Search

'สหรัฐฯ'สาดกระสุนสุ่มยิงใส่'หัวเว่ย' แต่พลาดเป้าไม่โดนแผนการใหญ่ที่ 'จีน'วางเอาไว้ - ผู้จัดการออนไลน์

soho.prelol.com


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

US potshots at Huawei miss China’s grand design
by David P. Goldman
29/06/2020

วอชิงตันกำลังใช้อาวุธผิดประเภทมาทำการสู้รบผิดสมรภูมิและผิดสงคราม การกระทำเช่นนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งหัวเว่ยจากการเป็นผู้นำในการนำเอาบรอดแบนด์ 5จี ออกมาใช้งานได้ และสร้างผลกระทบแค่เล็กๆ น้อยๆ ต่อวัตถุประสงค์ที่ใหญ่โตกว่านั้นมากของจีน ซึ่งก็คือการมีฐานะครอบงำเหนือพวกเทคโนโลยีแห่ง “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ที่ 5จี เป็นตัวทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความเป็นไปได้

“คลื่นลมกำลังหันเหเปลี่ยนทิศไปในทางต่อต้านหัวเว่ย ขณะที่พลเมืองตลอดทั่วโลกกำลังตื่นตัวขึ้นมาด้วยความตระหนักถึงอันตรายของรัฐจอมสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ประกาศเอาไว้ในเช่นนี้ในคำแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/the-tide-is-turning-toward-trusted-5g-vendors/#:~:text=The%20tide%20is%20turning%20against,Chinese%20Communist%20Party's%20surveillance%20state.&text=Recently%2C%20Greece%20agreed%20to%20use,to%20develop%20its%205G%20infrastructure.)

“ประเทศทั้งหลาย, บริษัททั้งหลาย, และพลเมืองทั้งหลาย จำนวนมากขึ้นทุกที กำลังตั้งคำถามว่า พวกเขาควรเชื่อถือไว้วางใจใครกันแน่สำหรับข้อมูลอันอ่อนไหวที่สุดของพวกเขา และคำตอบที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกทีก็คือ ไม่ใช่รัฐจอมสอดแนมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรอก” คำแถลงดังกล่าวสรุปเอาไว้เช่นนี้

สหรัฐฯอ้างว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนต้องการที่จะโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ของโลก โดยอาศัยพวกเครือข่ายบรอดแบนด์ 5 จีของบริษัทหัวเว่ย และเหล่าประเทศตะวันตกทั้งหลายจึงสมควรที่จะหันไปใช้อุปกรณ์จากพวกคู่แข่งของหัวเว่ย เป็นต้นว่า อีริคสัน และ โนเกีย

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศยืนยันใช้อำนาจควบคุมแบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เหนือบรรดาโรงงานผลิตชิปต่างประเทศที่ใช้อุปกรณ์อเมริกันสำหรับการผลิตชิปให้แก่หัวเว่ย โดยที่บริษัทยักษ์ของจีนแห่งนี้ใช้ชิปส่วนใหญ่ที่ผลิตกันในไต้หวัน นี่เป็นมาตรการที่ถูกทึกทักอวดโอ่กันว่าจะหยุดยั้งทำให้หัวเว่ยไม่สามารถได้รับชิปซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างเครือข่าย 5จี และเป็นการให้เวลาแก่วอชิงตันในการโน้มน้าวชักชวนพวกชาติพันธมิตรของตนให้เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ของโพรวายเดอร์รายอื่นๆ

แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว วอชิงตันกำลังใช้อาวุธผิดประเภทมาทำการสู้รบผิดสมรภูมิและผิดสงคราม ประการแรกทีเดียว การกระทำเช่นนี้จะไม่สามารถหยุดยั้งหัวเว่ยจากการเป็นผู้นำในการนำเอาบรอดแบนด์ 5จี ออกมาใช้งานได้หรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ตัวนี้กำลังแสดงบทบาทเป็นแม่เหล็กขนาดยักษ์สำหรับดึงดูดบรรดาผู้ผลิตสินค้าทุนสัญชาติยุโรป ประการที่สอง การกระทำเช่นนี้หากมีผลกระทบใดๆ ก็จะเป็นแค่ผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ต่อวัตถุประสงค์ที่ใหญ่โตกว่านั้นมากของหัวเว่ย ซึ่งก็คือการมีฐานะครอบงำเหนือพวกเทคโนโลยีแห่ง “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Fourth Industrial Revolution) ซึ่ง 5จี เป็นตัวทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความเป็นไปได้

จีนใช้งบประมาณจำนวน 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการลงทุนด้านบรอดแบนด์ 5จี บดบังมิดไปเลยเมื่อเปรียบเทียบกับงบด้านเงินทุนของบรรดาบริษัทให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติอเมริกัน ผู้ซึ่งเสนอภาพเทคโนโลยี 5จี เอาไว้ว่า เป็นเพียงการปรับปรุงยกระดับขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ จากอัตราความเร็วของระบบ 4G LTE ที่มีใช้งานกันอยู่แล้วในสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ดูเหมือนเชื่อจริงๆ ว่า บรอดแบนด์ 5จี จะทำให้จีนสามารถโจรกรรมพวกความลับทางอุตสาหกรรมทั้งหลาย แต่สำหรับยุโรปแล้ว ประเด็นปัญหาที่สำคัญเหนืออื่นใดกลับไม่ใช่เรื่องนี้เลย หากแต่เป็นเรื่องที่ว่ายุโรปจะมีบทบาทอย่างไรในพวกเทคโนโลยีเจเนอเรชั่นหน้าเหล่านี้ นี่ครอบคลุมทั้งพวกแอปพลิเคชั่นของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ไปจนถึงสิ่งที่เรียกขานกันว่า อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งทุกอย่าง (Internet of Things ใช้อักษรย่อว่า IoT) ตลอดจนผลสืบเนื่องต่อไปที่จะทำให้เกิดระบบอัตโนมัติในระดับสูงยิ่งขึ้น และเกิดผลิตภาพ (productivity) ในระดับสูงมากขึ้น

เป็นเรื่องแปลกประหลาดเอาการที่วอชิงตันคิดว่าการส่งเสริมสนับสนุนอีริคสัน จะสามารถฉุดรั้งจีนเอาไว้ได้

จีนนั้นไม่ได้ต้องการให้หัวเว่ยบดขยี้ทำลายอีริคสันเลย จีนต้องการที่จะดูดซึมทำให้อีริคสันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนเองต่างหาก นั่นก็คือ ทำให้มันกลายเป็นบริษัทจีนแห่งหนึ่งขึ้นมาในหลายๆ ด้าน ในแนวทางเดียวกับพวกบริษัทหุ้นส่วนสัญชาติสวีเดนด้วยกัน อย่างเช่น เอบีบี ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทางด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และเป็นหนึ่งในบริษัทหุ้นส่วนหลักๆ ของหัวเว่ย

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีริคสันเป็นผู้ชนะได้งานด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ในประเทศจีนไปประมาณ 10% จาก ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) และ ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) 2 รัฐวิสาหกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายบิ๊กเบิ้มของแดนมังกร ส่วนแบ่งตลาด 10% สำหรับการสร้าง 5จี ในประเทศจีนนั้นมีมูลค่าเกือบๆ 20,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี เปรียบเทียบกับรายรับของอีริคสั่นซึ่งอยู่ที่ปีละ 26,000 ล้านดอลลาร์ โรงงานใหญ่ที่สุดและใหม่ที่สุดของอีริคสันเวลานี้ตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง (นานกิง) เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของแดนมังกร

“ระบบอัตโนมัติของโรงงานซึ่งใช้เทคโนโลยี IoT ไร้สายล่าสุด สามารถปรับปรุงยกระดับประสิทธิผลและผลงานที่ออกมาได้ ด้วยการผสมผสาน IoT ไร้สายและ อุตสาหกรรม 4.0 เข้าด้วยกัน โรงงานอีริคสัน แพนด้า (Ericsson Panda factory) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองหนานจิงแห่งนี้ กำลังสำรวจแสวงหาลู่ทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากกระบวนการต่างๆ ของการผลิตทางอุตสาหกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะเฉลิมฉลองอุปกรณ์ IoT ไร้สายตัวที่ 1,000 ทางโรงงานมองเห็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มาก ในปีแรกสามารถสร้างตอบแทนคืนให้แก่การลงทุนได้ 50% ขณะที่การถึงจุดคุ้มทุนคาดการณ์กันว่าจะสามารถไปถึงได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปี” อีริคสันระบุเอาไว้เช่นนี้ในเอกสารแจกจ่ายสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ericsson.com/en/networks/cases/cellular-iot/cellular-iot-enables-smart-factories/industry-4-0)

การปรากฏตัวของอีริคสันในประเทศจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสวีเดนได้เสื่อมทรามลงในช่วงหลังๆ มานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/china-sweden-relationship-afe1cd3b-db50-4d2f-9ac6-d66b67c4b7f6.html) ตรงกันข้าม อีริคสันเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในรัฐเทกซัส ซึ่งมีลูกจ้างพนักงานอยู่ 100 คน เพื่อผลิตสถานีฐานอินเทอร์เน็ตสำหรับตลาดสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ift.tt/3czCKDI) อีริคสันในปัจจุบันสร้างรายได้ 27% ของตนในเอเชีย ในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ อีริคสันอาจจะผลิตและขายผลิตภัณฑ์เกินกว่าครึ่งหนึ่งของตนในเอเชีย ส่วนใหญ่คือในจีน

นับตั้งแต่ที่คณะบริหารทรัมป์สั่งห้ามจำหน่ายชิปอเมริกันให้แก่บริษัทแซดทีอี (ZTE) ของจีนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเดือนเมษายน 2018 แล้ว สหรัฐฯก็กำลังเล่นบทตัวการ์ตูนสุนัขป่าไคโยตี้ (Coyote) ที่พยายามวิ่งไล่ให้ทันนกโรดรันเนอร์ (Roadrunner) ซึ่งในที่นี้คือพวกบริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหลาย มาโดยตลอด

กระทั่งในกรณีเลวร้ายที่สุด หัวเว่ยยังคงสามารถได้รับชิปขนาด 14 นาโนเมตร (ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เทอะทะและค่อนข้างล้าสมัยเมื่อพิจารณาจากมาตรฐานในปัจจุบัน -ผู้แปล) จาก เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp. ใช้อักษรย่อว่า SMIC) บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน เพื่อนำมาใช้เป็นตัวให้พลังแก่เครือข่าย 5จี ของตน ทั้งนี้ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรม แฮนเดิล โจนส์ (Handel Jones) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://semiengineering.com/china-speeds-up-advanced-chip-development/) ถึงแม้ระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของสหรัฐฯอาจจะสามารถส่งผลจำกัดขวางกั้นธุรกิจสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนของหัวเว่ยได้ก็ตามที

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯดูเหมือนจะคิดไปว่า 5จี ของหัวเว่ย เป็นเพียงแค่เวอร์ชั่นที่มีความเร็วสูงขึ้นของบรอดแบนด์ไร้สายในทุกวันนี้ โดยที่จะเปิดทางให้สามารถดาวน์โหลดพวกวิดีโอสตรีมมิ่ง และเกมส์คอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดทางให้พวกสปายสายลับจีนสามารถเข้าถึงความลับต่างๆ ของทั่วโลก

