ภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost In Thailand ที่ออกฉายเมื่อปี 2555 ได้ส่งผลให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลกันเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ "หลี่" เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในเฉิงตู ลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในหมู่คนจีนที่มาเที่ยวไทย
หลี่คิดว่าการลงทุนนอกประเทศเป็นวิธีการเพิ่มรายได้และเก็บเงินที่คุ้มค่า ด้วยเครือข่ายบริษัทนำเที่ยวจากจีนที่เขารู้จัก หลี่ตัดสินใจลงทุนเพิ่มโดยซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และพัทยารวมกันแล้วนับร้อยห้อง แต่การลงทุนนั้นต้องหยุดชะงักไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา นับแต่เกิดข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
จากอู่ฮั่น โรคแพร่ไปในหลายภูมิภาคของจีน แล้วระบาดไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก การเดินทางไปต่างประเทศของคนจีนก็หยุดชะงักและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวต่างก็ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในทันที
ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ ยอดขายหายวับ การก่อสร้างโครงการใหม่หยุดชะงัก ส่วนโครงการที่สร้างเสร็จแล้วต่างก็ทยอยเข็นส่วนลดและของแถมต่าง ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นยอดขาย
การลงทุนของคนจีน
ก่อนการระบาดของโควิด คนจีนจำนวนไม่น้อยคิดไม่ต่างจากหลี่ ด้วยโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยถึงเกือบ 11 ล้านคน จากยอดนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.7 ล้านคน
พัทยา กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นเมืองสำคัญด้านการลงทุนจากจีนเพราะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่จำนวนมากยังเลือกใช้บริการบริษัทนำเที่ยวของคนจีนที่มีการจัดการเรื่องการเดินทาง อาหาร และที่พัก
ไนเจล คอร์นิค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เซ็น แคปปิตอล ประเทศไทย คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี บอกกับบีบีซีไทยว่าชาวจีนนิยมซื้อคอนโดในพัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือเมืองต่าง ๆ เพื่อการลงทุนมากกว่าเพื่ออยู่อาศัยเอง
"พวกเขามีความตั้งใจที่จะลงทุนกับสินทรัพย์นอกประเทศเพื่อย้ายสกุลเงินจีนบางส่วนไปเป็นดอลลาร์หรือบาท และพวกเขาคาดหวังให้การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์แปรมาเป็นรายได้เสริม" คอร์นิคอธิบาย
"เห็นได้ชัดว่าโอกาสในการลงทุนเปิดที่พักในรูปแบบแอร์บีแอนด์บีในพัทยามีมากกว่าในกรุงเทพฯ นั่นเป็นเพราะเจ้าของคอนโดมิเนียมห้องอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะมีบริการรูปแบบการพักอาศัยระยะสั้นในโครงการของตน"
"ในทางกลับกันทุกคนก็ยอมรับว่าพัทยาเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยว สิ่งที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กำลังทำคือการรับประกันผลตอบแทน สำหรับชาวจีนที่ต้องการสร้างรายได้จากการลงทุนกับคอนโดมิเนียม รายได้นั้น ๆ จะต้องครอบคลุมดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน เนื่องจากพวกเขาใช้เงินกู้ในประเทศจีนมาลงทุนกับคอนโดมิเนียมเหล่านี้"
รองรับทัวร์ศูนย์เหรียญ
ณัฐวุฒิ ตรีทิพย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท บ๊อกซ์ แอสเซ็ท ผู้ให้คำปรึกษาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์กับชาวต่างชาติบอกบีบีซีไทยว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มของตลาดในกลุ่มชาวจีนที่มากขึ้นในทุกปี และการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา
"โครงการต่าง ๆ ที่พัทยาเริ่มจ้างพนักงานขายที่เป็นคนจีนเพิ่มมากขึ้น พอรู้ว่าจีนมาซื้อเยอะ มันมีช่วงนึงที่จีนไม่ให้โอนเงินมาไทย เมื่อปีครึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา คนจีนโอนเงินออกมาต่างประเทศเยอะ จนทำให้จีนไม่สามารถโอนเงินออกนอกประเทศเกิน 1 ล้านบาท โครงการบางโครงการเลือกที่จะไปตั้งสาขาที่จีนเพื่อรับการจ่ายเงิน" ณัฐวุฒิอธิบาย
ณัฐวุฒิเสริมว่าลูกค้าชาวจีนของเขามักลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ พัทยา และกรุงเทพฯ ในตลาดคอนโดที่ราคาไม่เกินห้องละ 10 ล้านบาท และมักจะซื้อทีละ 5 - 10 ห้องต่อคน
ส่วนนายหน้าชาวจีนนำเสนอการขายว่าประเทศไทยมีชาวจีนมาเที่ยวเยอะ โดยเฉพาะในกลุ่ม "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ที่ผู้นำทัวร์จะเลือกร้านอาหาร สถานที่แวะซื้อของฝากและที่พักที่อยู่ในเครือข่ายของคนจีนด้วยกัน
บางรายลงทุนซื้อห้องทั้งชั้น เพื่อเป็นที่พักรับรองของทัวร์จีนที่มาท่องเที่ยวในเมืองนั้น ๆ คอนโดมิเนียมบางโครงการที่เชียงใหม่ถึงกับต้องจำกัดจำนวนลูกค้าจีน เพราะไม่ว่าจะเปิดมากี่โครงการ โควตาผู้ซื้อชาวต่างชาติก็เต็มตลอดจากลูกค้าจีน
"ก่อนโควิด-19 ระบาด คนจีนเริ่มเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของโครงการเลย แต่เป็นโครงการที่เพิ่งเปิดตัว ยังไม่ได้ก่อสร้าง คอนโดที่เปิดใหม่เร็ว ๆ ส่วนใหญ่คนจีนเป็นเจ้าของทั้งหมด
คนจีนเริ่มมีวิวัฒนาการจากการซื้อเป็นห้อง ไปเป็นการลงทุนซื้อทั้งชั้น ไปจนถึงการลงทุนทั้งตึก คือสร้างเองเลย โดยใช้คนไทยเป็นนอมินี ที่พัทยามี 4 โครงการที่จีนเป็นเจ้าของ" ณัฐวุฒิกล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าส่วนใหญ่คนจีนจะซื้อโครงการแบบที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง เพราะโครงการเหล่านี้ได้รับการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ในจีนมาก ส่วนกลุ่มที่ซื้อแบบพร้อมอยู่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในทันที อีกกลุ่มคือกลุ่มที่วางเงินจองแล้วเปลี่ยนใจไม่ซื้อในภายหลัง
"สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชะลอการซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน เช่นทัวร์จีนกลับมาได้เมื่อไหร่ คนจีนซื้อคอนโดไม่ได้เพื่อเก็งกำไรหรือพักผ่อนอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อเพื่อรองรับหาเงินกับทัวร์จีนที่มีมาอยู่ตลอด เมื่อทัวร์จีนกลับมาได้เมื่อไหร่ นักลงทุนจีนก็จะกลับตามมาเมื่อนั้น"
ยกเลิกสัญญา
ก่อนโควิดระบาด หลี่เพิ่งตกลงทำสัญญาซื้อห้องที่โครงการคอนโดมิเนียมที่ยังสร้างไม่เสร็จที่พัทยาไปมากถึง 20 ห้องเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เขาจ่ายค่ามัดจำไปบางส่วนเพื่อจองสิทธิ์การซื้อห้อง แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น เขาดำเนินเรื่องขอยกเลิกสัญญาการซื้อขายและพักโครงการลงทุนของเขาไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
"ตอนนี้ถึงเป็นคนที่มีเงินก็ยังไม่อยากลงทุนเพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะอยู่กับเราไปถึงเมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาแย่อีกไหม ผมก็เลยยกเลิกการลงทุนไปก่อนจนกว่าคนจีนจะกลับมาเดินทางได้อีกครั้ง" หลี่กล่าว และเสริมว่าหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนจีนหลายคนต่างพากันยกเลิกสัญญาและระงับการซื้อ
"คนที่เคยซื้อไปแล้ว มีการขอยกเลิกสัญญา มีการต่อรองที่จะไม่ขอจ่ายเพิ่มกันเยอะมาก ส่วนใหญ่เกิดกับลูกค้าจีนที่มีการจ่ายเงินดาวน์เอาไว้จำนวนหนึ่งก่อนที่จะจ่ายที่เหลือ พอถึงงวดที่จะต้องจ่ายอีกครึ่งที่เหลือเพื่อรับโอนเริ่มไม่จ่ายกัน"
