Search

[Classic Review] TEAC : UD-301 "Dual Monaural USB DAC" - AV Tech Guide

soho.prelol.com

แม้ผมจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเวลาที่ได้ข่าวเครื่องเสียงดิจิทัลไฮเรสโซลูชันรุ่นใหม่มีคุณสมบัติความสามารถสวนทางกับราคา แต่คำถามที่มักจะเกิดขึ้นในใจตามมาก็คือแล้ว “มันเสียงดีไหม?” นี่คงเป็นคำถามเดียวกันกับอีกหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่มีรสนิยมในการฟังเพลงและพิสมัยในความผุดผ่องของดนตรี

TEAC UD-301 คือเครื่องเสียงตัวล่าสุดที่ถูกผมตั้งคำถามนี้ ที่จริงแล้วนั้นยี่ห้อเทียคไม่ใช่น้องใหม่โนเนมที่ไหน แต่หลังจากเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยมาหมาด ๆ พวกเขาก็ได้ออกเครื่องเสียงไลน์ใหม่ซึ่งบอกได้เลยครับว่ามันน่าสนใจมาก ๆ ทั้งรูปลักษณ์และคุณสมบัติทางเทคนิค แต่ก็อย่างที่ว่านั่นแหละครับ “มันเสียงดีไหม?”

Full Feature Desktop USB DAC
ก่อนจะไปพิสูจน์ทราบในน้ำเสียงของ UD-301 ผมว่าคุณสมบัติทางเทคนิคของ USB DAC ตัวนี้ไม่ธรรมดา มันเป็นรุ่นที่จัดอยู่ใน ‘Reference Series’ แว่วมาว่าทีมออกแบบของยี่ห้อ Esoteric ซึ่งเป็นแบรนด์เนมไฮเอนด์ในเครือเดียวกัน (Esoteric, TEAC, Tascam) ได้เข้ามามีส่วนในการออกแบบเครื่องเสียง Series นี้ด้วย

UD-301 มาในตัวเครื่องขนาดกะทัดรัดจัดว่ากำลังสวยสำหรับใช้งานในลักษณะ desktop hi-fi และก็ไม่เล็กจนเกินไปสำหรับชุดเครื่องเสียงไฮไฟฟูลซิสเตมตามปกติ แท่นเครื่องที่ผลิตขึ้นจากโลหะล้วน ๆ เป็นที่มาของน้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัม

ฝาครอบและแผงหน้าเครื่องเป็นโลหะอะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีดำ มีช่องระบายความร้อนด้านบน ด้านข้างซ้าย-ขวาประกบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมหนากว่า 5mm ทำสีเทาเมทัลลิก ซึ่งเขาออกแบบและทำมาดูดีเลยทีเดียวครับ สนับสนุนด้วยงาน industrial design และงานประกอบที่แน่นหนา ทำให้ในส่วนของกายภาพภายนอกมันแทบไม่มีอะไรให้ตำหนิได้เลย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในส่วนของทางเทคนิค UD-301 เป็น USB DAC ที่มีอินพุตดิจิทัลมาให้ใช้งาน 3 ชุดได้แก่อินพุต USB-B (USB2.0), Coaxial และ Optical มีเพียงช่องอินพุต USB เท่านั้นที่รองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงทั้งฟอร์แมต PCM และ DSD (DoP, DSD over PCM) ได้โดยตรง

สำหรับฟอร์แมต PCM นั้นไปถึงระดับสูงสุดที่ 32bit/192kHz ขณะที่ฟอร์แมต DSD นั้นรองรับทั้ง DSD64 (1bit/2.8224MHz) และ DSD128 (1bit/5.6448MHz) นอกจากนั้นช่องอินพุตนี้ยังทำงานในโหมด Asynchronous (low jitter) ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการออกแบบ USB DAC ชั้นดีในยุคนี้

สำหรับอินพุต Coaxial และ Optical ซึ่งดูเหมือนจะมีคุณสมบัติเป็นรองอินพุต USB แต่ก็ยังดีพอสำหรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูง เพียงแต่มันจะรองรับเฉพาะฟอร์แมต PCM เท่านั้น โดยช่องอินพุต Coaxial รองรับไปถึงระดับ 24bit/192kHz ขณะที่อินพุต Optical ซึ่งมีแบนด์วิดธ์แคบกว่าจะรองรับได้สูงสุดที่ระดับ 24bit/96kHz เท่านั้น

