะเป็นอุปกรณ์คำนวณรูปแบบอย่างง่ายๆ ที่นักคณิตศาสตร์ในสมัยนั้นใช้

ข่าวนี้จึงได้ทำให้ทุกคนหันมาสนใจอุปกรณ์ในกล่องทันที เพราะอุปกรณ์กลได้จมอยู่ใต้ทะเลในบริเวณใกล้เกาะ Antikythera ดังนั้นทุกคนจึงตั้งชื่อมันว่า อุปกรณ์กล Antikythera และได้พยายามประกอบชิ้นส่วนของอุปกรณ์นั้นให้สามารถทำงานได้อีก เหมือนดังที่นักประดิษฐ์ในอดีตได้สร้างไว้ แต่การจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานานได้ทำให้อุปกรณ์แตกแยกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จำนวน 75 ชิ้น กับชิ้นใหญ่ 7 ชิ้น การเห็นตัวอักษรที่เขียนจารึกบนกล่องเป็นภาษากรีกโบราณ (Corinth) ทำให้อุปกรณ์ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งที่วิศวกรกรีกเป็นคนสร้าง

แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน ปราชญ์กรีกโบราณไม่เคยใยดีเรื่องเทคโนโลยี แต่จะสนใจวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากกว่า จึงได้ทุ่มเทศึกษาด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ และไม่ได้ให้ความสำคัญในการสร้างอุปกรณ์เพื่อใช้ทำงานแทนคน อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมกรีกในสมัยนั้นนิยมใช้ทาสทำงานแทน และยังมีความเชื่ออีกว่าคนฉลาดคือคนที่ทำงานโดยใช้สมอง ส่วนคนโง่ใช้กำลังในการทำงาน ดังนั้นคนหลายคนจึงไม่เชื่อเรื่องความสามารถของคนกรีกในการสร้างเทคโนโลยี

เหมือนดังที่ประวัติวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ ได้กล่าวถึง Archimedes แห่งเมือง Syracuse ว่าเป็นผู้พบกฎการลอย-การจมของวัตถุในของเหลว อีกทั้งยังเป็นผู้ประดิษฐ์สกรู Archimedes ที่ใช้ในการวิดน้ำเข้านา และยังได้กล่าวถึง Hipparchus แห่งเมือง Rhodes ว่าเป็นนักดาราศาสตร์ผู้วาดภาพกลุ่มดาวต่างๆ ในท้องฟ้า และเป็นผู้วางรากฐานของการศึกษาวิชาตรีโกณมิติ รวมถึงได้เอ่ยถึง Ctesibius แห่งเมือง Alexandria ว่าเป็นผู้ประดิษฐ์นาฬิกาน้ำ ซึ่งทำงานโดยการปล่อยให้น้ำไหลออกจากรูเจาะที่ก้นภาชนะจนหมด แล้วกำหนดให้เป็นช่วงเวลาหนึ่ง ด้าน Ptolemy ก็เป็นผู้เสนอทฤษฎีดาราศาสตร์ที่ได้กำหนดให้โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ โดยมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรไปรอบโลก นอกจากนี้ก็มีปราชญ์กรีกชื่อ Anaximander ผู้วัดขนาดของโลกได้เป็นคนแรก รวมถึงได้มีการยกย่อง Euclid ว่าเป็นผู้เสนอทฤษฎีเรขาคณิตให้เราได้ใช้กันจนทุกวันนี้

