น้องคนหนึ่งที่เรียนจบโบราณคดีไปร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ชูป้ายหนึ่งที่เขียนว่า ‘โบราณคดี = สมบัติทุกคน ไม่ใช่เรื่องเฉพาะส่วนตน! หยุดลบประวัติศาสตร์ฝั่งเห็นต่าง หยุดบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมุดคณะราษฎรหายอยากได้คืน’ เมื่อเห็นป้ายนี้ผมแทบจะปรบมือให้ เพราะช่างแหวกขนบของคนที่เรียนสายนี้เสียจริง
ย้อนกลับไปวันสงกรานต์ที่ 14 เมษายน 2560 ได้มีข่าวการหายไปของ ‘หมุดคณะราษฎร’ หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งได้นำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย (และเป็นเรื่องคาใจสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้) หนึ่งในนั้นคือข้อถกเถียงที่ว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุหรือไม่ ซึ่งทางฝ่ายกรมศิลปากรได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่โบราณวัตถุ เพราะถือว่าเป็นของที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ไม่มีคุณค่าใดในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเรื่องนี้ก็เข้าใจกรมศิลปากรดี เพราะหมุดคณะราษฎรนั้นกลายเป็นของร้อนไปเสียแล้ว
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้มีการนิยามหมุดคณะราษฎรว่าไม่ใช่ของเก่าทั้งๆ ที่อายุมันแทบจะเกินช่วงชีวิตของใครหลายคน แต่สิ่งที่เราควรตั้งคำถามตามมาก็คือ อะไรที่เป็นเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการวัดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ควรถูกนิยามว่าเป็นของโบราณหรือไม่ใช่ของโบราณในแวดวงโบราณคดี ซึ่งมันสัมพันธ์กับวิธีคิดอีกหลายๆ เรื่องในบ้านเราเกี่ยวกับเรื่องโบราณคดี
‘โบราณวัตถุ’ ในทัศนะของโบราณคดีร่วมสมัย
ในโลกของโบราณคดีนั้น มีแนวคิดมากมายหลายสาย มีนักโบราณคดีบางคนได้ตั้งคำถามว่า การนิยามว่าอะไรเป็นโบราณวัตถุนั้น สังเกตว่ามันมักสัมพันธ์กับแนวคิดเบื้องหลังสองกระบวนการหลักคือ กระบวนการแรก ประวัติศาสตร์อารยธรรม หรือประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้วัตถุที่ขุดพบตามโบราณสถานมีสถานะกลายเป็นโบราณวัตถุอันทรงคุณค่า ทำให้มันถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ หรือถูกซื้อขายกันในตลาดค้าโบราณวัตถุ กระบวนการที่สองคือ เรื่องของอำนาจ ดังสังเกตได้จากวัตถุที่สัมพันธ์กับเจ้าหรือกษัตริย์นั้น มักถูกให้ค่าในฐานะของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ
ด้วยเหตุนี้เอง ในยุคของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกเสรีประชาธิปไตยและการเสื่อมคลายลงของชนชั้น จึงทำให้นักโบราณคดีบางคนเกิดแนวคิดว่า ทำไมเราจะต้องนิยามให้ของที่เกิดจากกระบวนการทั้งสองอย่างข้างต้นนั้นมีสถานะอันทรงคุณค่าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ทำไมวัตถุที่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนจึงจะไม่สามารถอยู่ในนิยามของการเป็นโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่คู่ควรกับการจัดเก็บในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเล่า
ด้วยคำถามดังกล่าว ทำให้ราวๆ คริสต์ทศวรรษ 1990 มีนักโบราณคดีกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ร็อดนีย์ แฮร์ริสัน และ กอนซาเลส ริวบัล ได้คิดสาขาโบราณคดีสาขาใหม่ขึ้นมา เรียกว่า ‘Contemporary Archaeology’ หรือ ‘โบราณคดีร่วมสมัย’ ซึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมโบราณคดีจะต้องศึกษาแต่สิ่งของโบราณเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว นักโบราณคดีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาวัฒนธรรมและสิ่งของที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วย และสิ่งสำคัญของวัตถุนั้นก็คือ การที่มันสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้ ที่สำคัญอีกอย่างคือ นักโบราณคดีร่วมสมัยบางคนมองว่า จริงๆ แล้วโบราณคดีร่วมสมัยก็คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบันโดยมองผ่านวัตถุ (González-Ruibal 2014: 1-3) ดังนั้นนักโบราณคดีนั้นไม่ได้มีภารกิจในการศึกษาอดีตเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ในการศึกษาปัจจุบันหรืออดีตเมื่อไม่นานมานี้ (Recent Past) ด้วย เพราะเรานั้นคือส่วนหนึ่งของปัจจุบันและอนาคต