และเพื่อเป็นการยืนยันสัญญาณที่ตัว DAC ได้รับเข้ามา บนหน้าปัดของ UD-301 นอกจากปุ่มเปิด-ปิด, ปุ่มเลือกอินพุตและวอลุ่มคอนโทรลแล้วยังมีไฟ LED บอก sample rate แต่ละค่าความถี่คอยแสดงผลอยู่ด้วย

สัญญาณเสียงที่ผ่านการถอดรหัสและแปลงจากดิจิทัลเป็นอะนาล็อกแล้วจะถูกส่งผ่านออกไปที่เอาต์พุต ‘PHONES’ 6.35mm ที่หน้าเครื่องหรือที่เอาต์พุต ‘LINE OUT’ ที่ด้านหลังเครื่อง ซึ่งมีให้เลือกใช้งานทั้งช่องเอาต์พุตแบบอันบาลานซ์ RCA และบาลานซ์ XLR ซึ่งปกติจะหาได้ไม่ง่ายนักสำหรับ USB DAC แบรนด์เนมในระดับราคานี้

Technical Insight
การออกแบบวงจรภายในตัวเครื่อง UD-301 แม้ว่าจะยังพบเห็นการเดินสายระโยงระยางอยู่บ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดถึงความเอาใจใส่ในแต่ละรายละเอียดเพื่อหวังผลให้แง่ของคุณภาพเสียง อย่างเช่น ภาคจ่ายไฟที่ใช้หม้อแปลงเทอร์รอยด์และเป็นวงจรแบบ linear power supply มีวงจรฟิลเตอร์ที่ระบบไฟเอซีขาเข้ามาให้เสร็จสรรพ

เห็นได้ชัดว่าทีมออกแบบให้ความสำคัญกับอินพุต USB เป็นพิเศษ มีการใช้ชิพไมโครคอนโทรลเลอร์ 32 บิตจาก Freescale Semiconductor มาทำหน้าที่ในส่วนของภาครับสัญญาณ USB ก่อนจะส่งต่อให้ภาค DAC ที่เลือกใช้ชิพเบอร์ PCM1795 จากTI/Burr-Brown จำนวน 2 ตัว แยกอิสระสำหรับวงจรแชนเนลซ้ายและขวา ชิพ เบอร์นี้รองรับสัญญาณ PCM ไปถึง 32bit/192kHz อีกทั้งยังรองรับสัญญาณฟอร์แมต DSD ด้วยในตัว

ภาคอะนาล็อกเอาต์พุตเป็นอีกส่วนที่ได้รับการออกแบบให้แยกส่วนของวงจรแชนเนลซ้ายและขวาอิสระจากกันในลักษณะของดีไซน์แบบดูอัลโมโน เพื่อหวังผลในแง่ของ channel separation ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการถ่ายทอดมิติและเวทีเสียง

ไม่เพียงแค่ดีไซน์แบบดูอัลโมโน วงจรอะนาล็อกใน UD-301 ยังได้เลือกใช้ไอซีออปแอมป์ MUSES8920 จาก JRC ผู้ผลิตชิพไอซีรายใหญ่ของญี่ปุ่น ไอซีออปแอมป์เบอร์นี้อยู่ในตระกูล MUSES (มิวส์) Series ซึ่งเป็นตระกูลที่ถูกออกแบบมาเพื่องานออดิโอโดยเฉพาะ จึงมีคุณสมบัติในแง่ของน้ำเสียงที่แตกต่างจากไอซีออปแอมป์แบบเอนกประสงค์ทั่วไป

ขณะที่ผู้ผลิตบางยี่ห้อเลือกใช้ชิพสำเร็จรูปในส่วนของวงจรภาคขยายหูฟัง แต่ใน UD-301 วงจรส่วนนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกดีไซน์มาแบบดูอัลโมโน โดยมีสเปคฯ กำลังขับอยู่ที่ 100 มิลลิวัตต์ต่อข้าง (อ้างอิงโหลด 32 โอห์ม) และเป็นเทคโนโลยีวงจร CCLC (Coupling Capacitor Less Circuit) หรือวงจรที่ไม่ใช้ตัวเก็บประจุซึ่งมักจะเป็นต้นเหตุในความผิดเพี้ยนของเสียง มาขวางกั้นอยู่ในทางเดินสัญญาณเลย