สำหรับกรณีเรือที่ได้อับปางลงนั้น การศึกษาโครงสร้างและรูปร่างของเรือได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรือของชาวโรมัน การวัดอายุของไม้ที่ใช้สร้างเรือ แสดงให้เห็นว่าเรือได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 65±15 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจ และอาณาจักรโรมันได้ขยายอาณาเขตไปครอบครองชาติอื่นๆ โดยการรุกรานประเทศที่อยู่ใกล้เคียง เช่น กรีซและฝรั่งเศส ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงตั้งข้อสันนิฐานว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่พบในเรือ เป็นสมบัติที่ทหารโรมันยึดได้ในการทำสงครามกับชาวกรีก โดยเรือได้ออกเดินทางจากเมือง Pergamun ในตุรกีเพื่อเดินทางไปยังกรุง Rome ในประเทศอิตาลี และได้แวะผ่านเกาะ Rhodes ซึ่งเป็นเมืองสำคัญ เพราะ Rhodes นอกจากจะมี Hipparchus ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงแล้ว ยังมี Posidonius ซึ่งเป็นนักปรัชญาคนสำคัญก็พำนักที่นั่นด้วย ดังนั้น อุปกรณ์กล Antikythera จึงอาจเป็นผลงานที่ Hipparchus ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างไม่มากก็น้อย แต่ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนกล่องของกลไก Antikythera เป็นภาษา Corinth ของชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซเมื่อประมาณหนึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาล และหน้าปัดของอุปกรณ์แสดงคาบเวลาทุก 4 ปี ที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กับการแข่งขันกรีฑาชื่อ Naa ซึ่งถูกจัดขึ้นโดยเฉพาะที่เมือง Dodona

แต่ Attilio Mastrocinque แห่งมหาวิทยาลัย Verona ในประเทศอิตาลีกลับคิดว่าอุปกรณ์กลนี้อาจถูกขโมยไปจากพระราชวังของกษัตริย์ Mithridates แห่งเมือง Sinope ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลดำ และนักภูมิศาสตร์กรีกชื่อ Strabo ได้เคยลงบันทึกว่า นายพลโรมัน Lucullus สามารถยึดอุปกรณ์ลึกลับชื่อ ทรงกลม Billarus ได้เมื่อกองทัพกรีกบุกเข้ายึดเมือง Sinope แต่กลับไม่มีใครเคยเห็นทรงกลมนั้นเลย ดังนั้น Maltrocinque จึงคิดว่า คงเพราะอุปกรณ์ดังกล่าวได้จมลงในทะเลใกล้เกาะ Antikythera แล้วนั่นเอง

ปัจจุบันอุปกรณ์กล Antikythera นับเป็นวัตถุมีค่าควรเมือง และได้ถูกนำออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติในกรุง Athens แม้จะได้จมอยู่ในทะเลเป็นเวลานานร่วม 2,000 ปี แต่ก็ยังมีความสำคัญและความน่าสนใจ เพราะได้ทำให้นักประวัติวิทยาศาสตร์หวนกลับแก้ไขความเข้าใจผิดที่เคยคิดว่าชาวกรีกโบราณไม่สนใจเทคโนโลยี และนิยมใช้ทาสทำงานแทนคน อีกทั้งมักใช้เทคโนโลยีรูปแบบง่ายๆ เช่น เกียร์คู่ ในการเปลี่ยนความเร็วเชิงมุมของอุปกรณ์หมุน และด้าน Hero แห่งเมือง Alexandria ก็ได้สร้างเครื่องจักรไอน้ำแบบง่ายๆ และ Vitruvius ได้ออกแบบสร้างอุปกรณ์วัดระยะทาง โดยการนับจำนวนรอบที่ล้อรถม้าหมุนไป

สำหรับความรู้ทางดาราศาสตร์ในสมัยนั้น ก็มีว่าโลกคือศูนย์กลางของเอกภพ และดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรรอบโลก ตามแบบจำลองของ Hipparchus ซึ่งได้อธิบายวงโคจรของดาวเคราะห์บางดวงว่าเป็นแบบ epicycle (epicycle เป็นวงกลมที่มีจุดศูนย์กลาง ซึ่งเคลื่อนที่เป็นวงกลมรอบโลก) ดังเช่น กรณีดาวพุธกับดาวศุกร์ แต่ในเวลาต่อมา Claudius Ptolemy ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ได้เสนอแบบจำลองของเอกภพใหม่ว่าประกอบด้วยดาวเคราะห์ 5 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ที่โคจรรอบโลก แบบจำลองนี้ได้เป็นที่ยอมรับจนกระทั่งถึงยุคของ Nicolaus Copernicus ซึ่งได้เสนอแบบจำลองใหม่ที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแบบจำลองของ Ptolemy ก็ถูกยกเลิกไป