"มีคนจีนอีกมากที่ทำเรื่องฟ้องร้องขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนเพราะไม่อยากลงทุนแล้ว และเริ่มเห็นการทำงานแบบไม่ต่อเนื่องของเจ้าของโครงการเนื่องจากขาดเงินทุนมาหมุน ทำให้เกิดการไม่ไว้วางใจ"
คอร์นิคอธิบายเพิ่มเติมว่าชาวจีนและรัสเซียที่ร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ในยุโรป ส่วนตลาดที่ไทยจะมีราคาตั้งแต่ 3 - 8 ล้านบาท แต่สถานการณ์ในตอนนี้จะซบเซาไปชั่วขณะ จนกว่าชาวจีนจะเดินทางเข้าไทยได้อย่างเสรีอีกครั้ง
"ในช่วงนี้เราจะได้เห็นโครงการใหม่ ๆ ในพัทยาหยุดการก่อสร้างเพราะพวกเขาไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้น ส่วนโครงการเกรดบีจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชายหาดและสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของตลาดจีนและพวกเขามักจะอยู่ในทำเลรองจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะถ้าหากราคาน่าจูงใจพอ ก็จะมีคนมาซื้ออยู่เสมอ"
ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์
บีบีซีไทยได้ติดต่อนายหน้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการลงทุนของชาวจีน โดยนายหน้าและบล็อกเกอร์ชาวจีนคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามได้ให้สัมภาษณ์ผ่านแอพพลิเคชั่นวีแชทว่าคนจีนยังไม่กล้าลงทุนนอกประเทศเพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การระบาดที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
เธออธิบายว่าการแพร่ระบาดในปัจจุบันได้สร้างผลกระทบและความสูญเสียอย่างมากต่อทุกภูมิภาคและยังทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลื่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศโดยตรง เนื่องจากกลัวการแพร่ระบาดซ้ำหรือเหตุการณ์รุนแรงที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่อย่างไม่สามารถแก้ไขได้
นอกจากนี้ การไม่สามารถเยี่ยมชมสถานที่จริงยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเลื่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยและราคาที่อยู่อาศัยที่สูงส่งผลให้นักลงทุนจีนเลื่อนแผนการซื้อเนื่องจากราคาซื้อในต่างประเทศสูงกว่าราคาซื้อในประเทศมาก
"อัตราการเข้าพักและผลตอบแทนการเช่าห้องพักในประเทศไทยไม่สูงอย่างที่คนพูดกัน และเจ้าของห้องหลายคนไม่สามารถปล่อยเช่าได้เหมือนที่เข้าใจกัน" เธออธิบาย
"หลังจากการแพร่ระบาด นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยเสถียรภาพทางสังคมและราคาที่อยู่อาศัยเพราะล่าสุดเห็นว่ามีการลดราคาอสังหาริมทรัพย์หลายรายการ"
คอนโดหรูยังขายได้
อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย อธิบายว่านักลงทุนในตลาดคอนโดมิเนียมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่กลุ่มนักเก็งกำไรระยะสั้นซึ่งเป็นกลุ่มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปีที่แล้วหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มาถึงโควิด-19 กลุ่มนี้หายไปจากตลาด
ส่วนกลุ่มนักลงทุนระยะยาวที่ซื้อเพื่อเป็นสินทรัพย์ หรือนำไปปล่อยเช่า โดยคาดหวังผลตอบแทนจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเมื่เวลาผ่านไป หรือเป็นมรดกให้ลูกหลาน พร้อมที่จะซื้อหากสินค้ามีราคาน่าสนใจ หรือเป็นสินค้าหายากที่ไม่ค่อยมีออกมาขาย โดยสถานการณ์ในช่วงนี้กลุ่มนี้ยังคงมีความเคลื่อนไหวในตลาดอยู่
ถึงแม้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ซบเซาลงไปมากแต่คอนโดมิเนียมระดับหรูยังสามารถขายได้อยู่แม้กระทั่งในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทิม สเกวิงตัน กรรมการผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ริชมอนต์ คริสตี้ (Richmont's Christie's International Real Estate) บอกกับบีบีซีไทยว่าคอนโดระดับหรูยังคงขายได้อยู่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อชาวจีน-ฮ่องกง
"เราขายอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูให้กับผู้ซื้อชาวจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยผู้ซื้อเป็นชาวจีนที่ยังคงอยู่ที่นี่ และมีอีกจำนวนหนึ่งที่วางเงินจองเอาไว้ก่อนที่จะมีประกาศปิดประเทศ" สเกวิงตันกล่าว
สเกวิงตันอธิบายเพิ่มเติมว่าโครงการคอนโดมิเนียมระดับหรูอย่างเช่น เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน (Ritz Carlton) ที่ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 40 ล้านบาทไปจนถึงหลักร้อยล้านบาท มีผู้ซื้อจากประเทศจีนและชาวจีนเป็นกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติถึง 50% ของทั้งโครงการ ส่วนเรื่องของการขายห้องภายในนั้นชาวจีนเป็นผู้ซื้อส่วนใหญ่อย่างแน่นอน เนื่องจากราคาที่ปรับลดลง
"แม้ว่าเราจะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และทุกคนมักคิดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูจะหายไปโดยอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีห้องคงเหลือจำนวนมาก" สเกวิงตันอธิบาย
"โครงการใหม่ ๆ ที่ประกาศและขายก่อนที่จะสร้างจะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่ลดน้อยลงมากและมีการเปิดตัวน้อยลงมาก เพราะไม่มีนักลงทุนชาวต่างขาติเข้ามาดูห้องด้วยตัวเองได้ แต่โครงการที่สร้างเสร็จแล้วจะได้ประโยชน์มากผ่านโปรโมชันที่น่าดึงดูดใจ โดยเราจะเห็นได้ว่าช่วงนี้มีโครงการหรูบางที่ที่สร้างเสร็จมานานแล้วหลายโครงการเริ่มทยอยขายห้องได้จนหมด"
สเกวิงตันอธิบายเพิ่มเติมว่าผู้ซื้อคอนโดมิเนียมในระดับบนคือคนที่ซื้อเพื่อใช้เอง พวกเขาอาจไม่ได้อยู่ที่นั่นตลอดเวลา แต่ไม่ได้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าเนื่องจากราคาสูงมากและผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ
พวกเขาคาดหวังที่จะสร้างรายได้หากตัดสินใจขายต่อ แต่ไม่เหมือนกันกับผู้ซื้อชาวต่างชาติระดับกลางถึงล่างที่ซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่าและรับรายได้จากค่าเช่า
"ผู้ซื้อของเราส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง ผู้ซื้อชาวจีน (จากแผ่นดินใหญ่) เป็นผู้ซื้อส่วนใหญ่ในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาวจีนเป็นผู้ซื้อชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนผู้ซื้อชาวฮ่องกงมีมากกว่าผู้ซื้อชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในตลาดบน" เขากล่าว
อลิวัสสา บอกกับบีบีซีไทยว่ามีลูกค้าชาวจีนสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่องและคาดว่ากลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังซื้อที่สำคัญเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทางแล้ว
"ซีบีอาร์อีพบว่าลูกค้าชาวจีนในกลุ่มตลาดบนเริ่มซื้อคอนโดมิเนียมระดับลักซ์ชัวรี่ (หรูหรา) มากขึ้น เมื่อเทียบกับ 4 - 5 ปีก่อนที่ลูกค้าชาวจีนจะเป็นกลุ่มที่ซื้อคอนโดมิเนียมในระดับราคา 3 - 10 ล้านบาท และในช่วงก่อนโควิด-19 ผู้ซื้อชาวจีนในตลาดคอนโดมิเนียมมีอยู่ประมาณ 20-40% ขึ้นอยู่กับรูปแบบและราคาของแต่ละโครงการ"
นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังพบว่า ตลาดคอนโดมิเนียมทำเลดีติดสถาบันการศึกษาเป็นอีกหนึ่งตลาดหนึ่งที่ฟื้นตัวได้เร็ว และได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากวิกฤตโควิด-19
"คอนโดมิเนียมทำเลดีติดสถาบันการศึกษามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะมีความต้องการอยู่จริง ไม่ว่าจะซื้อเพื่ออาศัยอยู่เอง หรือผู้ปกครองซื้อให้บุตรหลาน อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มองว่าเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำและปล่อยเช่าได้ง่าย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมรุ่นใหม่ ๆ จะมีการออกแบบที่ทันสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่" อลิวัสสากล่าวเพิ่มเติม