ขอบเขตของเวลาของโบราณคดีร่วมสมัยนั้นจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันไปจากสมัยก่อนที่มองว่าของจะต้องเก่าเกิน 50 ปี 70 ปี หรือ 100 ปีขึ้นไป โบราณคดีร่วมสมัยจะเน้นการศึกษาวัตถุที่มีอายุอยู่ในช่วง 50 ปี ทั้งนี้มองว่าเป็นช่วงที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยังมีภาวะความเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ร่วมอยู่ด้วย ในขณะที่บางคนมองว่าสังคมร่วมสมัยนี้ควรครอบคลุมเวลาไปราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุดช่องว่างที่โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ยังไม่ได้มีการศึกษามากนัก เพราะมักเน้นเรื่องเก่าๆ ที่มีอายุมากกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขึ้นไป ซึ่งเกิดจากกรอบคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีในยุคอาณานิคมที่เจือด้วยแนวคิดโรแมนติก
ประเด็นที่นักโบราณคดีร่วมสมัยให้ความสนใจนั้นประกอบด้วย เรื่องชีวิตประจำวัน (Everyday Life), ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเมื่อไม่นานมานี้ (Recent Conflict), ความรุนแรงจากเผด็จการและปัญหาสิทธิมนุษยชน, การเมืองกับความทรงจำ, พัฒนาการของอุตสาหกรรม, อาคารเก่าทิ้งร้างและขยะ, หายนะและภัยธรรมชาติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เนื้อหาของโบราณคดีร่วมสมัย แนวคิดทฤษฎีและอะไรอีกมากมายนั้นต่างไปจากการรับรู้ของงานโบราณคดีที่คนไทย (รวมถึงคนทั่วโลก) คุ้นเคยราวฟ้ากับดิน
รถตู้ที่ถูกขุดค้นโดยกลุ่มของนักโบราณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัย Bristol (University of Bristol) (Bailey et al. 2009)
มีเคสหนึ่งที่ผมขอยกขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงงานโบราณคดีร่วมสมัย ซึ่งผมขอเรียกว่า โปรเจกต์ ‘โบราณคดีรถตู้’ กล่าวคือ นักโบราณคดีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้ทำการท้าทายแนวคิดทางด้านโบราณคดีที่มักคิดว่าจะต้องไปขุดค้นโบราณสถาน สืบค้นเมืองโบราณ หรือวิเคราะห์โบราณวัตถุ โดยพวกเขาได้ทำการขุดค้นรถตู้เก่าคันนี้ที่ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1991 มาเป็นระยะเวลา 15 ปี และถูกทิ้งปลดประจำการในมหาวิทยาลัย
การศึกษานี้พวกเขาได้ใช้วิธีการทางด้านโบราณคดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติของวัตถุจากประวัติศาสตร์บอกเล่าว่ามีใครเคยใช้มันบ้าง มันไปไหนมาบ้าง การเก็บหลักฐานอย่างละเอียดด้วยการวาดแผนผัง เก็บวัตถุที่ตกอยู่ในรถตู้ เช่น เส้นผมของคนที่เคยใช้รถตู้ ขนหมาขนแมวที่เคยเอามาเล่นในรถ เศษอาหารหรือของต่างๆ ที่ค้นพบในรถตู้ โดยดูว่าวัตถุที่ตกอยู่ในรถตู้นั้นพบตรงไหนมากที่สุด ซึ่งช่วยให้เข้าใจว่าพื้นที่ไหนที่คนชอบใช้มากที่สุด ศึกษาเศษพืชหรือสัตว์ที่ติดอยู่ที่ตัวรถและยางรถ ประวัติการซ่อมบำรุงรถ ซึ่งพบว่ามีอะไหล่หลายชิ้นที่ส่งมาจากประเทศต่างๆ เพื่อใช้ในการซ่อมมัน เป็นต้น (Bailey et al. 2009)
หลักฐานที่ค้นพบระหว่างการขุดค้นในรถตู้ ซึ่งเป็นวิธีการบันทึกข้อมูลตามมาตรฐานของการขุดค้นทางโบราณคดีโดยทั่วไป (Bailey et al. 2009)
ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติ’ ของรถตู้ขึ้นมา ซึ่งมันก็แทบไม่ต่างจากกระบวนการที่นักโบราณคดีสายคลาสสิกทำการศึกษาโบราณสถานวัตถุที่เก่านับพันปี และมันได้สะท้อนให้เห็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันของตัวเราด้วย ลักษณะของโบราณคดีเช่นนี้จึงเป็น ‘archaeology of the recent past’ หมายถึงเป็นโบราณของอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไป ไม่ใช่อดีตที่ผ่านเลยไปแล้ว
นอกจากกรณีของรถตู้แล้ว มีนักโบราณคดีร่วมสมัยบางคนได้สนใจศึกษา ‘บ้านร้าง’ เพราะเราอย่าลืมว่าบ้านร้างในอีกไม่กี่ร้อยปีนั้นมันก็คือโบราณสถานนั่นเอง ตัวอย่างเช่น Dezhamkhooy และ Papoli Yazdi ได้ทำการขุดค้นบ้านร้างหลายหลังที่พังทลายลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2003 ในประเทศอิหร่าน ซึ่งทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงของครอบครัว 6 ครอบครัวผ่านการใช้วัตถุแบบเดียวกัน ซึ่งหมายถึงว่าคนในบ้าน 6 ครอบครัวที่เขาศึกษานั้นมีวัฒนธรรมร่วมแบบเดียวกัน ดังนั้นวัตถุจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยชี้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปจากเรื่องเล่า (González-Ruibal 2014: 5) หรือเป็นเรื่องเล่าแบบ Untold Story ที่ไม่สามารถหาได้จากเอกสารประวัติศาสตร์
ในบทความเรื่อง Archaeology of the contemporary past เขียนโดย อัลเฟรโด กอนซาเลส-ริวบัล ได้กล่าวว่า มีนักโบราณคดีบางคนได้ให้ความสนใจต่อการศึกษาโบราณคดีกับความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยนักโบราณคดีกลุ่มนี้จะมองหาร่องรอยความรุนแรง ความขัดแย้ง อำนาจที่เผด็จการได้กระทำต่อคน จนส่งผลต่อทั้งชีวิตของคนและพื้นที่เชิงกายภาพ ตัวอย่างเช่น การฆ่าคนจำนวนมากแล้วฝังลงในสุสาน การที่เผด็จการได้สถาปนาวัตถุหรือสถานที่สักแห่งเพื่อแสดงถึงอำนาจของตนเอง หรือกระทั่งการทำให้วัตถุนั้นหายไป การศึกษาสถานที่เคยลงโทษกักขังคน ซึ่งในการขุดค้นนี้ก็จะมองหาวัตถุที่คนที่ถูกทรมานเคยใช้ ตัวอย่างเช่น การขุดค้นศึกษาพื้นที่ค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz) ซึ่งเป็นค่ายที่นาซีใช้ทรมานชาวยิว เป็นต้น (González-Ruibal 2014: 7-8) กรณีของไทยนั้น การหายไปของหมุดคณะราษฎร การโยกย้ายหรือทำลายอนุสาวรีย์บางแห่ง หรือการกระทำความรุนแรงของคนที่ประท้วงรัฐบาลนั้นก็คือส่วนหนึ่งของงานโบราณคดีร่วมสมัยนั่นเอง
หมุดคณะราษฎรกับโบราณคดีร่วมสมัย
ขอเล่าประวัติสักนิด ‘หมุดคณะราษฎร’ ฝังลงบนลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด เพื่อเป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นระบอบการปกครองใหม่ และเป้าหมายอื่นๆ
ถ้าพิจารณาที่อายุโดยหักลบตัวเลขกับ พ.ศ. ปัจจุบันแล้ว หมุดนี้มีอายุ 84 ปีมาแล้ว ในแง่ของความเป็นของโบราณ แล้วจะเห็นได้ว่ามีมากกว่าผัดไทยโบราณเสียด้วยซ้ำ และมีมากกว่าเกณฑ์อายุสมัยที่โบราณคดีร่วมสมัยกำหนดเสียอีก ดังนั้นหมุดคณะราษฎรจึงมีสถานะของความเป็นวัตถุโบราณไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่งในตัวของมันเอง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่บรรจุอยู่ในวัตถุด้วยแล้วจะเห็นได้ว่า มันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย ยิ่งพิจารณาจากพื้นที่ที่มันถูกฝังลงไปก็จะเห็นถึงประวัติและความหมายเชิงพื้นที่ที่สัมพันธ์กับอำนาจของระบอบการเมืองในสมัยจารีตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มีการไม่พิจารณาว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุนั้น ถ้าเราข้ามๆ ปัญหาที่เราพูดไม่ได้ออก แต่มองที่กระแสสังคมที่มีคนยินดีต่อการถอนหมุดคณะราษฎรและการหายไปของมันแล้ว ผมว่ามีประเด็นที่เราควรต้องคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ
ประเด็นแรก ปัญหาของช่องว่างของเวลา กล่าวคือต้องเข้าใจก่อนว่าวิชาโบราณคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย/สยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5-6 ดังนั้นมันจึงไม่แปลกที่คนในรุ่นนั้นจะมองยุคสมัยของตนเองเป็นสมัยโบราณ หรือมองวัตถุหรืออาคารต่างๆ ที่ใช้และสร้างสมัยนั้นว่าเป็นของเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานนับร้อยปี การมองย้อนกลับไปทำให้เราพิจารณาว่าวัตถุในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นของเก่า และเราก็มักจะนิยามด้วยว่ายุคดังกล่าวเป็นยุคทอง เป็นยุคคลาสสิกของสยาม คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรบ้างที่ถูกนิยามว่าเป็นโบราณวัตถุโบราณสถานอันทรงคุณค่า และมันเกิดขึ้นจากอุดมคติ (Ideology) ใด
ประเด็นที่สอง การนิยามว่าอะไรคือโบราณวัตถุหรือเป็นโบราณสถานของไทย (และอีกหลายที่ทั่วโลก) มีปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ มันถูกรองรับด้วยประวัติศาสตร์ของกษัตริย์หรือผู้นำคนสำคัญ ในขณะที่สามัญชน หรือ ‘ราษฎร’ นั้นไม่ได้มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ที่มากพอ มันจึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ หมุดคณะราษฎรนั้นจึงไร้ความสำคัญไปในแง่มุมของคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้สำคัญต่อการกำหนดว่าอะไรมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าต่อชาติ เพราะเราจะสังเกตได้ว่าวัตถุที่ถูกอธิบายว่าเป็นสมบัติของชาตินั้นก็ล้วนแต่เป็นของที่มีการกล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติเป็นหลัก หรือได้รับการยกย่องจากชนชั้นนำ ในขณะที่สิ่งของของสามัญชนไม่ได้ถูกยกย่องให้อยู่ในสถานะดังกล่าว ตัวอย่างเช่น รถกระบะของนาย ก. ที่สามารถวิ่งส่งของจนเลี้ยงครอบครัวและส่งให้ลูกเรียนจนจบ เป็นต้น
โบราณคดีไม่ใช่การศึกษาอดีตเพื่ออดีตเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมปัจจุบันและอนาคต โบราณคดีไม่อาจปฏิเสธตัวเองชนิดแยกตัวตนออกจากปัจจุบันได้ เพราะอดีตนั้นมีอำนาจในการควบคุมปัจจุบันเสมอ เช่นเดียวกับที่โบราณวัตถุมากมายในพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานมากมายตามเมืองโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐชาติ และจินตนาการของความเป็นไทย
หมุดคณะราษฎรจึงเป็นหนึ่งใน ‘โบราณ-ปัจจุบันวัตถุ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศ และมีหน้าที่โดยตรงต่อประชาชน การหายไปของหมุดเก่าเพื่อตอบสนองต่อความเชื่อของใครบางคน ด้วยการใช้หมุดใหม่ที่มีข้อความใหม่ ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์จริงมารองรับ มันจึงเป็นได้เพียงแค่ประวัติศาสตร์ความฝัน จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมหมุดคณะราษฎรจึงถูกผลิตซ้ำและให้คุณค่าเสมอมา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Lehmann, Le Vergne. 2015. The Garbage Project Revisited: From a 20th Century Archaeology of Food Waste to a Contemporary Study of Food Packaging Waste, in Sustainability 7, 6994-7010.
- Alfredo González-Ruibal. 2014. “Archaeology of the contemporary past” in Encyclopedia of Global Archaeology, Claire Smith (Ed.). New York: Springer, pp 1683-1694.
- Bailey, G., Newland, C., Nilsson, A., Schofield, J., Davis, S. & Myers, A. 2009. Transit, Transition: Excavating J641 VUJ. Cambridge Archaeological Journal 19(1): 1-28.
"หายไป" - Google News
August 17, 2020 at 10:24AM
https://ift.tt/2Q1K5BS
การหายไปของหมุดคณะราษฎร กับข้อถกเถียงว่านิยามของโบราณวัตถุคืออะไร - thestandard.co
"หายไป" - Google News
https://ift.tt/3bJg2bb
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การหายไปของหมุดคณะราษฎร กับข้อถกเถียงว่านิยามของโบราณวัตถุคืออะไร - thestandard.co"
Post a Comment