Search

ประชุมสภา : เพื่อไทย-ก้าวไกล งดร่วม กมธ. รับฟังความเห็น "เยาวชนปลดแอก" ลั่นนายกฯ ต้องพบนักศึกษาโดยตรง - บีบีซีไทย

soho.prelol.com

อภิปรายในสภา

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 260 ต่อ 178 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจำนวน 39 คนขึ้นมารับฟังความเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของ ส.ส. รัฐบาลที่ให้ใช้ "เวทีสภา" แก้ปัญหา หลังเกิดการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน สภายังลงมติ 261 ต่อ 177 เสียง "ตีตก" ญัตติของฝ่ายค้านที่เสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดเวที เพื่อไม่ให้เยาวชนรู้สึกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ "ไม่จริงใจ เบี่ยงเบน ทำเป็นพิธีกรรม"

ผลที่เกิดขึ้น ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศกลางสภาไม่ขอส่งตัวแทนไปนั่งเป็น กมธ.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. และประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า สภาไม่ควรทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ แต่ควรให้รัฐบาลรับไปดำเนินการเลย อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับ กมธ. หลายชุดที่มีอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่า พท. เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่ไม่เชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี จึงเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ควรไปพบนักศึกษาโดยตรง

เช่นเดียวกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า ก.ก. ที่บอกว่า ปัญหาของนักศึกษาไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในสภา ควรเป็นปัญหาที่อยู่บนท้องถนนที่นายกฯ ต้องเข้าไปรับฟังโดยตรง จึงไม่ขอเสนอชื่อคนร่วมเป็น กมธ. เพราะข้อเรียกร้องทั้งหมดเป็นข้อเรียกร้องไปยังนายกฯ โดยตรง

สมาชิกสภาล่างใช้เวลา 2 วันในการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาพิจารณามีมติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 13.30 น. ของวันที่ 22 ก.ค.

จอแสดงผลการลงคะแนนเสียง

ญัตตินี้เสนอโดย ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 10 คน นำโดยนายจักรพันธ์ พรนิมิตร ซึ่งเสนอไว้ตั้งแต่ 28 ก.พ. ในคราวมี "แฟลชม็อบ" รอบแรก โดยอ้างถึงการนัดหมายจัดชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ใน 14 แห่งทั่วประเทศ จึงขอให้สภาเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา ก่อนส่งผลการพิจารณาให้รัฐบาลดำเนินการ

ต่อมามี ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลทยอยยื่น "ญัตติด่วน" ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันเพิ่มเติมรวม 6 ญัตติ ทว่าความแตกต่างอยู่ที่ "กลไก" ในการรับฟังเสียงสะท้อนของนักศึกษา โดยญัตติของฝ่ายค้านเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดเวที หรือให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินสายไปพบปะพูดคุยกับนักศึกษาโดยตรง ส่วนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ใช้กลไกสภาผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมารับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นการเฉพาะ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงสั่งให้รวมทั้งหมดมาพิจารณาในคราวเดียวกัน

protest

นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. พปชร. หนึ่งในเจ้าของญัตติ ได้ยก "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" มาแสดงความกังวลใจกลางสภา โดยกล่าวว่าการชุมนุมของนักศึกษาซึ่งอาจทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ บางครั้งถูกผู้ไม่หวังดีต่าง ๆ บิดเบือน ยุยง หรือปลุกปั่นให้การแสดงออกไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร จึงอยากให้สภาทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความคิดของเยาวชนที่อยู่ตามสถาบันต่าง ๆ มาสู่ระบบ แล้วสะท้อนไปให้ฝ่ายบริหารได้รับทราบ

ภท. เตือนอย่าผลักไสกลุ่มเห็นต่างไปยืนคนละมุม

ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะเสนอญัตติ เรียกร้องไปยัง "ผู้ถืออำนาจรัฐ" ให้เปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นทุกรูปแบบได้แสดงออกอย่างอิสระ สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย ทำให้รู้สึกว่าประเทศนี้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องอย่างมีเหตุมีผล ไม่มีอคติ ไม่ผลักไสให้กลุ่มที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไปยืนอยู่คนละพวกคนละมุม เพราะจะกลายเป็นไม้ขีดไฟก้านแรกที่นำพาไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม

ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลรายนี้ยังไล่เลียงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, 6 ต.ค. 2519, พ.ค. 2535 หรือการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ก่อนสรุปว่า "วินาทีที่รัฐบาลตัดสินใจจะลงมือกับพี่น้องประชาชน นั่นคือจุดจบของรัฐบาลนั้น ๆ ผู้นำรัฐบาลจะแปลงร่างจากวีรบุรุษไปเป็นทรราชย์ในเสี้ยววินาที" ขณะที่ฝ่ายประชาชน "ชัยชนะที่แลกมาด้วยคราบน้ำตาและรอยเลือด ไม่เรียกว่าชัยชนะหรอกครับ ผู้สูญเสียอาจถูกเรียกว่าผู้เสียสละและวีรชน แต่สุดท้ายคนที่เป็นแกนนำไม่เคยถูกเรียกว่าวีรชน เพราะแกนนำไม่เคยสูญเสีย" จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี ใช้เวทีสภาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกลไก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

