Search

'ถาวร'แฉ9ปม'ขี้โกง-ระบบห่วย-บริหารล้มเหลว'บินไทยเจ๊ง!! - เดลีนีวส์

soho.prelol.com

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พร้อมด้วยคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ ร่วมแถลงข่าวรายงานสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุให้บริษัท การบินไทยฯ ประสบปัญหาขาดทุน พร้อมกันนี้ทางคณะทำงานได้นำเอกสารข้อมูลต่างๆ กว่า  10 ลัง มาตั้งโชว์ภายในงานแถลงข่าวด้วย

นายถาวร เปิดเผยว่า การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 51 โดยจุดเริ่มต้นของการขาดทุน มีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 53,043 ล้านบาท เมื่อปี 46-47 เพราะเมื่อทำการบินเกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นทางบิน ทำให้บริษัทขาดทุนไม่น้อยกว่า 39,859 ล้านบาท และต้องปลดระวางเครื่องบินก่อนกำหนด เวลานี้ขายได้เพียง 1 ลำ เหลืออีก 9 ลำที่จอดทิ้งไว้ จึงเป็นภาระในการดูแลจนถึงปัจจุบัน เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ไม่สมเหตุสมผล และส่อไปทางทุจริต  

นายถาวร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงช่วง 3 ปี (ปี 60-62) พบว่า การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท สาเหตุเกิดจาก 1.การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ และรุ่น B787-900 จำนวน 2 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน ซึ่งแต่ละลำมีราคาเช่าดำเนินงานไม่เท่ากัน เริ่มต้นที่ 4,475-5,064 ล้านบาท มีส่วนต่างของราคาถึง 589 ล้านบาท ทั้งนี้การทำสัญญาแบบเช่าดำเนินงานที่หละหลวมทำให้บริษัทได้รับความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 3,927 ล้านบาท และไม่มีการรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือผลการสอบสวนหาผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

นายถาวร กล่าวอีกว่า 2.การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่าย ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท 3.ช่วงปี 61-62 บริษัทได้จัดหาเครื่องบินใหม่แบบเช่าดำเนินงาน 3 ลำ ส่งมอบปี 63 วงเงินกว่า 16,604 ล้านบาท ทั้งที่ยังมีภาระหนี้สินจากการสัญญาเช่าเครื่องบินในปีก่อนๆ และการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่าดำเนินงานมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าวิธีเช่าซื้อถึง 5% 4.การจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่า จากข้อมูลปี 62 บริษัทมีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน 42 ลำ ช่วงปี 63-73 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการชดเชยสูงถึง 30,638 ล้านบาท

นายถาวร กล่าวต่อว่า 5.บริษัทมีค่าใช้เพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งที่พนักงานลดลง อาทิ หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท, ค่าล่วงเวลา (โอที) นักบิน และลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าโอทีฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530 ล้านบาท ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 129,134 บาท โดยปี 62 ขาดทุนมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท มีค่าโอทีฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท สาเหตุที่สูงมาก เพราะมีการส่อทุจริต ทำโอทีเกินกว่าวันที่มีอยู่จริง โดยมีผู้ทำโอทีสูงสุดถึง 3,354 ชั่วโมง (ชม.) เป็นเงินปีละ 2.95 ล้านบาท หรือเดือนละ 2.46 แสนบาทต่อเดือน ทั้งที่เกณฑ์มาตรฐานคนหนึ่งทำโอทีไม่ควรเกิน 1,500 ชม. ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวมีรายได้ต่อปีเพียง 8.78 แสนบาท หรือเดือนละ 73,203 บาท แต่ได้รับค่าโอทีมากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่ากว่า ทั้งนี้ปี 62 ฝ่ายช่างมีพนักงานทำโอทีเกิน 1,500 ชม. 567 คน วงเงินค่าใช้จ่ายมากถึง 603 ล้านบาท

