Search

แฟลชม็อบชายแดนใต้ : สำรวจความคิดเยาวชนปลายด้ามขวาน ทำไมออกมาต้านรัฐบาล - บีบีซีไทย

soho.prelol.com
  • เรื่องโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย ราชพล เหรียญศิริ ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย

สันติภาพ ปาตานี

การชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษา มอ.ปัตตานี และกลุ่มเยาวชนปาตานีที่มัสยิดกรือเซะ ในจังหวะเวลาเดียวกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ เป็นการส่งเสียงจากพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะไปถึงศูนย์กลางของอำนาจ พร้อม ๆ กับการเปิดบทสนทนาที่เครือข่ายนักศึกษา เยาวชนในชายแดนใต้เชื่อว่า เมื่อมีประชาธิปไตยก็จะมีสันติภาพ

วันที่ 23 ก.ค. นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ. ปัตตานี) รวมตัวเปิดเวทีหนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา "เยาวชนปลดแอก" 3 ข้อ ได้แก่ ให้รัฐบาลยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และหยุดการคุกคามประชาชน

การชุมนุมเคลื่อนย้ายจากภายในรั้วสถาบันการศึกษาสู่พื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิมที่มัสยิดกรือเซะในวันที่ 2 ส.ค ภายใต้ข้อเรียกร้องชุดเดียวกัน แต่ที่เพิ่มเติมคือมีการกล่าวถึงประเด็นปญหาในชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน 16 ปี ภายใต้บรรยากาศที่อยู่ภายใต้ "รัฐที่ปกครองโดยทหาร" นับตั้งแต่เหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาสเมื่อปี 2547

ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มอ. วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นถึงขบวนการคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ว่า แม้มีการเคลื่อนไหวภายใต้ข้อเสนอที่แนบแน่นกับเยาวชนปลดแอกที่กรุงเทพฯ แต่มีการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาของพื้นที่ภาคใต้ และมีการวิพากษ์ "แตะ" ไปถึงระดับโครงสร้าง สถาบันทางการเมือง ที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขา มากกว่าการเคลื่อนไหวกับเหตุการณ์เฉพาะเหมือนที่ผ่านมา

"มีการเชื่อมโยงว่าปัญหาทางใต้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงประเด็นประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าเป็นสาเหตุทำให้ทางภาคใต้ไม่สงบ มีวาทกรรมนี้ที่อยู่ในสนามของการรวมตัวของขบวนคนรุ่นใหม่"

south youth

จากการสังเกตการณ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ยังเห็นสิ่งใหม่ในพื้นที่คือการออกมาของนักเรียน มัธยมสู่พื้นที่การเมืองจากม็อบเยาวชนทั้งสองครั้ง และการหยิบยกปัญหาที่หลากหลายขึ้นมาพูดถึง เช่น ปัญหาทรัพยากรอย่างการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา อีกทั้งมีการปรากฏของกลุ่มที่หลากหลาย เช่น กลุ่มเด็กพุทธ มลายูมุสลิม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (แอลจีบีที)

ความเคลื่อนไหวเยาวชนชายแดนใต้

คลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็นถึงความคิด ความเห็นของคนรุ่นใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากข้อมูลที่ไหลเวียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งไม่ได้ผูกขาดข้อมูลและความจริงเพียงหนึ่งเดียว สิ่งเหล่านี้ไปถึงคนรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาก็ได้เห็นความ "ไม่เท่ากัน" และ "ไม่เท่าเทียม" ของโอกาสในการมีชีวิตที่ดีและระบอบการเมืองที่สองมาตรฐาน

ผศ.เอกรินทร์ ให้ความเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่มองไม่เห็นว่าอนาคตของพวกเขาจะฝากไว้ที่อะไร คำถามนี้เกิดขึ้นในเครือข่ายนักศึกษา เยาวชนที่ออกมาประท้วงทั่วประเทศ แต่หากมองภายใต้บริบทเฉพาะของชายแดนใต้ ผศ.เอกรินทร์ชี้ว่า เยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้เติบโตมากับการเห็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจากงานวิจัยที่ผ่านมาระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ปัญหานี้รุนแรงที่สุดในประเทศ รวมไปทั้งการเมืองการเลือกตั้งที่ใช้ "เงิน" เยอะที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่คนรุ่นใหม่ไม่เอาด้วยแล้ว