ในความพยายามจะพยากรณ์ตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ ในท้องฟ้า โดยใช้อุปกรณ์ดาราศาสตร์ Marcus Cicero ซึ่งเป็นปราชญ์ในคริสต์ศตวรรษแรกได้กล่าวถึงอุปกรณ์ที่ Poseidonius สร้างว่า สามารถใช้ทำนายตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทั้งห้ารวมถึงดวงจันทร์ได้ Archimedes เองก็เคยกล่าวว่า ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่แสดงวิถีโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 5 แต่อุปกรณ์นั้นได้สูญหายไปตั้งแต่เมื่อ 212 ปีก่อนคริสตกาล เพราะนคร Syracuse ที่ Archimedes อาศัยอยู่ได้ถูกกองทัพโรมันยึดครอง

ในการวิเคราะห์การทำงานของอุปกรณ์กล Antikythera ด้วยเทคโนโลยี linear tomography รังสีเอ็กซ์เพื่อบอกตำแหน่งและลักษณะการทำงานของเกียร์แต่ละชิ้น ภาพถ่ายได้แสดงให้เห็นว่าชาวกรีกโบราณมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรกลพอสมควร และได้ถ่ายทอดเทคนิคนี้ต่อให้แก่ปราชญ์อาหรับโดยเฉพาะ al-Biruni ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ ค.ศ. 1000
ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งใช้เครื่องจักร เช่น รถไฟ รถยนต์ เรือกลไฟ ฯลฯ ตลอดจนกระทั่งหุ่นยนต์ได้ถือกำเนิดมาจากของเล่น เช่น นาฬิกา อันเป็นผลิตผลของเทคโนโลยีที่ได้ถือกำเนิดจากอุปกรณ์กล Antikythera อีกทอดหนึ่ง

ในหนังสือ Decoding the Heavens: Solving the Mystery of the World’s First Computer ซึ่งผู้เรียบเรียง คือ Jo Marchant และจัดพิมพ์โดย William Heinemann/DaCapo Press ในปี 2008/2009 ผู้เขียนได้กล่าวถึง Arthur C. Clark ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงว่า ถ้าโลกได้รู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของกรีกในการสร้างอุปกรณ์กล Antikythera เมื่อ 2,000 ปีก่อนนี้อย่างทันที มนุษย์คงสามารถเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ นอกระบบสุริยะได้แล้ว เพราะความสามารถในการสร้างอุปกรณ์กล Antikythera สามารถเทียบได้กับการสร้างนาฬิกาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

Marchant ได้ตั้งข้อสังเกตอีกหลายประการว่า การศึกษาจารึกภาษากรีกบนหน้าปัดของอุปกรณ์กล Antikythera แสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล และการวัดอายุของวัตถุอื่นๆ ที่ตกอยู่ในเรือยังแสดงให้เห็นอีกว่า ไหเก็บน้ำได้ถูกปั้นขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนเหรียญเงินและเหรียญทองแดงที่พบจำนวนมากแสดงให้รู้ว่าเรือได้จมลงเมื่อ 70-60 ปีก่อนคริสตกาล ขณะเดินทางจากเมือง Pergamon ในตุรกีไปโรมในอิตาลี