ตรงนี้ต้องยอมรับจริง ๆ ครับว่าทีมออกแบบของเขาเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดที่เกี่ยวกับเสียงจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ภาคขยายหูฟังซึ่ง USB DAC บางรุ่นที่ราคาแพงกว่านี้ยังให้ความสำคัญกับมันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

First Impression
UD-301 สร้างความประทับใจได้ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการใช้ไฟ LED สีฟ้าที่ดูสวยงามสบายตาคอยแสดงผลในส่วนต่าง ๆ มันเข้ากันมากกับหน้าปัดสีดำอย่างนี้

เช่นเดียวกับ USB DAC ส่วนใหญ่ที่รองรับ high-resolution ในระดับสูงเกินกว่า 24/96 การใช้งาน UD-301 กับคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการ Macintosh สามารถใช้งานได้เลย แต่ถ้าเป็น Windows จำเป็นต้องไปดาวน์โหลดไดรเวอร์จากเวบไซต์ของ TEAC (https://ift.tt/3h7OQFp) มาติดตั้งเสียก่อน ซึ่งเท่าที่ผมได้ลองทั้งสองกรณีก็ใช้งานได้ราบรื่นดีไม่มีปัญหาอะไรครับ

และสำหรับผู้ที่จะใช้ UD-301 ฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีและรองรับการเล่นเพลงแบบ high-resolution ด้วย ถ้าคุณยังไม่มีไอเดียเรื่องโปรแกรมที่จะเล่นเพลงในคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมที่คุณใช้อยู่มันยังไม่รองรับความต้องการดังกล่าว ทาง TEAC เขาก็มีโปรแกรมเล่นเพลงชื่อ ‘TEAC HR Audio Player’ ให้ดาวน์โหลดไปใช้ฟรี ๆ ทั้งสำหรับคอมพิวเตอร์ Macintosh และ Windows (http://audio.teac.com/product/hr_audio_player/downloads/) ซึ่งโปรแกรมเล่นเพลงตัวนี้ใช้งานง่าย ตรงไปตรงมา และตอบโจทย์เรื่องการรองรับ high-resolution สำหรับ USB-DAC ได้อย่างครบถ้วน

นอกจาก ‘TEAC HR Audio Player’ ผมยังได้ลองเล่น UD-301 กับโปรแกรมเล่นเพลงอย่าง Audirvana Plus 2.0 (Mac) และ JRiver 20 (Windows) ซึ่งผมมีใช้งานอยู่แล้วได้อย่างราบรื่นด้วยครับ และทั้งสองโปรแกรมที่ว่ามาก็รองรับการเล่นไฟล์เพลง high-resolution กับ UD-301 ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ วอลุ่มคอนโทรลที่หน้าเครื่องไม่ได้มีหน้าที่แค่ควบคุมระดับเสียงของช่องหูฟังเท่านั้น แต่มันสามารถใช้ควบคุมระดับเสียงของช่องอะนาล็อกเอาต์พุตด้านหลังเครื่องได้ด้วย ในกรณีที่ต่อสัญญาณจากด้านหลังเครื่องออกไปเข้าลำโพงแอคทีฟหรือเพาเวอร์แอมป์โดยตรงไม่ได้ต่อผ่านปรีแอมป์ ให้เลือกตรงสวิตช์ ‘LEVEL’ ที่อยู่ใกล้ ๆ กับเอาต์พุต XLR ของแชนเนลซ้ายไปเป็น ‘VARI’ ซึ่งหมายถึง variable ระดับสัญญาณเอาต์พุตจะแปรผันตามการหมุนวอลุ่มที่หน้าเครื่องด้วย เสมือนว่ามันมีปรีแอมป์ในตัว

ถ้าเลือกเอาไว้ที่ ‘FIX’ สัญญาณเอาต์พุตจะถูกส่งออกไปเท่าที่มันจะปล่อยออกไปได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับการหมุนวอลุ่มที่หน้าเครื่อง ดังนั้นการเลือกใช้งานสวิตช์เลือกโหมดเอาต์พุตตรงจุดนี้จึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ตัวเลือกที่ตำแหน่ง ‘OFF’ สำหรับสวิตช์ ‘LEVEL’ จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราใช้งานเฉพาะช่องเอาต์พุตหูฟัง และไม่ต้องการให้มีสัญญาณเสียงออกจากช่องเอาต์พุตที่ด้านหลังเครื่อง