แต่อย่างที่ผมอธิบายเอาไว้ในหนังสือของผมเรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World (คุณจะถูกดูดกลืน: แผนการของจีนในการทำให้โลกกลายเป็นรูปฟอร์มแบบจีน) (หนังสือเล่มนี้มีกำหนดวางตลาดวันที่ 30 มิถุนายน) วัตถุประสงค์ของจีนนั้นไปไกลเกินกว่าเรื่องการลักลอบดักฟังความลับมากมายนัก 5จี ไม่ได้สำคัญเพราะสิ่งที่มันทำได้หรอก หากแต่มันสำคัญเพราะสิ่งที่มันทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำกันได้สำเร็จต่างหาก –ตัวอย่างเช่น การเปิดทางให้เข้าดำเนินการควบคุมต่างๆ ทางอุตสาหกรรม, ตัวเซนเซอร์และหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารกันแบบเรียลไทม์โดยที่เวลาแฝง (latency) หรือก็คือความล่าช้าของสัญญาณ อยู่ในระดับเกือบเท่ากับศูนย์

5จี ทำให้เป็นไปได้ที่จะดำเนินการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบยืดหยุ่น โดยที่พวกหุ่นยนต์เป็นตัวดำเนินการด้านกระบวนการผลิตต่างๆ ชนิดที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปแทรกแซงก้าวก่าย, พวกหุ่นยนต์ทำเหมืองที่ขับเคลื่อนโดยเหล่านักเทคนิคใส่เสื้อกาวน์สีขาว ซึ่งใบหน้าสวมใส่กระบังหน้าหมวกที่ทำให้สามารถมองภาพความเป็นจริงได้มากยิ่งกว่าปกติ, การตรวจทดสอบทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการผ่าตัด ในระบบทางไกล

หัวเว่ยเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และมันเป็นเครื่องบอกเหตุว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมชีวิตทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 นอกจากนั้น 5จี ยังจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะใช้งานวิธีการเข้ารหัสลับแบบควอนตัม (quantum cryptograph) ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเป็นรูปแบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูลชนิดที่ไม่สามารถแอบแฮคแอบเจาะล้วงได้ โดยที่ความก้าวหน้าในเรื่องนี้มีคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเป็นผู้บุกเบิก

ความเสี่ยงซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐฯจะต้องเผชิญนั้น ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าจีนจะสามารถโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ของทั่วโลกได้หรอก แต่เป็นเรื่องที่พวกหน่วยงานข่าวกรองของ 5 ประเทศวัฒนธรรมแองโกล-แซกซอน (ได้แก่สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์) ซึ่งรวมกลุ่มร่วมมือกันในชื่อว่า “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes) จะไม่สามารถแอบลักลอบดักฟังการสื่อสารของทั่วโลกได้อีกต่อไปต่างหาก เรื่องนี้ก็เช่นกัน ในหนังสือของผมมีคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับการเข้ารหัสลับแบบควอนตัม และผลกระทบด้านต่างๆ ของวิธีการนี้ซึ่งจะมีต่องานข่าวกรองที่ใช้วิธีตรวจจับดักฟังสัญญาณการสื่อสาร (signals intelligence) ทั้งหลาย

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พอล สแคนลัน (Paul Scanlan) ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของหัวเว่ย ต่อไปนี้คือช่วงตอนสั้นๆ ช่วงหนึ่งซึ่งตัดมาจากสิ่งที่เขาพูดกับผม ดังนี้:

“เรามาลองยกตัวอย่างจากวิทยาการหุ่นยนต์ในทุกวันนี้ 5จี กำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างเลย ตามที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น 5จี ถูกพูดถึงในเรื่องเกี่ยวกับความเร็วของการดาวน์โหลดเท่านั้น แต่นี่ไม่ใช่เป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่สุดของมันหรอก สำหรับพวกกระบวนการต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม, พวกยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยตนเองอัตโนมัติ, และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ แล้ว เวลาแฝง—เวลาที่ต้องใช้สำหรับการที่อุปกรณ์หนึ่งจะได้รับและโต้ตอบสัญญาณที่มาจากอีกอุปกรณ์หนึ่ง— นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก

ที่ฟลอร์โรงงานในทุกวันนี้นั้น หุ่นยนต์ A ทำตามคำสั่งที่มันได้รับ แล้วก็ส่งผ่านชิ้นงานต่อไปให้หุ่นยนต์ B และมันก็ทำอย่างเดิมแบบเดียวกันไปเรื่อยๆ มาถึงตอนนี้ ถ้าหากเราทำให้เวลาแฝงเหลือน้อยมากๆ ภายในหุ่นยนต์แต่ละตัว –แล้วนอกจากนั้นยังสามารถเป็นหุ่นยนต์ซึ่งมาจากโรงงานผลิตแห่งอื่นๆ ก็ได้อีกด้วย— นำเอาพวกมันมาใส่ไว้ในห้องๆ หนึ่ง แล้วมอบหมายกฎเกณฑ์ให้พวกมัน คล้ายๆ กับเกมการเล่นโกะ หรือคล้ายๆ เกมเล่นหมากรุก เพื่อให้พวกมันสามารถต่อเชื่อมกันแบบเรียลไทม์ –ระดับมิลลิวินาที (millisecond หนึ่งในพันของวินาที) เร็วเหมือนฟ้าแลบทีเดียว—จากนั้นก็เอาพลาสติกสักหน่อยนึงมาตั้งให้เห็น สั่งว่า ฉันต้องการให้พวกคุณทำถ้วยพลาสติก 1 ใบ พวกหุ่นยนต์จะจัดการแบ่งงานของพวกมันกันเองซึ่งดียิ่งกว่าที่เราจะเป็นคนคิดมาก คุณจะอัดให้พลาสติกแบน, คุณจะรีดมันออกมาทางนี้, คุณจะทำให้มันสำเร็จรูปขึ้นมาทางนั้น— นี่คือวิธีที่เราคิดกัน และนั่นก็อาจจะเป็นความพยายามแรกสุดของหุ่นยนต์เหล่านี้

ต่อจากนั้น เรายังสามารถพูดเกี่ยวกับการลดปริมาณของเหลือใช้ที่ต้องทิ้งไป, หรือเกี่ยวกับระยะเวลาที่มันต้องใช้ในการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้, หรือเครื่องบ่งชี้ผลงานที่สำคัญอย่างอื่นๆ, แล้วพวกมันก็จะเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป สิ่งที่เราจะได้เห็นเมื่อเราทำเรื่องอย่างนี้ ก็คือ การร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างพวกหุ่นยนต์จากโรงงานผลิตต่างๆ --ของ เอบีบี, คาวาซากิ, และอื่นๆ การเชื่อมต่อกันเปิดทางให้คุณสามารถเคลื่อนตัวจากของที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ มากๆ ไปยังของที่สลับซับซ้อนมากๆ การเชื่อมต่อที่ว่านี้จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มแบบที่ใช้งานกับ เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ได้”

อย่างที่ชี้ให้เห็นข้างต้น หุ้นส่วนหลักของหัวเว่ยในเรื่องหุ่นยนต์ก็คือ เอบีบี ซึ่ง บัซมี ฮูเซน (Bazmi Husain) ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของบริษัทนี้ได้ไปกล่าวปราศรัยในงานประชุมของหัวเว่ยเมื่อเดือนกันยายน 2019 ที่เซี่ยงไฮ้ ในหัวข้ออนาคตของระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cio.com/article/3521948/abb-cto-bazmi-husain-unveils-future-of-intelligent-automation.html)

ฮูเซนบอกว่า “สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจนมากสำหรับพวกเราก็คือ เพื่อให้การปฏิวัติต่างๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ และส่งมอบคุณค่าอย่างที่คาดหวังกันไว้จากการปฏิวัติเหล่านี้ เราจะต้องไปให้ไกลกว่าเรื่องระบบอัตโนมัติ (automation) ทำไมเราจำเป็นต้องทำเช่นนี้หรือ? เพราะระบบอัตโนมัตินั้นโดยพื้นฐานแล้วต้องได้รับคำสั่งว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรสำหรับทุกๆ สถานการณ์ที่มันเผชิญ แต่เมื่อพิจารณาจากความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกำลังพัฒนาไปในอุตสาหกรรมแล้ว เราจำเป็นต้องมีระบบซึ่งไม่เพียงแต่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ตามที่พวกมันถูกโปรแกรมเอาไว้เท่านั้น แต่พวกมันยังต้องสามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกวางแผนเอาไว้อีกด้วย ... ระบบเหล่านี้แหละคือสิ่งที่เราเรียกว่าระบบที่ทำงานได้อย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง (autonomous systems)