ในเบื้องต้นนักโบราณคดีหลายคนคิดว่า อุปกรณ์กล Antikythera เป็นอุปกรณ์ดาราศาสตร์ในทำนองเดียวกับ astrolabe ซึ่งทำงานโดยไม่ใช้เกียร์ แต่นักโบราณคดีชื่อ Derek de Solla Price คิดว่ามันเป็นเครื่องคำนวณเวลา ครั้นเมื่อได้วิเคราะห์จำนวนฟันเฟืองบนเกียร์ต่างๆ ก็พบว่าอุปกรณ์ไม่สามารถใช้แทนปฏิทินได้ ดังนั้น Price จึงคิดว่าอุปกรณ์กล Antikythera ใช้อธิบายการโคจรของดาวเคราะห์มากกว่า และอาจใช้ทำนายเวลาที่เกิดอุปราคาด้วย

ในส่วนของปริศนาที่ว่า ใครคือผู้สร้างอุปกรณ์กลนั้น Marchant คิดว่า Archimedes แห่งเมือง Syracuse ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อสามศตวรรษก่อนคริสตกาล คงมีอิทธิพลทางความคิดในการสร้าง และนักดาราศาสตร์ชื่อ Hipparchus แห่ง Rhodes ก็คงมีบทบาทในการสร้างแรงดลใจให้ผู้ประดิษฐ์เช่นกัน แต่อาจเสียชีวิตไปก่อนที่อุปกรณ์นี้จะเริ่มทำงาน สำหรับนักปรัชญา Posidonius แห่ง Rhodes นั้น ก็คงมีบทบาทไม่น้อยในการสนับสนุนการสร้างอุปกรณ์กล เพราะศิษย์ของ Posidonius ชื่อ Marcus Cicero เมื่อ 2,100 ปีก่อน ได้เคยกล่าวถึงอุปกรณ์หนึ่งซึ่งใช้แสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวง เวลาที่จะเกิดอุปราคา และอุปกรณ์อาจจะเป็นปฏิทินบอกเวลาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในขณะเดียวกัน Antikythera ก็อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อให้โหรใช้ทำนายโชคชะตา เพราะ Hipparchus เป็นบุคคลที่เชื่อมั่นในโหราศาสตร์มาก หรืออาจทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ orrery ให้คนที่มีฐานะดีได้รับการศึกษาในสมัยกลาง เพื่อใช้ในการเรียนดาราศาสตร์ หรือ Antikythera อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชา และสรรเสริญเทพเจ้าแห่งดวงดาวในสวรรค์ก็เป็นได้

ด้าน Alexander Jones แห่ง Institute for the Study of the Ancient World ที่ New York กลับคิดว่า อุปกรณ์กล Antikythera สามารถเป็นปฏิทินที่ใช้กำหนดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งถูกจัดขึ้นในทุก 4 ปี ให้ประชาชนชาวกรีกจากทุกหนแห่งมาร่วมแข่งขัน โดยใช้หลักการว่า งานแข่งขันจะต้องจัดขึ้นในคืนเดือนเพ็ญที่ใกล้เวลา summer solstice มากที่สุด และการคำนวณเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ เพราะการแข่งขันโอลิมปิกเป็นการประลองความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งนับเป็นเกียรติมากที่สุดในสมัยนั้น และได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นก็ถูกจัดขึ้นเรื่อยมาก จนกระทั่งถูกยกเลิกไปโดยจักรพรรดิโรมันชื่อ Theodosius เมื่อประมาณ ค.ศ. 394

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้จมน้ำมาเป็นเวลานานรวม 2,000 ปี อุปกรณ์กล Antikythera ก็ได้พังสลายไปมากจนเหลือแต่ชิ้นส่วนดีๆ เพียง 82 ชิ้น โดยที่ผิวของแต่ละเศษชิ้นได้แตกแยกเป็นริ้ว ฟันเฟืองต่างๆ ก็ได้หักพังไปบ้าง นอกจากนี้ตัวอักษรก็ได้เลือนหายไปมาก ดังนั้นเวลาจะดูว่า อักษรเดิมเป็นเช่นไร นักโบราณคดีจำเป็นต้องใช้เทคนิค microfocus X-ray computed tomography โดยการฉายรังสีเอ็กซ์ทะลุผ่าน Antikythera ในระนาบบางๆ และได้พบว่า Antikythera สามารถใช้เป็นปฏิทิน และสามารถพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้พร้อมกัน

เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2016 ทีมวิจัยภายใต้การนำของ B. Foley แห่ง Woods Hole Oceanographic Institute ในรัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปที่เกาะ Antikythera อีก เพื่อค้นหากระดูกและ DNA ของผู้โดยสารเรือที่ได้จมน้ำตายไปเมื่อ 2,000 ปีก่อน โดยต้องการจะรู้ชาติพันธุ์ รูปลักษณ์ และถิ่นกำเนิดของคนเหล่านั้น

เมื่อถึงวันที่ 31 สิหาคม ทีมวิจัยก็ได้พบกระดูกหลายชิ้นฝังอยู่ในโคลนที่ระยะลึกประมาณครึ่งเมตร และอยู่ท่ามกลางชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักมากมาย จึงขุดนำขึ้นมาให้ Hannes Schroeder แห่ง Natural History Museum of Denmark ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ DNA โบราณศึกษา

นี่จึงเป็นการวิจัย DNA โบราณของกระดูกที่ได้จมอยู่ในน้ำเป็นเวลานานเป็นครั้งแรก เพราะตามปกตินักวิจัยจะกระทำโดยใช้กระดูกของมนุษย์ในยุคหินใหม่ที่อยู่บนบก ในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บของยุโรป แต่ในกรณีนี้ ซากศพคนจำนวนมากในเรืออาจถูกกระแสน้ำพัดพาจนสูญหายไป หรือตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำ แต่ทีมวิจัยก็โชคดีที่ได้พบชิ้นส่วนของกะโหลกที่มีฟันติดอยู่ 3 ซี่ กระดูกแขน 2 ชิ้น กระดูกซี่โครง และกระดูกสะโพก แทรกอยู่ท่ามกลางซากไหเหล้าองุ่น เครื่องประดับ หอกที่ทำด้วยทองสำริด 2 ด้าม สมอเรือ และลูกตุ้มขนาดใหญ่ที่ทำด้วยตะกั่ว ซึ่งมักใช้เหวี่ยงใส่เรือข้าศึก เพื่อทำให้เรือแตก

การพบกระดูกจำนวนหนึ่งตกอยู่ไม่ไกลจากซากเรือ แสดงให้เห็นว่า เมื่อวาระสุดท้ายของเรือมาถึง เรือซึ่งมีความยาวกว่า 40 เมตร มีดาดฟ้าหลายชั้น และมีผู้โดยสารหลายคนได้ถูกพายุซัดจนเรือกระแทกหินโสโครกและอับปางลงก่อนที่ผู้โดยสารหลายคนจะรู้ตัวและหนีทัน

กระดูกที่พบเป็นของลูกเรือที่อาจมีตั้งแต่ 15-20 คน เพราะเรือกรีกในสมัยนั้น นอกจากจะมีผู้โดยสารทั่วไปแล้ว ยังมีทาสด้วย และเหล่าทาสมักถูกล่ามด้วยโซ่ที่เท้า เพื่อให้อยู่แต่ในห้องขัง จึงไม่มีทางหนีได้เวลาเรือแตก และนี่ก็คือเหตุผลที่กระดูกบางชิ้นมีคราบเหล็กที่เป็นสนิมติดอยู่ และเหล็กอ็อกไซด์ทำให้กระดูกมีสีแดง

การวิจัยรหัสพันธุกรรม (genome) ของกระดูก ยังแสดงให้เห็นความหลากหลายทางพันธุกรรมของบรรดาลูกเรือว่า มีทั้งที่เป็นชาวอิตาเลียน ชาวกรีก และชาวตะวันออกใกล้

