ลมและฝนกำลังตกลงมา ขณะที่เรือยนต์กำลังแล่นผ่านฟยอร์ดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะแฟโร
"ที่นี่ลมค่อนข้างแรง" โอลาเวอร์ เกรกาเซน กล่าว "เดี๋ยวก็รู้ว่าเราจะเข้าไปใกล้เรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากแค่ไหน"
ไม่นาน เราก็ไปถึงจุดกำบังที่เป็นภูเขาสูงชัน ส่วนบนท้องทะเลก็มีทุ่นหลายร้อยอันลอยอยู่เต็มไปหมด
"ทุ่นเหล่านี้ยึดเชือกแนวตั้งไว้" นายเกรการ์เซน กรรมการผู้จัดการของบริษัทโอเชียนเรนฟอเรสต์ (Ocean Rainforest) ผู้ผลิตสาหร่ายทะเล อธิบาย "ทุก ๆ หนึ่งเมตร จะมีเชือกห้อยอยู่ ใช้เป็นที่เลี้ยงสาหร่ายทะเล"
ปะทะคลื่น
แท่นเพาะเลี้ยงสาหร่ายนี้ถูกสมอยึดไว้กับท้องทะเล ประกอบด้วยเชือกที่มีลักษณะเหมือนโครงตาข่ายยาว 50,000 เมตร ออกแบบมาเพื่อต้านทานต่อคลื่นลมแรงในทะเล
"โครงสร้างหลักอยู่ลึกลงไป 10 เมตร การทำเช่นนั้นช่วยให้เราเลี่ยงการปะทะกับคลื่นลูกใหญ่ที่สุดได้" เขาเล่า
แม้ว่าจะหมู่เกาะแฟโรของเดนมาร์กจะตั้งอยู่ในแอตแลนติกเหนือที่อยู่ห่างไกล นายเกรการ์เซน บอกว่า น่านน้ำที่ลึกจะอุดมไปด้วยสารอาหารและเหมาะสำหรับการเลี้ยงสาหร่ายทะเล นอกจากนี้ยังมีอุณหภูมิคงที่ระหว่าง 6-11 องศาเซลเซียส
บริษัทของเขาเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตสาหร่ายทะเลจำนวนมากที่ผุดขึ้นมาทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ สืบเนื่องมาจากปริมาณความต้องการสาหร่ายทะเลจากอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น ๆ
"คุณมีชีวมวลที่สามารถใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ได้ และใช้แทนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฟอสซิลอย่าง วัสดุในการบรรจุหีบห่อที่ทำจากพลาสติก" เขากล่าว
เครื่องจักร
สาหร่ายทะเลเป็นสาหร่ายที่โตเร็ว พวกมันใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และดูดซึมสารอาหารและคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำทะเล นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า สาหร่ายทะเลอาจช่วยต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกได้ และช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ทั้งหมด
โอเชียน เรนฟอเรสต์ เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้ เพื่อสร้างระบบที่คล้ายคลึงกันนี้ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งต้องการพัฒนาการผลิตสาหร่ายทะเลระดับอุตสาหกรรมสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต
บนเรือเก็บเกี่ยวผลผลิต คนขับเรือควบคุมแขนกลที่ยกเชือกขึ้นมาจากน้ำ สาหร่ายถูกตัดออก และนำไปใส่ในถังเก็บ มันเป็นงานที่ใช้เวลาไม่นาน แต่ดูวุ่นวาย จากนั้นเชือกจะถูกหย่อนกลับลงไปเลี้ยงสาหร่ายใหม่ คาดว่าปีนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตสาหร่ายทะเลได้ราว 200 ตัน
แต่ทางบริษัทกำลังขยายตัว และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เป็นสองเท่าภายในปีนี้ นายเกรการ์เซน บอกฉันว่า มันยังไม่ได้กำไรหรอก แต่ก็คงอีกไม่นาน
"เราเห็นได้ว่า เราใช้เครื่องจักรเข้ามาทำมันได้ เราผลิตมันได้ในปริมาณมากและมีประสิทธิภาพ" เขากล่าว
"มีบริษัทไม่กี่แห่งที่ทำที่ได้กำไรจากการทำเช่นนี้"
เครื่องสำอางและยา