ความเคลื่อนไหวของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้น ภายหลังมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค. โดยผู้จัดการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (Free Youth) และสหภาพ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ก่อนลุกลามไปอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับจากรัฐบาล ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา

แกนนำจัดการชุมนุมประกาศว่าจะหวนกลับมาชุมนุมอีกครั้ง หากรัฐบาลไม่ตอบสนองต่อ 3 ข้อเรียกร้องของพวกเขา ได้แก่ 1. ให้นายกฯ ประกาศยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส.ส. รัฐบาล-ฝ่ายค้านลั่น "ไม่กลัวยุบสภา" แต่ขอแก้ รธน. ก่อน

บรรดา ส.ส. ทั้ง ภท., พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคก้าวไกล (ก.ก.), พรรคเสรีรวมไทย (สร.) จึงใช้เวทีสภาประกาศสนับสนุนหนึ่งในข้อเรียกร้องของนักศึกษา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

"ภท. พวกผมไม่กลัวหรอกครับกับการยุบสภา เราพร้อม แต่ถามว่าหากยุบสภาตามข้อเรียกร้องวันนี้สิ่งที่ได้คืออะไร ได้ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่น้อง ๆ เรียกร้องไหม ไม่ใช่ครับ เพราะกติกาบ้านเมือง รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ องคาพยพยังไม่เอื้ออำนวยให้เป็นเช่นนั้น" นายภราดรกล่าว

นายภราดร ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่าสิ่งที่ กมธ. ทำทุกวันนี้ "ไม่เห็นช่องทางที่จะเดินหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" พร้อมเรียกร้องให้มีการสังคายนา โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเป็นกุญแจดอกแรกในการปลดล็อกไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

แฟลชม็อบ

เช่นเดียวกับ 3 ส.ส. พท. ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติเช่นกัน ทั้งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา, นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ และนายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ ต่างอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พร้อมตั้งคำถามว่า กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ทำงานไปถึงไหน เหตุใดจึงไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ต้องการให้แก้ไข "รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ทั้งที่ตัวแทนนักศึกษาเคยเข้าให้ความเห็นต่อ กมธ. เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

"ผมเห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะเลือกตั้งไปก็ได้เหมือนเดิม ได้ พล.อ. ประยุทธ์กลับมาเหมือนเดิม แล้วจะยุบทำไม อย่างน้อย ๆ ยังมีผู้แทนราษฎรเป็นลุง ป้า อา พ่อ ยังตะโกนเรียกร้องและคอยดูแลน้อง ๆ เรื่องสิทธิเสรีภาพได้บ้าง" นายครูมานิตย์กล่าว

ส.ส. พท. ต่างเรียกร้องให้เพื่อนร่วมสภาสนับสนุนแนวทางการให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีรับฟังนักศึกษา ไม่ใช่ใช้กลไกของสภา เพราะจะเป็นเพียงการ "เตะถ่วง" และ "ผิดที่ผิดทาง" เพราะคู่กรณีของนักศึกษาคือรัฐบาล ไม่ใช่สภา

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. อภิปรายว่า ถ้าพิจารณา 3 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษา จะพบว่าคนที่ต้องตอบคือรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ และถ้าตั้งผิด เด็กจะมองได้ว่า "ไม่จริงใจ เบี่ยงเบน ทำเป็นพิธีกรรม" โยนเรื่องมาให้สภา รัฐบาลก็ลอยตัวได้อีก นายกฯ ก็จะบอกว่าเป็นเรื่องของสภา

Parliament

ก้าวไกลติงรัฐบาลมี "ทัศนคติผิดพลาด" ต่อ นศ.