"โดยกลุ่มผู้ซื้อในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนไทย 93% และชาวต่างชาติ 7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย"
ทิ้งเงินจอง ตลาดผันผวน
ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลื่อนแผนการเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ ๆ ออกไป และมุ่งเน้นไปที่การระบายห้องที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในโครงการที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อสร้างรายได้ให้กลับเข้าบริษัทอย่างรวดเร็ว
รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ชะลอตัว มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมไม่ถึง 10,000 ยูนิต ซึ่งต่ำกว่าปริมาณการเปิดตัวคอนโดมิเนียมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่มาก ที่มีการเปิดโครงการใหม่มากกว่า 60,000 ยูนิตต่อปี
"หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ธุรกิจต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวและเริ่มมีผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยบางรายเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่" รัฐวัฒน์กล่าว
ซีบีอาร์อีพบว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่คอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่บางส่วนมีอัตราการขายที่ดีในการเปิดตัวระยะแรก โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดตัวด้วยสินค้าและราคาที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ซื้อที่เป็นฐานกลุ่มใหญ่ของตลาดที่มีกำลังซื้อลดลง และตั้งอยู่ในทำเลที่น่าสนใจที่ยังมีคอนโดมิเนียมในพื้นที่ไม่มากนัก
แม้ว่าสภาวะดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นแนวโน้มที่ดีในการฟื้นตัวของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ แต่ปริมาณคอนโดมิเนียมใหม่ที่จะแล้วเสร็จและจะเข้าสู่ตลาดยังเป็นที่น่ากังวล
จากรายงานของซีบีอาร์อีที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน ก.ย. พบว่าในปี 2563 จะมีคอนโดมิเนียมกว่า 60,000 ยูนิตที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ และอีกประมาณ 80,000 ยูนิตจะแล้วเสร็จในปี 2564 - 2565
ด้วยจำนวนคอนโดมิเนียมมากกว่า 140,000 ยูนิตที่รอการโอนในช่วงระยะสองปีข้างหน้านี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการทิ้งเงินจองคอนโดมิเนียมจำนวนมากซึ่งจะทำให้ตลาดกลับเข้าสู่สภาวะผันผวนอีกครั้ง เนื่องจากผู้ซื้อจำนวนมากที่ต้องการเก็บเงินสดไว้ อาจตัดสินใจที่จะไม่โอนห้องชุดที่จองไว้
"อนาคตของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ นั้นขึ้นอยู่กับทิศทางที่ผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยจะดำเนินร่วมกัน ด้วยจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ปัจจุบันนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ตลาดจะต้องทำให้ปัญหาเรื่องภาวะโอเวอร์ซัพพลายและเรื่องราคาที่สูงเกินที่มีมายาวนานกลับมามีความสมดุลอีกครั้ง" รัฐวัฒน์กล่าว
"หายไป" - Google News
September 14, 2020 at 04:50PM
https://ift.tt/3mimThu
โควิด-19: นักท่องเที่ยวจีนหาย ธุรกิจคอนโดแหล่งท่องเที่ยวทรุด แต่ตลาดหรูใน กทม. ไปได้ดี - บีบีซีไทย
"หายไป" - Google News
https://ift.tt/3bJg2bb
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19: นักท่องเที่ยวจีนหาย ธุรกิจคอนโดแหล่งท่องเที่ยวทรุด แต่ตลาดหรูใน กทม. ไปได้ดี - บีบีซีไทย"
Post a Comment