รวมถึงอาจมีคนๆ หนึ่งในเรือลำนั้น ซึ่งเป็นผู้สร้างอุปกรณ์กล Antikythera ด้วย

นับตั้งแต่มีข่าวการพบอุปกรณ์กล Antikythera ทุกคนในโลกโบราณคดีก็ได้ตื่นตัวมาก ในปี 1993 Filipe Vieira de Castro แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M ในสหรัฐอเมริกาได้ดำน้ำลงไปสำรวจใต้ทะเลใกล้กรุง Lisbon ในประเทศโปรตุเกส และได้เห็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ที่ผุพังหลายท่อนปักอยู่ในโคลนที่ระยะลึกประมาณ 10 เมตร จึงเข้าไปใกล้และพบว่ามันเป็นซากเรือโบราณของชาวโปรตุเกสที่มีชื่อเรียกว่า Indiaman ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน เพื่อใช้ในการเดินทางจากประเทศโปรตุเกสไปอินเดีย อันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ โดยใช้เส้นทางเรืออ้อมผ่านแหลม Good Hope เพื่อเข้ามหาสมุทรอินเดีย

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกลักษณะและรูปร่างของเรือ Indiaman ว่ามีขนาดใหญ่จนดูเสมือนเป็นเมืองลอยน้ำ เพราะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 450 คน

รายงานการพบซากเรืออับปางได้ชี้นำให้รัฐบาลโปรตุเกสริเริ่มโครงการวิจัยซากเรือลำนั้นในอีก 3 ปีต่อมา เพื่อศึกษาการออกแบบและความสามารถในการใช้ใบ รวมถึงความเร็วของเรือจนได้ข้อสรุปว่า แม้ Indiaman จะเป็นเรือที่มีอายุมาก แต่ก็ทันสมัย และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากจะได้พบซากเรือแล้ว ยังได้พบเหรียญโบราณ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของผู้คนในสมัยนั้น จนรัฐบาลโปรตุเกสต้องรีบนำสมบัติใต้ทะเลเหล่านั้นขึ้นไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่โจรประวัติศาสตร์จะขโมยไป

ตามปกติเวลาเกิดเหตุการณ์เรืออับปาง สรรพสิ่งในเรือไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในเรือ อาหาร และสินค้าที่เรือนำไปในการเดินทาง ก็จะจมตามลงไปด้วย ดังนั้นการวิเคราะห์ซากเรือ ตลอดจนสัมภาระจึงเปรียบเสมือนกับการได้เดินทางย้อนเวลาสู่อดีต ทำให้ได้รู้เทคโนโลยีการสร้างเรือ เส้นทางค้าขาย ชนิดของสินค้า ตลอดจนประเพณีของผู้คนในอดีต ทำให้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ศึกษาและต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล ในกรณีเรือโปรตุเกสที่จมในทะเลใกล้กรุง Lisbon รัฐบาลโปรตุเกสต้องใช้เงินมากถึง 18 ล้านดอลลาร์ในการยกซากเรือขึ้นมา โดยใช้เวลา 4 ปี และอีก 2 ปีต่อมา เพื่ออนุรักษ์ซ่อมแซม เพราะเวลาซากเรือได้รับอากาศที่ร้อนและชื้น ซากจะสลาย

นักประวัติศาสตร์ยังได้วิเคราะห์พบอีกว่า เรือที่จมชื่อ Our Lady of the Martyrs ซึ่งได้อับปางลงในปี 1606 ในเรือมีสินค้า เช่น พริกไทยและเครื่องลายครามที่มีลวดลายซึ่งระบุว่า ได้ถูกผลิตขึ้นในจีนตั้งแต่ปี 1600 นักประดาน้ำยังได้พบอุปกรณ์ astrolabe ที่ชาวเรือในสมัยนั้นใช้ในการหาทิศด้วย