อีกพรรคฝ่ายค้านอย่าง ก.ก. ต่างอภิปรายสนับสนุนญัตติให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความเห็นของนักศึกษา พร้อมโจมตีรัฐบาลว่ามี "ทัศนคติผิดพลาด" ต่อขบวนการนักศึกษา ทั้งกรณีกล่าวหาว่ามีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง และมองการชุมนุมเท่ากับความไม่สงบ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หยุดยัดเยียดคดีความ หรือปิดกั้นการแสดงความเห็นต่าง

นอกจากนี้นักการเมืองใน ก.ก. ซึ่งเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อย่างนายณัฐวุฒิ บังประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังระบุด้วยว่า หลังจากวันที่คน 7 คนตัดสินคดียุบพรรคการเมืองเมื่อ 21 ก.พ. นักศึกษาก็ตื่นรู้ว่าไม่สามารถส่งต่ออนาคตให้ลูกหลานได้ และเกิดวลี "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ในระหว่างจัด "แฟลชม็อบ" ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยบางส่วนให้เหตุผลว่า "เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่"

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก.ก. อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะมองว่าเป็นระบบที่ถูกสร้างมาโดย "ไม้ใกล้ฝั่ง" ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอายุรวมกันเกินพันปี ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่มีส่วนร่วมเลย จึงต้องกลับมาทบทวนว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปลดปล่อยโซ่ตรวจเผด็จการ ให้คนรุ่นใหม่ได้สูดอากาศหายใจในแบบที่เขาต้องการ

นายรังสิมันต์ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาที่จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร 2557 ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กลไก กมธ. รับฟังความเห็นของนักศึกษา เพราะเหมือนเป็นการประวิงเวลา เอาความรู้สึกของคนที่กำลังโกรธแค้นไปขังเอาไว้ จึงเรียกร้องไปยังนายกฯ ว่าต้องไม่โยนบาปให้สภา และรับฟังนักศึกษา

ก่อน 14 ตุลา มี "3 ทรราชย์" มายุคนี้มี "3 ป."

ขณะที่ 2 ส.ส. ปชป. ผู้มีประสบการณ์เคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาได้ออกมาชี้จุดเหมือน-จุดต่างของการชุมนุมครั้งก่อน ๆ กับการชุมนุมของนักศึกษายุคปัจจุบัน โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และอดีตแกนนำ กปปส. ชี้ว่าธรรมชาติการชุมนุมหลังปี 2557 ต่างจากการชุมนุมก่อนหน้า ไม่ว่าจะ พธม., นปช. หรือ กปปส. เพราะไม่มีรูปแบบขบวนการอย่างชัดเจน อาจไม่มีแกนนำหรือมวลชนที่ชัดเจน แต่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ จัดกระจายไปหลายกลุ่ม โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธสำคัญ

นักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองบางส่วนจัดชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 20 ก.ค. หลังถูก "ผุ้พันเจี๊ยบ" อดีตรองโฆษก ทบ. เรียกว่า "ม็อบมุ้งมิ้ง"

แม้ประกาศว่า "เห็นด้วย" กับประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายสาทิตย์ก็ยอมรับว่าพบบางประเด็นที่อาจถูกบิดผันหรือนำไปสู่การให้ร้ายนักศึกษา หรือเป็นประเด็นอ่อนไหวไม่ควรเคลื่อนไหวเพราะจะนำไปสู่ปัญหาได้ และยังเตือนผู้มีอำนาจว่าการดำเนินคดีต้องเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

"ผมเคยจัดการชุมนุมมาก่อน เรารู้ดีว่าเมื่อไรที่อำนาจรัฐไม่เป็นธรรม ไปกระทำกับผู้ชุมนุม เมื่อนั้นจะเกิดแรงต่อสู้และเกิดปัญหาได้" นักการเมืองซีกรัฐบาล ผู้ผ่านประสบการณ์จัดชุมนุมใหญ่และนำไปสู่รัฐประหาร 2557 กล่าว

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาในปัจจุบัน เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ใน 5 ประการคือ 1. เริ่มจาก กทม. ก่อนขยายตัวไปจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ และขยายตัวจากนักศึกษาไปสู่นักเรียน 2. เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย 3. นายกฯ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลามาจากทหาร เปิดให้มีเลือกตั้งแล้วก็ปฏิวัติตัวเอง ขณะนี้นายกฯ ก็มาจากทหาร มาจากการปฏิวัติ เขียนกฎหมายสืบทอดอำนาจแล้วได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก 4. ก่อน 14 ตุลา อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารราชการอยู่ที่ "3 ทรราชย์" มายุคนี้ก็คือ "3 ป." และ 5. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก่อน 14 ตุลา เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ปัจจุบันก็มีปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ระบาด พร้อมเตือนรัฐบาลอย่าประมาทในพลังนักศึกษา เพราะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองมาหลายครั้งแล้ว

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
July 23, 2020 at 05:07PM
https://ift.tt/2ZPNZDz

ประชุมสภา : เพื่อไทย-ก้าวไกล งดร่วม กมธ. รับฟังความเห็น "เยาวชนปลดแอก" ลั่นนายกฯ ต้องพบนักศึกษาโดยตรง - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ประชุมสภา : เพื่อไทย-ก้าวไกล งดร่วม กมธ. รับฟังความเห็น "เยาวชนปลดแอก" ลั่นนายกฯ ต้องพบนักศึกษาโดยตรง - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.