"คำตอบเดิมๆ ที่กดทับพวกเขาว่าเพราะอยู่ต่างจังหวัด สำหรับพวกเขามันไม่กินปัญญาเขาแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่เอาคำตอบนั้น เขาเลยมีคำถามใหม่ แล้วทำไมเราไม่เหมือนคนอื่น ทำไมการเติบโตหรือการจัดสรรงบฯ มันถึงน้อยกว่าที่อื่น"

เอกรินทร์ ต่วนศิริ

การเกิดแฟลชม็อบของเยาวชนทั่วประเทศในช่วงต้นปี รวมถึงในพื้นที่ภาคใต้แม้ว่าปัจจัยส่วนหนึ่งจะมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่แกนนำนักศึกษา มอ.ปัตตานี บอกกับบีบีซีไทยว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้ก้าวข้ามประเด็นนั้นไปแล้ว ไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่จุดกระแสขึ้นได้ในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่เยาวชนออกมาเพราะกังวลถึงอนาคตที่รัฐบาล "ไม่มีหลักประกัน" ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา

"ตอนนี้มันไม่ใช่เพราะ (พรรค) อนาคตใหม่แล้ว มันเป็นเพราะอนาคตของเรามากกว่า เขาไม่อาจจะที่อยู่ได้ภายใต้สภาวะสังคมแบบนี้ มันมองไม่เห็นทางว่าถ้าจบปริญญาตรีออกไปแล้วจะสามารถลืมตาอ้าปากได้" ฟาห์เรน นิยมเดชา ประธานกรรมาธิการพิทักษ์สิทธินักศึกษา มอ.ปัตตานี แกนนำจัดแฟลชม็อบ กล่าวกับบีบีซีไทย

สอดคล้องกับมุมมองของ อารีฟิน โสะ เยาวชนนักกิจกรรมปาตานี ผู้ประสานงานกลุ่มเปอร์มาส ที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงความขัดแย้งชายแดนใต้ การเมืองทั้งในและนอกสภา ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เขาเห็นว่านี่เป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจ หากมีรัฐบาลที่ฟังเสียงของประชาชนย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

เยาวชนปาตานี

"ถ้านโยบายของรัฐดี จริงจังกับกระบวนการสันติภาพก็แก้ได้ งบประมาณจำนวนมหาศาล ทรัพยากร คนที่เชี่ยวชาญเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ไม่ถูกนำมาใช้ มีนักวิชาการที่เสนอทางออกมากมายว่าจะทำอย่างไรให้โครงสร้างอำนาจของรัฐไทยกับคนในพื้นที่ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องแยกตัวออกไป แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์กับการแก้ปัญหา"

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ กับสันติภาพชายแดนใต้

หนึ่งในข้อสังเกตที่ ผศ.เอกรินทร์ มองเห็นจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน คือ การเกิดขึ้นของวาทกรรมประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้

ผ่านไป 16 ปี นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นระลอกใหม่เมื่อปี 2547 การปกครองที่ใช้การทหารและกฎหมายพิเศษควบคุมพื้นที่ชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบ ซ้ำยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่หลายกรณี ประเด็นนี้ถูกนำมาอธิบายภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ในการปราศรัยของกลุ่มเยาวชนปาตานีที่มัสยิดกรือเซะ

"ถ้าหากรัฐบาลใช้คำว่าประชาธิปไตยในการปกครองอย่างจริง ๆ จัง ๆ รัฐบาลจะรับฟังเสียงของคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่พื้นที่ในปาตานี หรือสามจังหวัดฯ เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงพื้นที่ในอีสาน พื้นที่ในภาคเหนือ เสียงของประชาชนเหล่านี้ จะถูกรับฟังมากยิ่งขึ้น" ซูรัยยา วาหะ นักกิจกรรมหญิงมุสลิมจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี(PerMAS) กล่าวกับบีบีซีไทย