ด้านหลังเครื่องยังมีพอร์ต USB-A ที่กำกับเอาไว้ว่า ‘UPDATE’ พอร์ตนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้รับสัญญาณเสียงใด ๆ แต่มันมีไว้สำหรับเวลาจะเซอร์วิสหรือซ่อมบำรุงเท่านั้น ไม่ควรลองเสียบสัญญาณอะไรเข้าไปทั้งสิ้น

การที่ USB DAC ตัวนี้มีภาคจ่ายไฟคุณภาพสูงในตัวและรับพลังงานไฟฟ้า (AC) ทางขั้วต่อ AC Inlet (IEC 3 ขา) เปิดโอกาสให้สามารถลองเล่นเพื่ออัปเกรดคุณภาพเสียงกับสายไฟเอซีได้ด้วย ออพชันนี้น่าจะถูกใจคนที่ชอบเล่นเส้นเล่นสาย (ไฟ) เป็นพิเศษนะครับ ซึ่งในรีวิวนี้ผมได้ลองใช้งานกับสายไฟ Shunyata Venom 3S และ Audyn COPPER TRANS ซึ่งเป็นสายไฟราคาย่อมเยาแต่คุณภาพเกินตัวและแมตช์กับ UD-301 ได้ดีทั้งคู่

Hidden Features
นอกจากฟังก์ชันต่าง ๆ ที่สามารถคาดเดาหน้าที่การทำงานได้จากปุ่มควบคุมต่าง ๆ แล้ว UD-301 ยังมีฟังก์ชันบางอย่างที่ได้แอบซ่อนเอาไว้อีกครับ อย่างเช่น ฟังก์ชันประหยัดพลังงานหรือ APS (Automatic Power Saving) ฟังก์ชันนี้จะทำงานเมื่อพบว่าทางด้านอินพุตของ UD-301 ไม่มีสัญญาณใด ๆ เข้ามาเป็นเวลานานถึง 30 นาที ระบบจะปิดเครื่องเข้าสู่สภาวะสแตนด์บาย

ฟังก์ชันนี้สามารถเปิดหรือปิดการใช้งานได้ง่าย ๆ โดยการกดปุ่มเปิด-ปิดค้างไว้ 5 วินาทีแล้วสังเกตการแสดงผลของไฟ LED บนหน้าปัด ถ้าไม่มีไฟ LED ดวงใดติดขึ้นมาหมายความว่าฟังก์ชันนี้เปิดใช้งานอยู่ (APS on) ซึ่งเครื่องที่มาจากโรงงานจะเป็นค่านี้มาเป็นค่า default แต่ถ้าไฟ LED แสดงอินพุตทุกดวงติดสว่างหมดก็หมายความว่าฟังก์ชันนี้ปิดการใช้งาน (APS off)

อีกหนึ่งฟังก์ชันซ่อนเร้นที่มากับ UD-301 ก็คือ การทำ ‘Up Conversion’ หรือ Upsampling นั่นเอง สามารถตั้งค่าได้ 2 ระดับนั่นคือ ‘Setting 1’ และ ‘Setting 2’ การตั้งค่าสามารถทำได้โดยการกดปุ่มเลือกอินพุตค้างไว้ 5 วินาที ถ้าหากไฟ LED แสดงค่า sample rate บนหน้าปัดดับหมดแสดงว่าฟังก์ชันนี้ปิดการทำงานอยู่ ‘off’

ในกรณีที่ไฟติดตั้งแต่ 44.1kHz-96kHz หมายถึงการตั้งค่า Up Conversion เป็น ‘Setting 1’ ที่ค่านี้จะมีผลกับสัญญาณอินพุตที่ sample rate 44.1kHz และ 48kHz เท่านั้น โดยสัญญาณหลังจากการอัปแล้วจะมี sample rate เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านั่นคือที่ 88.2kHz และ 96kHz ตามลำดับ

