Search

ปิยบุตร ติงรัฐบาล "ไม่จงรักภักดีจริง" เตือนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่า "ฆ่าอนาคตของชาติ" - บีบีซีไทย

soho.prelol.com

ปิยบุตร แสงกนกกุล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ส่งเสียงถึงฝ่ายอนุรักษนิยมให้เปิดพื้นที่ถกเถียงเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ "เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน" ของพระมหากษัตริย์จะอยู่ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ

การออกมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ชวนสนทนาว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ของนายปิยบุตรเกิดขึ้นที่ตึกไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี โดยมีประชาชนและสื่อมวลชนร่วมรับฟังราว 200 คน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" จะเริ่มต้นชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เขายืนยันว่าทำด้วย "เจตนาดี" และยอมรับว่าการออกมาบรรยายครั้งนี้เป็นผลจากปรากฏการณ์ "10 สิงหา" ซึ่งตัวแทนนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้ยื่น 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่วนตัวเขาไม่เคยคิดฝันว่าจะเห็นการปราศรัยเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะ

ความชอบธรรมไม่สามารถเกิดจากการบังคับ

นายปิยบุตรเริ่มบรรยายด้วยการฉายภาพ "ลักษณะของรัฐและการปกครองสมัยใหม่" โดยรัฐถูกมนุษย์คิดค้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เพื่อสร้างศูนย์รวมของอำนาจ และแยกรัฐออกจากตัวบุคคล ในยุคแรก ๆ เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ แต่ต่อมาแนวคิดอำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชนได้แพร่กระจายออกไป พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของกระแสประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ได้พัฒนาไปสู่รัฐสมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะ 4 ประการ

  • แบ่งแยกเรื่องสาธารณะออกจากเรื่องส่วนบุคคล ทั้งตัวบุคคลและทรัพย์สิน ใครก็ตามที่ไปดำรงตำแหน่งในแดนสาธารณะต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว แนวคิดแบบนี้ทำให้ "รัฐราชสมบัติ" สลายหายไป เพราะไม่สอดคล้องกับความคิดสมัยใหม่
  • ความชอบธรรมเปลี่ยนไป จากเดิมความชอบธรรมแบบรัฐโบราณมาจาก "บารมี เรื่องเล่า และศาสนจักร" เช่น พระมหากษัตริย์ในยุโรปมีความชอบธรรมเพราะสมเด็จพระสันตะปาปาบอกว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้ามาปกครองประเทศ แต่ในยุคสมัยใหม่ ผู้นำต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของทุกคน ถึงมีการกำหนดเรื่องการเลือกตั้งขึ้นมา "ความชอบธรรมไม่สามารถเกิดจากการบังคับให้คนมารักได้ แต่ความชอบธรรมจะเกิดจากการยอมรับนับถือจากสิ่งที่ทำ"
  • เมื่อบุคคลใดใช้อำนาจรัฐและใช้ทรัพยากรสาธารณะ บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเองและถูกตรวจสอบได้
  • อำนาจสูงสุดเป็นของคนทุกคนในชื่อ "ประชาชน" ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
ปิยบุตร แสงกนกกุล

ร่ายประวัติศาสตร์ ประชาชน+รัฐสภา กดดันต่อรองลดพระราชอำนาจ

ฉากต่อมาคือ "กำเนิดและพัฒนาระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งนายปิยบุตรชี้ให้เห็นพัฒนาการในทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดจากการต่อสู้ของประชาชนและรัฐสภา เพื่อกดดันต่อรองให้พระมหากษัตริย์ลดพระราชอำนาจลง ก่อนตกลงกันผ่านเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" เช่น การต่อสู้ในอังกฤษทำให้เกิดมหากฎบัตร (แม็กนา คาร์ตา) เพื่อไม่ให้กษัตริย์เก็บภาษีได้ตามอำเภอใจ