เอบีบี กับ อีริคสัน มีความเชื่อมโยงกันจากการที่มีการถือหุ้นทับซ้อนกันอยู่และมีคณะกรรมการบริหารซึ่งทับซ้อนกันอยู่ ทั้งยักษ์ใหญ่ด้านกิจการหุ่นยนต์สัญชาติสวิส-สวีเดน และบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติสวีเดนคู่นี้ ต่างก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาด้วยความมุ่งมาดปรารถนาของชาติยุโรปที่มีขนาดเล็กแต่มีความประณีตละเอียดซับซ้อนสูง ซึ่งต้องการเล่นบทใหญ่บทสำคัญบนเวทีเศรษฐกิจของโลก

รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ (US Attorney General) วิลเลียม บาร์ (William Barr) เคยเสนอแนะเอาไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ว่า สหรัฐฯหรือไม่ก็บริษัทสหรัฐฯสักรายหนึ่งน่าจะต้องการเข้าไปซื้ออีริคสัน เพื่อนำมาสร้างเป็นป้อมปราการเอาไว้ต่อต้านหัวเว่ย ในการให้สัมภาษณ์ เวลต์โวเช (Weltwoche) หนังสือพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2019 ผมได้บอกเล่าอ้างอิงว่า มีผู้บริหารอาวุโสคนหนึ่งของหัวเว่ย แสดงความสงสัยออกมาดังๆ ว่า ทำไมสหรัฐฯจึงไม่ทำเช่นนี้โดยเพียงแค่ไปบอก ซิสโก้ (Cisco) ให้ซื้ออีริคสัน เพื่อนำมาสร้างเป็นบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติของอเมริกันขึ้นมา

วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเอาไว้ในวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/white-house-federal-intervention-5g-huawei-china-nokia-trump-cisco-11593099054?mod=searchresults&page=1&pos=1) ว่า แลร์รี คัดโลว์ (Larry Kudlow) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯในปัจจุบัน ได้เสนอแนวความคิดนี้ต่อ ชัค ร็อบบินส์ (Chuck Robbins) ซีอีโอของบริษัทซิสโก้ ปรากฏว่า ร็อบบินส์ บอกกับคัดโลว์ว่า ซิสโก้ “ไม่มีความปรารถนาที่จะลงทุนในธุรกิจที่มีความสามารถทำกำไรได้น้อย โดยที่ปราศจากแรงจูงใจทางการเงินบางอย่างบางประการ” ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ในปี 2019 ของซิสโก้อยู่ที่ 30.3% โดยนี่เป็นภาพสะท้อนจากการที่บริษัทได้ละทิ้งพวกอุตสาหกรรมการผลิตและหันไปทำพวกธุรกิจซอฟต์แวร์ซึ่งใช้เงินลงทุนต่ำแต่มีส่วนต่างกำไรสูงกว่า ขณะที่ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของอีริคสันนั้นอยู่ที่เพียงแค่ 2.6% เท่านั้น

ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวทางอุตสาหกรรมหลายรายที่คุ้นเคยกับวิธีคิดของทีมบริหารอีริคสัน ระบุว่าพวกผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทสวีเดนแห่งนี้ “ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” แต่มุ่งมองไปยังความสามารถในระยะยาวของบริษัทในการเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของเศรษฐกิจแห่งชาติของสวีเดน

สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นก็คือ ปรัชญาทางธุรกิจที่แตกต่างกันในระดับรากฐาน 2 ปรัชญา ซิสโก้เดินตามเพื่อนบริษัทอเมริกันของตนด้วยการมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ ขณะถอนตัวออกจากธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องลงทุนอย่างเข้มข้น ขณะที่อีริคสันกลับให้น้ำหนักกับพวกธุรกิจอย่างหลังมากยิ่งขึ้นไปอีก

เวลาเดียวกัน มีพวกบริษัทซอฟต์แวร์สหรัฐฯจำนวนหนึ่งจับมือรวมตัวกันในกลุ่มพันธมิตร “โอเพ่น เรดิโอ แอคเซส เนตเวิร์ต (Open Radio Access Network coalition) ซึ่งมุ่งเสาะแสวงหาทางให้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อเข้าพัฒนาให้เกิดทางเลือกอื่นอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากระบบเฉพาะของหัวเว่ย โดยที่กลุ่มนี้มุ่งหวังจะใช้ทั้งซอฟต์แวร์ฉลาดๆ และฮาร์ดแวร์สามัญทั่วๆ ไป แต่ผมโต้แย้งแนวความคิดนี้เอาไว้ในหนังสือ You Will Be Assimilated ของผมว่า มันเหมือนกับความพยายามที่จะขโมยพวกช้อนเงินส้อมเงินจากห้องรับประทานอาหารของเรือไททานิก มากกว่าที่จะเป็นการจัดเก้าอี้บนดาดฟ้าเรือไททานิกกันเสียใหม่

จีนมอง 5จี ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานในระดับฐานราก และพรักพร้อมที่จะให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายก้อนมหึมาในการนำเอาระบบนี้ออกมาใช้งานกันในระดับเต็มที่เต็มขนาด ด้วยความประสงค์ที่จะเกาะกุมเอาผลประโยชน์ต่างๆ ทางด้านผลิตภาพของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายซึ่ง 5จี ทำให้มีความเป็นไปได้ขึ้นมา

เรื่องนี้มีข้ออุปมาเปรียบเทียบกับการสร้างทางรถไฟอเมริกาในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งปรากฏว่าไม่มีทางรถไฟสายใดเลยทำเงินให้แก่พวกนักลงทุนดั้งเดิมเริ่มแรก (ในความเป็นจริงแล้ว ทางรถไฟทุกๆ สายเมื่อถึงบางจุดบางช่วงต่างก็พากันล้มละลายทั้งนั้น) แต่ทางรถไฟเหล่านี้เองซึ่งสร้างความเป็นไปได้ให้แก่การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ในด้านผลิตภาพทางภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมหนักของอเมริกัน

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯยังคงคิดว่า 5จี เป็นเวอร์ชั่นที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพมากขึ้นของ 4จี และคิดว่า (หรืออ้างว่าตนเองคิดว่า) ความสนใจของจีนในเทคโนโลยีนี้รวมศูนย์อยู่ที่การโจรกรรมข้อมูล ความทะเยอทะยานของจีนมีความยิ่งใหญ่สง่างามกว่านั้นนักหนา กล่าวคือ จีนต้องการที่จะนำการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และดูดซับอุตสาหกรรมของโลกให้เข้าไปในจุดเชื่อมต่อแห่งการลงทุนด้านไฮเทคซึ่งมีจีนเป็นศูนย์กลาง

Let's block ads! (Why?)



"มันใช้งานได้" - Google News
July 18, 2020 at 11:28PM
https://ift.tt/3hrp3ID

'สหรัฐฯ'สาดกระสุนสุ่มยิงใส่'หัวเว่ย' แต่พลาดเป้าไม่โดนแผนการใหญ่ที่ 'จีน'วางเอาไว้ - ผู้จัดการออนไลน์
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "'สหรัฐฯ'สาดกระสุนสุ่มยิงใส่'หัวเว่ย' แต่พลาดเป้าไม่โดนแผนการใหญ่ที่ 'จีน'วางเอาไว้ - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.