ในกรณีที่หลังจากกดปุ่มเลือกอินพุตค้างไว้ 5 วินาที แล้วไฟแสดงผลติดตั้งแต่ 96kHz-192kHz หมายถึงการตั้งค่า Up Conversion เป็น ‘Setting 2’ ที่ค่านี้จะมีผลกับสัญญาณอินพุตที่ sample rate 44.1kHz, 48kHz, 88.2kHz และ 96kHz โดยสัญญาณหลังจากการอัปแล้วจะมี sample rate เพิ่มขึ้นเป็น 176.4kHz, 192kHz, 176.4kHz และ 192kHz ตามลำดับ

อนึ่งฟังก์ชัน Up Conversion ที่มาพร้อมกับ USB DAC รุ่นนี้จะไม่มีผลกับสัญญาณอินพุต PCM ที่ sample rate ตั้งแต่ 176.4kHz ขึ้นไป รวมถึงสัญญาณอินพุตที่เป็นฟอร์แมต DSD ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า Up Conversion เอาไว้ที่ตัวเลือกใด

จากประสบการณ์ของผม การทำอัปแซมปลิงคล้ายกับการสั่งก๋วยเตี๋ยวที่เขาปรุงมาแล้ว แต่เรามาปรุงเพิ่มเองอีก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะน่าพอใจมากขึ้นทั้งหมด น่าพอใจเพียงบางส่วนหรือแย่กว่าเดิม ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นครับ

กับก๋วยเตี๋ยวถ้าหากปรุงแล้วใช้ไม่ได้ก็ต้องกล้ำกลืนฝนทนกินหรือไม่ก็ต้องเททิ้งไป แต่ในกรณีของการทำอัปแซมปลิงหรือ Up Conversion ใน UD-301 นั้นถ้าฟังแล้วไม่ชอบก็แค่ปิดฟังก์ชันนี้แล้วกลับไปฟังแบบ native resolution (ตาม sample rate ของไฟล์เพลงนั้น ๆ) โดยตรงเท่านั้นเองครับ ถือว่าเป็นออพชันเสริมก็แล้วกันครับ

และจากที่ผมได้ลองเล่นมันก็ยังเป็นไปตามประสบการณ์ที่ผมได้กล่าวอ้างถึงข้างต้น แต่จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าคนออกแบบเขาช่างคิดดีจริง ๆ ก็คือการแสดงผลในขณะใช้ฟังก์ชัน Up Conversion ไฟ LED บอก sample rate ที่หน้าเครื่องจะแสดงเป็น 2 จุด คือ sample rate ของสัญญาณที่รับเข้ามา และ sample rate ของสัญญาณ หลังจากทำการ Up Conversion แล้ว ง่าย ๆ แต่ใช้งานได้จริงแบบนี้แหละครับที่เรียกว่า good engineering

Sound Quality
ในรีวิวนี้ผมต่อใช้งาน UD-301 ทางช่องอินพุต USB โดยใช้สาย Nordost Blue Heaven USB และมอนิเตอร์ฟังเสียงทางช่องเอาต์พุตหูฟังโดยใช้หูฟัง Shure SRH940 ซะเป็นส่วนใหญ่ เบื้องต้นผมพบว่าภาคขยายหูฟังในตัว UD-301 มีกำลังเหลือเฟือที่จะขับหูฟังอย่าง SRH940 ได้สบาย ๆ หลังจากเบิร์นอิน UD-301 ทางช่องหูฟังอยู่ร่วม 1 สัปดาห์สุ้มเสียงที่ได้ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง ที่จริงเสียงของมันในสภาพแกะกล่องก็ไม่ได้เลวร้ายนักหรอกครับ

เปรียบเทียบกันมันก็ดีกว่า DAC ระดับ entry level บางรุ่นที่ผมเคยลองฟังมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของความหนาแน่นในมวลเนื้อและน้ำหนักเสียงในภาพรวม ลำพังแค่เพลงแจซในอัลบั้ม Jazz at the Pawnshop (SACD Rip, แผ่นเวอร์ชันครบรอบ 30 ปี) หรืออัลบั้ม The Division Bell ของ Pink Floyd (24/94, HDtracks) ก็มีความแตกต่างในจุดที่ว่านี้อย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องทบทวนกันหลายรอบ