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

นักกิจกรรมหญิงมุสลิมวัย 22 ปี ซึ่งขึ้นปราศรัยที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา อธิบายถึงข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยว่า เหตุที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน การที่ชายแดนใต้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมา 16 ปี นั่นหมายความว่าพวกเขาไม่มีส่วนในการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษยังเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่คุกคามประชาชน

"หลาย ๆ เรื่องเจ้าหน้าที่หรือทหารสามารถใช้กฎหมายสองฉบับนี้กับคนในพื้นโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนและโดยไม่มีเหตุผล เมื่อเกิดความรุนแรง ไปหาชาวบ้าน ไม่มีหมายศาล ไม่มีใบแจ้งความทางกฎหมายอย่างชัดเจน แต่อ้างโดยใช้กฎหมายพิเศษ อ้างโดยใช้กฎอัยการศึกเข้ามาตรวจค้นบ้าน เข้ามาจับกุมคนไปสอบสวน" ซูรัยยากล่าว

ป้ายประท้วง ปาตานี

"เรามองว่าการที่สันติภาพในปาตานีจะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลจะต้องรับฟังว่าอะไรคือสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการหรือไม่ต้องการ เพื่อจะปรับปรุงเป็นนโยบายลงมาในพื้นที่อย่างถูกต้อง" เธอให้ความเห็น

สอดคล้องกับความเห็นของแกนนำจัดแฟลชม็อบ มอ.ปัตตานี ที่เชื่อว่า แม้ไม่อาจการันตีได้ว่า มีประชาธิปไตยแล้วภาคใต้จะสงบ แต่เห็นว่าเงื่อนไขแรกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ คือ ต้องมีประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสียงประชาชน ไม่ใช้ความรุนแรงขจัดผู้เห็นต่าง

การพูดเรื่อง "เอกราช" และ "สถาบันกษัตริย์"

ในแฟลชม็อบที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. แกนนำผู้จัดกิจกรรมประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าการรวมตัวอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้อง ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุติการคุกคามประชาชน หากมีป้ายข้อความเกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยเอกราชปาตานี หรือสถาบันกษัตริย์ ถือว่าไม่ใช่จุดประสงค์ของแฟลชม็อบ ความเคลื่อนไหวนี้ ผศ.เอกรินทร์ เห็นว่า เป็นการต่อรองกันเองภายในกลุ่มเยาวชนที่ประเมินว่าสารที่จะเสนอจะไปถึงไหน พื้นที่แบบไหนพูดเรื่องแบบนี้ได้ พร้อม ๆ ไปกับการรักษาแนวร่วม

"สิ่งที่สำคัญคือ มันมีเวลาที่มันไม่จบแค่ม็อบสองม็อบ พวกเขาจะได้เรียนรู้ถ้าได้ผนึกรวมกับขบวนใหญ่หรือกับทั้งประเทศ เขาจะต้องต่อรองแบบไหนอย่างไร เพราะต้องคำนึงถึงขบวนที่หลากหลายเพื่อต้องการผนึกกำลังให้เข้มแข็ง เช่น ใน 3 ข้อเสนอใหญ่ ถ้าคุณไปบอกว่าเพิ่ม คนอื่นจะเอาด้วยไหม และจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร"

ป้ายประท้วง ปาตานี

ส่วนความเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ ที่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ปรากฏในขบวนการเคลื่อนไหว นักศึกษาทางใต้คิดอย่างไร ฟาห์เรน นิยมเดชา ประธานกรรมาธิการพิทักษ์สิทธินักศึกษามอ.ปัตตานี แกนนำจัดแฟลชม็อบ ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การใช้งบประมาณ ขอบเขตของพระราชอำนาจ และกฎหมายที่ดูแลการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ควรเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ในที่สาธารณะ หากแต่ต้องตั้งอยู่บนหลักการ เหตุผล และข้อเสนอในการจัดความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คุยกันได้ ด้วยหลักเหตุผลและเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา... แต่ถ้านำเสนอด้วยอารมณ์ นำเสนอด้วยความเกลียดชัง นำเสนอด้วยสิ่งที่ไม่เป็นหลักการ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยไปต่อไม่ได้ เพราะนั่นคือการสร้างความชอบธรรมให้กองทัพใช้ความรุนแรง"