สาหร่ายทะเลจำเป็นต้องผ่านการแปรรูปอย่างรวดเร็ว ที่โรงงานขนาดเล็กแห่งหนึ่งในหมู่บ้านคาล์ดบากของหมู่เกาะแฟโร เครื่องจักรกำลังทำความสะอาดผลผลิตที่เก็บมาได้ บางส่วนถูกทำให้แห้ง และส่งไปให้ผู้ผลิตอาหาร ส่วนที่เหลือถูกนำไปหมักและส่งไปให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์
สาหร่ายทะเลที่ถูกเพาะเลี้ยงในฟาร์มส่วนใหญ่ถูกบริโภคเป็นอาหาร แต่สารสกัดถูกนำไปใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน เครื่องสำอาง ยา หรืออาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะมีส่วนผสมของไฮโดรคอลลอยด์ (hydrocolloid) ที่มาจากสาหร่ายทะเล ซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มความหนืดหรือความข้น
นอกจากนี้กำลังมีผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมากที่ต้องการใช้สารสกัดจากสาหร่ายทะเล โดยมีบริษัทหลายแห่งที่กำลังผลิตวัสดุที่จะนำมาใช้แทนสิ่งทอและพลาสติก รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ แคปซูลน้ำ และหลอดดูด
การผลิตสาหร่ายทะเลกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในช่วงปี 2005-2015 ปริมาณการผลิตเพิ่มเป็นสองเท่า เกิน 30 ล้านตันต่อปี ธุรกิจการผลิตสาหร่ายทะเลมีมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั่วโลก หรือราว 1.85 แสนล้านบาท
แต่มีการผลิตจำนวนไม่มากอยู่นอกภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งทำฟาร์มสาหร่ายทะเลมายาวนาน แต่ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคน
"ใช้เครื่องจักรมากขึ้น"
"ต้นทุนค่าแรงในยุโรปสูงมาก และนั่นเป็นส่วนสำคัญของการผลิต" แอนเนตเตอ บรูห์น ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยออร์ฮูส (Aarhus University) ในเดนมาร์ก อธิบาย
"จำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามในการใช้เครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น
การทำฟาร์มให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เธอบอกว่า "ผลตอบแทนจำเป็นต้องเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนจำเป็นต้องต่ำลง"
แต่ระบบการทำฟาร์มไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่าย ๆ "พื้นที่ต่างกันในน่านน้ำที่ต่างกัน จำเป็นต้องมีการดัดแปลง ไม่มีคำตอบตายตัวที่ใช้ได้กับทุกอย่าง" นางบรูห์น กล่าว
อย่างไรก็ตาม เธอหวังว่า จะมี "หลายพื้นที่ที่ทำสำเร็จ"
นั่นคือนวัตกรรมที่ ซินเทฟ (Sintef) กำลังพยายามทำ กลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์ของนอร์เวย์กำลังพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ในการทำให้การทำฟาร์มสาหร่ายทะเลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ปัจจุบัน สาหร่ายทะเลส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นอาหาร แต่ในอนาคต เราต้องการใช้มันเป็นอาหารปลา ปุ๋ย ก๊าซ ชีวภาพ เราต้องการสาหร่ายทะเลปริมาณมหาศาลและเราจำเป็นต้องผลิตให้เร็วขึ้น" ซีเยียล ฟอร์บอร์ด นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัย กล่าว
ห้องปฏิบัติการแห้ง
เครื่องจักรต้นแบบอย่างเช่น "เครื่องปั่นสาหร่ายทะเล" จะช่วยนำต้นอ่อนสาหร่ายทะเลจากสายพานไปพันไว้รอบเชือก เตรียมพร้อมนำไปหย่อนลงในทะเล