หลังจากที่รู้ข้อมูลอย่างเพียงพอ วิศวกรเรือก็ได้จำลองรูปร่างและลักษณะของเรือ โดยการวัดขนาดและบันทึกรูปทรงของไม้ที่ใช้ต่อเรือทุกชิ้น จนได้ชื่อของบริษัทต่อเรือ และรู้แม้แต่ยี่ห้อของตะปูที่ใช้ตอก จนพบว่าเรือมีกระดูกงูยาว 28 เมตร มีเสากระโดงหลักที่ยาว 31 เมตร มีระวางขับน้ำ 250 ตัน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 450 คน รวมถึงสามารถบรรทุกเสบียงอาหาร น้ำและเหล้าองุ่นได้ประมาณ 292 ตันด้วย

รายงานที่เกี่ยวข้องกับเรือลำนี้ได้ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Historical Archaeology ในปี 2010 และนับเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ใต้ทะเลที่โดดเด่นมาก เพราะเป็นการวิจัยแรกที่ได้ทำให้คนทั้งโลกหันมาสนใจประวัติศาสตร์จากการศึกษาวัตถุใต้น้ำ

ในเวลาต่อมานักโบราณคดีใต้ทะเลชาวอิสราเอลก็ได้พบซากเรือที่บรรทุกซากต้นไม้ ซึ่งกะลาสีต้องการจะนำไปปลูกในบริเวณริมฝั่งทะเล Aegean และได้เห็นแท่งหินอ่อนที่หนัก 60 ตัน หลายแท่ง จมอยู่ในทะเล การวิเคราะห์อายุและองค์ประกอบของหินอ่อนทำให้รู้ว่า มันเป็นหินที่ได้มาจากเหมืองในประเทศตุรกี และเรือได้จมลงเมื่อ 2,000 ปีก่อน เพราะไอโซโทป C-13 และ O-18 ที่พบในหินอ่อน แสดงว่าเป็นหินที่ถูกสกัดมาจากเหมืองบนเกาะ Marmara ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน เมื่อ 130 ปีก่อนคริสตกาล ครั้นเมื่อได้พิจารณารูปทรงและขนาดของแท่งหินอ่อน นักโบราณคดีก็รู้ว่าหินอ่อนนั้น ได้ถูกนำไปสร้างมหาวิหาร Apollo ที่เมือง Claros เพราะที่นั่นมีผู้คนมากมายที่ชอบเดินทางมาฟังคำทำนายของศาสดาประจำวิหาร และนักขุดหินอ่อนแห่งเมือง Proconesos ในประเทศตุรกีได้ติดต่อกับสถาปนิกผู้สร้างมหาวิหารที่ Claros ซึ่งอยู่ห่างออกไป 500 กิโลเมตร ให้มารับหินอ่อนเป็นงวดๆ นั่นแสดงว่าการสร้างมหาวิหารต้องใช้เวลานาน

เมื่อมีการค้นพบวัตถุโบราณในทะเลมากขึ้น เช่นนี้องค์การ UNESCO จึงได้ออกกฎหมายห้ามการซื้อ-ขายวัตถุทั้งที่ถูกขโมย หรือถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในเวลาต่อมาประเทศที่มีโบราณวัตถุก็ได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมว่า แม้จะเป็นวัตถุที่ยังไม่มีใครพบมาก่อน วัตถุนั้นก็จะต้องเป็นสมบัติของชาติของคนที่พบด้วย กฎหมายนี้ทำให้ความรุนแรงและการระบาดของการโจรกรรมประวัติศาสตร์ลดลงได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลกำลังช่วยนักโบราณคดีให้สามารถค้นหาเรือที่จมในทะเลลึกได้ดีขึ้นมาก ดังนั้นในปี 2001 UNESCO จึงได้ออกกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของทุกชาติ โดยประกาศให้มีการอนุรักษ์ซากเรือโบราณ ห้ามการซื้อ-ขาย สรรพสิ่งที่พบในเรือ เพราะสิ่งเหล่านี้ทุกชิ้นมีคุณค่าทางจิตใจ วัฒนธรรม และอารยธรรมของมนุษย์ เมื่อถึงปี 2009 กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกบังคับใช้ หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้ลงนามและประชาชนเห็นด้วยว่า อะไรก็ตามที่พบในเรืออับปาง จะต้องไม่มีการนำไปประมูลขายทอดตลาดอย่างเด็ดขาด