ฟาห์เรน นิยมเดชา

ทางเลือกที่สาม นอกจากรัฐไทยและกลุ่มขบวนการฯ

จากปัจจัยเฉพาะของชายแดนใต้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่า ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษา เยาวชน เป็นสิ่งที่ทั้งรัฐและขบวนการติดอาวุธต้องรับฟัง เขาเห็นว่าการออกมาของคนรุ่นใหม่สะท้อนว่า "เด็กที่นี่ไร้ซึ่งความหวัง" จากการเติบโตมาและได้เห็นเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองแบบเก่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คะแนนเสียงจำนวนมากจึงถูกเทให้กับพรรคการเมืองที่ทำการเมืองด้วยวิธีใหม่

"คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่สำคัญขบวนการฯ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ หากพูดในทางทฤษฎีการเมือง พวกเขาก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง มีชุดอุดมการณ์ชุดหนึ่ง แต่ไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่"

ชุมนุม ปาตานี

ผศ.เอกรินทร์ ชี้ว่าจังหวะก้าวของเยาวชนตอนนี้คือการ "สร้างที่ทางเลือกที่สาม" ของตัวเอง คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งไม่ชอบรัฐไทยอยู่แล้ว แต่จะไม่สมาทานตัวเองเข้ากับขบวนการ เพราะสำหรับพวกเขาขบวนการก็ไม่ต่างจากรัฐไทย เพราะ "ขบวนการมีอาวุธ รัฐไทยมีกฎหมาย"

"ผมคิดว่าสังคมที่นี่ถ้าพูดถึงที่สุด วัยหลังจากนี้จะเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลง และบทบาทของขบวนการฯ เอง ของรัฐไทยเอง ถ้าไม่ผูกโยงกับผลประโยชน์ในความหมายที่ว่าทำเพื่อประชาชนให้มากพอ ผมว่ามันจะค่อย ๆ ห่างหายจากชีวิตพวกเขาจนเขาไม่สามารถจะพึ่งอะไรได้แล้ว"

ทำงานทางความคิด-ยอมรับความหลากหลาย-สร้างสรรค์การเคลื่อนไหว

ในฐานะนักวิชาการในพื้นที่และผู้สังเกตการณ์ ผศ.เอกรินทร์ กล่าวถึงภาพที่อยากเห็นในขบวนนักศึกษา เยาวชน ในแดนใต้ว่า อยากเห็นงานทางความคิดที่เป็นข้อเสนอเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับประเด็นทางชายแดนใต้ที่โยงกับระบอบการเมืองเพื่อสร้างความรับรู้เข้าใจกับมวลชนนอกพื้นที่ มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เปิดรับการร่วมขบวนจากอัตลักษณ์อื่น พร้อมอยากเห็น "การยอมรับความหลากหลายมากขึ้น" ในขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มแนวร่วมในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ โดยต้องไม่จำกัดตัวเองภายใต้กรอบคิดว่าชายแดนใต้เป็น "รัฐศาสนา"

"เรามีผู้คนหลากหลายเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมหาศาลที่มีความคิดความเชื่อต่างจากเรา เราจำเป็นที่จะต้องให้ขบวนมันมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น มีกลุ่มผู้หญิงมาเกี่ยวข้อง มีกลุ่มแอลจีบีที มีกลุ่มศาสนา หรือกลุ่มอื่น ๆ แต่ให้อยู่ภายใต้ข้อเสนอเพื่อตอบสนองเรื่องความเป็นธรรม... ไม่ใช่เรื่องของใครที่มีอำนาจ แต่ให้ทุกคนมีความเท่าเทียม"

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
August 09, 2020 at 11:41AM
https://ift.tt/30CHGUe

แฟลชม็อบชายแดนใต้ : สำรวจความคิดเยาวชนปลายด้ามขวาน ทำไมออกมาต้านรัฐบาล - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "แฟลชม็อบชายแดนใต้ : สำรวจความคิดเยาวชนปลายด้ามขวาน ทำไมออกมาต้านรัฐบาล - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.