อีกแนวคิดหนึ่งคือ สโปก (SPoke ย่อมาจาก Standardized Production of Kelp หรือ การผลิตสาหร่ายทะเลที่ได้มาตรฐาน) ประกอบด้วยกระสวยเลี้ยงสาหร่ายทรงกลมสำหรับนำไปติดไว้บนเชือกในทะเล มันถูกออกแบบมาเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถจับเคลื่อนย้ายซี่ลวดที่มีลักษณะคล้ายวงล้อ ไม่ว่าจะติดตั้งบนสายพานที่ลำเลี้ยงต้นอ่อนของสาหร่าย หรือใช้ในการเก็บเกี่ยวสาหร่าย
"เราสร้างแล้วหนึ่งแขนพร้อมกับหุ่นยนต์หนึ่งตัวที่ขยับเดินหน้าถอยหลัง มันถูกทดลองในห้องปฏิบัติการแห้งแล้ว" นางฟอร์บอร์ด อธิบาย แต่ยังต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม
ในบ่อและถังเลี้ยงสาหร่ายทะเลทางตอนเหนือของโปรตุเกสหลายแห่ง กำลังเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลบนบก บริษัทอัลกาพลัส (AlgaPlus) เป็นหนึ่งในนั้น
"มันควบคุมได้ดีกว่ามาก" เฮเลนา อาบริว กรรมการผู้จัดการซึ่งคิดว่าการทำฟาร์มบนบกมีข้อดีมากกว่าการทำฟาร์มในทะเล
"เรารักษาระดับอุณหภูมิและทุกอย่างภายในถังได้" เธอกล่าว "คุณผลิตได้ตลอดทั้งปี"
นางอาบริว ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้ หลังจากใช้เวลา 5 ปี ทำงานเป็นนักชีววิทยาทางทะเลในเมืองอะโซร์สของโปรตุเกส สาหร่ายทะเลที่มีคุณค่าสูงและมีขนาดเล็กถูกผลิตส่งให้แก่บริษัทอาหาร ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และภัตราคารหรูหลายแห่ง
นวัตกรรม
น้ำทะเลจากลากูนริมฝั่งทะเลไหลเข้ามายังบ่อเลี้ยงปลา จากนั้น มันจะถูกสูบผ่านระบบกรองเข้าไปเก็บในถังเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล นอกจากนี้ยังมีที่เพาะต้นอ่อนสาหร่ายด้วย
เธอบอกว่า "เราต้องคิดค้นขึ้นมาใหม่หมด"
น้ำเหล่านี้อุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งสาหร่ายดูดซึมไปเป็นอาหาร เลียนแบบสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ "เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มสารอะไรเข้าไป ไม่ต้องใช้ปุ๋ย เราใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาในการเลี้ยงสาหร่ายทะเลของเรา" เธอเล่า
นางอาบริว ไม่คิดว่า เรื่องที่ดินจะเป็นข้อจำกัด เธอบอกว่า ที่ดินที่เคยใช้ทำนาเกลือและฟาร์มเลี้ยงปลาเดิมสามารถนำมาใช้เลี้ยงสาหร่ายทะเลได้ โดยชี้ว่า มีที่ดินจำนวนมหาศาลที่เอามาใช้ทำฟาร์มได้ทั้งในโปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ และตุรกี
มีการทำฟาร์มสาหร่ายทะเลบนบกในแคนาดาและแอฟริกาใต้ด้วย โดยสาหร่ายขนาดเล็กถูกเพาะเลี้ยงในระบบถัง แต่ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่าง
"ปัญหาหลักก็คือ ต้นทุนพลังงาน การทำงานโดยใช้ถังจำนวนมาก คุณต้องสูบน้ำและเติมอากาศเพื่อให้น้ำไหลเวียนอยู่ตลอด" นางอาบริว กล่าว
ขณะนี้ ทางบริษัทไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่นางอาบริว เชื่อว่า ตลาดสาหร่ายทะเลจะเติบโตขึ้นต่อไป
"มันเป็นแนวโน้มที่มาแรง" เธอกล่าว "แต่ละปี มีบริษัทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีบริษัทหน้าใหม่เข้ามาในทุกขั้นตอนของสายการผลิตนี้"
"มันใช้งานได้" - Google News
August 30, 2020 at 11:28AM
https://ift.tt/2QPyKFv
ฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลขยายตัว เพื่อผลิตอาหารและเชื้อเพลิงแห่งอนาคต - บีบีซีไทย
"มันใช้งานได้" - Google News
https://ift.tt/357dMYK
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลขยายตัว เพื่อผลิตอาหารและเชื้อเพลิงแห่งอนาคต - บีบีซีไทย"
Post a Comment