นอกจากบุคคลในวงการโบราณคดีจะกังวลเรื่องการระบาดของโจรกรรมในทะเลแล้ว นักโบราณคดีเองก็ไม่วางใจเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อวัตถุโบราณ เพราะโจรอาจทำลายวัตถุไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รัฐบาลโปรตุเกสจึงได้จัดตั้งบริษัท Argueonautas Worldwide Argueologia Subaquatica Lisbon เพื่อตรวจสอบงานโบราณคดีใต้ทะเลทั่วโลก โดยบริษัทได้ยกซากเรือขึ้นจากทะเลประมาณ 20 ซากแล้ว ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้ช่วยประเทศที่ด้อยพัฒนา เช่น Mozambique โดยนำวัตถุใต้ทะเลของประเทศไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และได้ขาย astrolabe อายุ 300 ปี ที่พบนอกฝั่งของ Cape Verde ให้แก่พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาในราคา 2 แสนเหรียญ ซึ่งการขายนี้ได้ทำให้ประชากร Mozambique ไม่พอใจ ซึ่งรัฐบาลก็อ้างว่า ต้องการเงินเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังมีปัญหาต่ออีกว่า ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการสำรวจโบราณวัตถุใต้ทะเล ในกรณีของเรือ Victory ที่ได้จมลงในช่องแคบอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1744 พร้อมชีวิตกะลาสีกว่า 1,100 คน วันเวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงปี 2008 นักสำรวจของบริษัท Odyssey จึงได้เห็นซากเรือ Victory ในน้ำที่ระดับลึก 75 เมตร ดังนั้นหากจะว่าตามกฎหมายสากล ประเทศอังกฤษจะเป็นเจ้าของซากเรือ และได้ประกาศห้ามการซื้อ ขายสรรพสิ่งที่เป็นของเรือและอยู่ในเรือ

แต่เมื่อถึงในเดือนมกราคม 2012 รัฐบาลอังกฤษก็ได้ประกาศมอบซากเรือ Victory ให้แก่มูลนิธิ The Maritime Heritage โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่ต้องการใช้เงินภาษีของราษฎรไปในการบริหารจัดการซากเรือดังกล่าว

เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักโบราณคดีอังกฤษหลายคนไม่พอใจ เพราะเห็นว่า Odyssey เป็นบริษัทเอกชนที่มุ่งหากำไรจากการค้าวัตถุโบราณ ดังนั้น จึงไม่ควรเข้ามาจัดการทรัพย์สมบัติของชาติ

การศึกษาโบราณคดีใต้ทะเลจึงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะการสำรวจใต้น้ำได้ทำให้นักโบราณคดีพบซากเรือจำนวนมากขึ้นทุกวันทั้งในทะเล และมหาสมุทรทั้งหลายของโลก

อ่านเพิ่มเติมจาก Historical Archaeology โดย Charles F. Arsar Jr. จัดพิมพ์โดย Upper Saddle River, New Jersey: Pearson Education, Inc. ปี 2004

ซาก Antikythera ที่หลงเรือจากเรืออับปาง

Antikythera ที่สร้างขึ้นใหม่


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
July 04, 2020 at 01:35AM
https://ift.tt/3gpKpFz

อุปกรณ์กล Antikythera กับการวิจัยโบราณคดีใต้ทะเล - ผู้จัดการออนไลน์
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "อุปกรณ์กล Antikythera กับการวิจัยโบราณคดีใต้ทะเล - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.