น้ำเสียงที่ได้จาก USB DAC ตัวนี้เป็นอะไรที่ฟังออกได้ค่อนข้างชัดเจนครับว่ามันเป็น DAC ที่ช่างขุดช่างคุ้ยรายละเอียดของเสียงออกมาได้ดีจริง ๆ บางครั้งเป็นรายละเอียดในย่านความถี่สูง บางครั้งก็เป็นช่วงเสียงกลาง บางทีก็เป็นช่วงความถี่ต่ำ เรียกว่ามันขุดคุ้ยออกมาได้หมดไม่ว่าจะเป็นช่วงความถี่ใด ขอให้มีอยู่ในการบันทึกเสียงเถอะครับ UD-301 จะแจกแจงออกมาให้ได้ยินหมด

ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ผมพอจะเชื่อใจได้ว่าถ้าหากจะได้ยินน้ำเสียงที่ไม่เข้าหูบ้าง สาเหตุจะมาจากตัวมันน้อยกว่าที่มาจากตัวไฟล์เพลงหรือคุณภาพการบันทึกเสียง อัลบั้มเพลงชุดหนึ่งที่ผมอยากจะใช้อ้างอิงในส่วนนี้ก็คือชุด Raising Sand ของ Robert Plant & Alison Krauss [24/96, HDtracks]

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมเพิ่งได้เพลงอัลบั้มใหม่เป็นไฟล์ Studio Master จากสังกัด Linn Records อัลบั้ม Songs On Film Live ของ Joe Stilgoe ซึ่งเป็นงานบันทึกเสียงแสดงสดจากงาน London Jazz Festival เมื่อปี 2013 ด้วยความที่เป็นการแสดงสดบรรยากาศความมีชีวิตชีวาจึงปรากฏชัดเจนอยู่ในดนตรีอยู่เกือบตลอดเวลา

น้ำเสียงที่ได้จาก UD-301 สามารถถ่ายทอดบรรยากาศของความมีชีวิตชีวาเหล่านั้นออกมาได้โดยผ่านเสียงร้อง เสียงเปียโนและกลอง ความคมชัดและพลังงานของเสียงไฮแฮตหรือเปียโนในอัลบั้มนี้เมื่อถอดรหัสโดย UD-301 และฟังผ่านหูฟังมอนิเตอร์อย่าง SRH940 ดุลน้ำเสียงที่ได้ยินคือความสด ความคมชัด มีลักษณะที่เน้นไดนามิก มากกว่าจะถ่ายทอดออกมาในลักษณะลื่นไหลนุ่มนวล โดยเฉพาะในเพลง ‘Gold On Silver’ ไดนามิกของเปียโนในต้นเพลงนั้นมีแรงปะทะสมจริงจนน่าขนลุกเลยทีเดียว

ลักษณะเสียงเช่นนี้อาจจะไม่ตรงใจคนที่ชอบความนุ่มนวลลื่นไหล ฟังสบายหูตลอดเวลามากนัก แต่สิ่งที่จะได้ตอบแทนกลับมาก็คือ รายละเอียด ความสด ความมีชีวิตชีวา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งด้านที่เป็นคุณลักษณะที่ดีของน้ำเสียงด้วยเช่นกัน ขณะฟัง USB DAC ตัวนี้ทางช่องหูฟังกับหูฟังที่มีความไวค่อนข้างสูงผมจึงอยากแนะนำให้คุณเริ่มที่ระดับวอลุ่มที่เบากว่าปกติเล็กน้อย เผื่อช่วงการสวิงของไดนามิกเสียงเอาไว้บ้าง แล้วคุณจะรักในรายละเอียดเสียงที่มันบรรจงถ่ายทอดออกมา

อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ผมคิดว่าเป็นความโดดเด่นของ USB DAC ตัวนี้ก็คือการถอดรหัสไฟล์เสียงฟอร์แมต DSD จากประสบการณ์ของผม USB DAC หลายรุ่นที่รองรับ DSD เมื่อฟังเทียบในอัลบั้มเดียวกัน มาสเตอร์เดียวกันแล้วมันมักจะถอดรหัสไฟล์ DSD ออกมาเป็นรอง PCM ในแง่ของระดับความดังและไดนามิกของเสียง เหมือนกับว่าเวลาเล่น DSD แล้วระดับเสียงมักจะเบาลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ไฟล์ PCM ฟังดูมีไดนามิกที่สมจริงกว่า