นายถาวร กล่าวอีกว่า 6.ช่วงปี 60-62 สายการพาณิชย์ขายตั๋วโดยสารราคาต่ำมาก เอื้อประโยชน์ให้ตัวแทนจำหน่าย (เอเย่นต์) อาทิ ค่าคอมมิชชั่น และค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Incentive) นอกจากนี้ผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ยังแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลใกล้ชิดไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขาย เพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ และให้ AA จัดส่งรายได้ 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนผู้บริหารสายงานพาณิชย์ และนำเงินไปแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนนี้ไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายบริษัทฯ รองรับ ทั้งนี้ปี 62 ราคาตั๋วเฉลี่ยใบละ 6,081 บาท อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) เกือบ 80% ผู้โดยสาร 24.51 ล้านคน และมีรายได้ค่าตั๋ว 1.49 แสนล้านบาท

นายถาวร กล่าวด้วยว่า 7.การบริหารงานบุคคลที่ล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ ส่อเอื้อให้กับตนเองและพวกพ้อง เช่น กรณีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือนเพิ่มเป็น 6 แสนบาท ซึ่งขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหนังสือจากกระทรวงการคลัง ห้ามพนักงานที่รักษาการรับค่าตอบแทนเพิ่มจากที่เคยได้รับ ทำให้บริษัทขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท 8.เอื้อประโยชน์ในการขยายอายุสัญญาให้สิทธิเอกชนขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับผู้รับสิทธิรายเดิมอีก 9 เดือน แทนการประมูล ทำให้บริษัทเสียหายเป็นเงินกว่า 655 ล้านบาท และ 9.การบริหารจัดการสายการบินไทยสมายล์ขาดทุนต่อเนื่อง ปี 62 ขาดทุนสะสมไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

“คณะทำงานฯ มีเวลาแค่ 43 วัน แต่ต้องหยุดชะงัก เพราะการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าไม่มีอำนาจดำเนินการได้ ดังนั้นในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ผมพร้อมคณะทำงานจะนำเอกสารรายงานการตรวจสอบ และข้อมูลต่างๆ ที่ตรวจพบรวมกว่า 10 ลัง พร้อมทั้งรายชื่อผู้บริหารทั้งที่เป็นอดีต และที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุนเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป ซึ่งความผิดมีได้ตั้งแต่ทางแพ่งและทางอาญา” นายถาวร กล่าว

นายถาวร กล่าวด้วยว่า ยืนยันและมั่นใจว่าเอกสารข้อมูลเหล่านี้เป็นเอกสารที่ถูกต้อง และแท้จริง เพราะได้มาจากผู้ปฏิบัติงานในการบินไทย ไม่น่าจะเป็นการใส่ร้ายหรือทำเอกสารเท็จ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินกว่า 100 กว่าคนที่เข้ามาให้ข้อมูล หลังจากนี้ก็ต้องวัดใจ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะจริงจังและจริงใจทำต่อหรือไม่ เพราะนอกจากการบินไทยจะมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่แล้ว ยังมีเงินกว่า 31% เป็นของประชาชนด้วย พร้อมกันนี้ขอฝากไปยังผู้ได้รับโอกาสจากศาลล้มละลายกลาง หากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร และผู้จัดทำแผน ต้องร่วมกวาดบ้านให้สะอาด เพราะประชาชนยังคาดหวังให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป.
 

Let's block ads! (Why?)



"ล้มเหลว" - Google News
August 28, 2020 at 04:10PM
https://ift.tt/34DT6JO

'ถาวร'แฉ9ปม'ขี้โกง-ระบบห่วย-บริหารล้มเหลว'บินไทยเจ๊ง!! - เดลีนีวส์
"ล้มเหลว" - Google News
https://ift.tt/2Kza010
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "'ถาวร'แฉ9ปม'ขี้โกง-ระบบห่วย-บริหารล้มเหลว'บินไทยเจ๊ง!! - เดลีนีวส์"

Post a Comment

Powered by Blogger.