แต่กับ USB DAC บางรุ่นจะไม่ปรากฏอาการดังกล่าวเช่น Mytek STEREO 192 DSD เป็นต้น จึงทำให้มันเป็น USB DAC ที่โดดเด่นมากเมื่อเล่นไฟล์ DSD และนั่นคือความโดดเด่นที่ผมพบเจอเช่นกันใน UD-301

ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าเพราะเหตุใด USB DAC ราคาเบา ๆ ตัวนี้ถึงให้ความพึงพอใจในระดับสูงสุดเมื่อผมเปิดฟังอัลบั้มที่เป็นไฟล์ฟอร์แมต DSD อย่างอัลบั้ม Super Audio CD Sampler ของสังกัด PentaTone และอัลบั้ม Chabrier: Orchestral Works ของสังกัด Mercury Living Presence ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่เป็นประจำ เสียงที่ได้จาก USB DAC ราคาเอื้อมถึงได้ง่ายตัวนี้สามารถเข้าถึงความ ‘ผุดผ่อง’ ของดนตรีซิมโฟนีออเคสตร้าในงานเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่งและเกินราคาไปมาก

อย่างไรก็ดีด้วยลักษณะเสียงที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาเป็นทุนเดิม มันอาจจะไม่ได้ให้ความประทับใจอย่างนี้ในทุกกรณี อย่างเช่นอัลบั้ม Queen Greatest Hit 1 แม้จะเป็นไฟล์ DSD ที่ได้มาจากการริบแผ่น SACD แต่ UD-301 ก็ให้เสียงออกมาเหมือนฟังแผ่น SACD เพลงตลาดทั่วไป คือยังมีความขาด ๆ เกิน ๆ ความไม่เป็นระเบียบของเสียงปรากฏอยู่ประปรายมากเกินไป

ซึ่งตรงนี้ USB DAC ที่ราคาแพงกว่าอย่างเช่น Mytek STEREO 192 DSD หรือ Moon 380D DSD ซึ่งก็ให้เสียงตรงไปตรงมาเช่นกันแต่สามารถจัดระเบียบเสียงขาด ๆ เกิน ๆ เหล่านั้นได้ดีกว่ามาก ทว่ามันต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหลายเท่าแค่นั้นเองครับ !

โดยสรุปสำหรับ UD-301
TEAC UD-301 เป็น USB DAC อีกรุ่นหนึ่งที่ผมได้ลองเล่นแล้วค่อนข้างประทับใจนะครับ ประทับใจที่ในคุณสมบัติที่เกินราคาค่าตัว ประทับใจในคุณภาพการผลิต ประทับใจในความราบรื่นระหว่างการใช้งาน และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็คือความประทับใจในน้ำเสียง นี่อาจจะไม่ใช่ DAC ที่เสียงดีที่สุดตั้งแต่ที่ผมเคยฟังมา แต่ถ้าถามว่าเมื่อเทียบกันบาทต่อบาทแล้วผมเชื่อว่ามันไม่เป็นรองใครโดยเฉพาะเมื่อฟังจากไฟล์ฟอร์แมต DSD

ผมมั่นใจว่าถ้าคุณเป็นคนหนึ่งกำลังมองหา USB DAC สักตัวไปใช้งานบนโต๊ะทำงานหรือใช้ในชุดเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง และชอบใจในน้ำเสียงที่มีรายละเอียด เปิดเผย มีชีวิตชีวา TEAC UD-301 คือคำตอบที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณกำลังมองหามาก ๆ ครับ !


เนื่องจาก Classic Review เป็นรีวิวเครื่องเสียงที่ตกรุ่นไปแล้ว หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว ทางเว็บไซต์จึงขอสงวนข้อมูลตัวแทนจำหน่ายและราคาของสินค้าเพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูล

Let's block ads! (Why?)



"มันใช้งานได้" - Google News
July 17, 2020 at 11:28PM
https://ift.tt/2CHB6Ck

[Classic Review] TEAC : UD-301 "Dual Monaural USB DAC" - AV Tech Guide
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "[Classic Review] TEAC : UD-301 "Dual Monaural USB DAC" - AV Tech Guide"

Post a Comment

Powered by Blogger.