ไม่ต่างจากประเทศอื่นในยุโรปหรือเอเชียที่ยังรักษาสถาบันฯ เอาไว้ แต่ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญเขียนอะไรไว้บ้าง

เขากล่าวต่อไปว่า ถ้าดูพัฒนาการจะเห็นว่าไม่นิ่งและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในยุคเริ่มต้น รัฐสภาเป็น "บ่อเกิดในการตรากฎหมาย" กล่าวคืออำนาจในการออกกฎหมายต้องมาจากตัวแทนประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ยังสงวนอำนาจในการบริหารประเทศเหมือนเดิม พัฒนาสู่ยุคที่พระมหากษัตริย์เลือกอัครเสนาบดี หรือชื่อสมัยใหม่คือนายกรัฐมนตรี ส่วนประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรมาอยู่ในสภา โดยทั้ง 2 หน่วยนี้จะถ่วงดุลกัน และนายกฯ ต้องรับผิดชอบต่อ 2 หน่วยในเวลาเดียวกัน ต่อมาเปลี่ยนสู่ยุคที่สภาเลือกนายกฯ โดยนายกฯ จะรับผิดชอบต่อสภา ไม่ได้รับผิดชอบต่อ 2 หน่วยแล้ว

"จินตนาการของในหลวง ร. 7 กับคณะราษฎรไม่ตรงกัน"

ฉากที่สาม "กำเนิดของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" นับจากวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนายปิยบุตรชี้ว่าได้เกิด "ความเข้าใจไม่ตรงกัน" ระหว่างในหลวง ร. 7 กับคณะราษฎร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการตกลงและประนีประนอมระหว่าง ร. 7 กับคณะราษฎร แต่ความเข้าใจและการตีความตัวบทก็แตกต่างกัน โดยจุดตัดของความเห็นไม่ตรงกันที่นำไปสู่การสละราชสมบัติคือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่ 2 ซึ่งคณะราษฎรได้จัดทำบัญชีไว้แล้วเพื่อให้ ร. 7 ประกาศ เพราะตีความว่าผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือผู้จัดทำและผู้รับผิดชอบ แต่ ร. 7 ยืนยันว่าพระองค์ต้องมีพระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งบุคคลด้วย จึงถือว่า "จินตนาการของในหลวง ร. 7 กับคณะราษฎรไม่ตรงกัน"

ต่อมาได้เกิดรัฐประหารปี 2490 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นรัฐประหารที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและกษัตริย์นิยมกลับมามีบทบาทอีกครั้ง มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งเพิ่มถ้อยคำใหม่เข้าไปคือ "ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" และใช้คำนี้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2534 มีการเพิ่มคำว่า "อัน" เข้าไปในประโยคเป็น "ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" และใช้มาจนถึงปัจจุบันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

รัฐประหาร 49 ตอกย้ำ "อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไทย"

นายปิยบุตร ผู้เป็นอดีตรองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งข้อสังเกตว่าคำ ๆ นี้ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและมีนัยสำคัญในเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) และปัจจุบันได้มาถึงจุดที่การพูดถึงระบอบประชาธิปไตย จะขาดคำว่า "อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ไม่ได้ ถ้าใครพูดถึง "ระบอบประชาธิปไตย" แบบโดด ๆ จะมีปัญหา และกลายเป็น "อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไทย" รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปหรือถูกแก้ไขก็ไปกระทบต่อคำ ๆ นี้ไม่ได้ ทว่าฝ่ายอนุรักษนิยมไม่เคยอธิบายว่าเนื้อแท้ของคำ ๆ นี้คืออะไร

นายปิยบุตรจึงพยายามอธิบาย "ลักษณะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ในทัศนะของเขา ซึ่งประสาน 3 องค์ประกอบเข้าไว้ด้วยกันคือ "ราชอาณาจักร (ประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์สืบทอดผ่านสายโลหิต) + ประชาธิปไตย (อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน) + ระบบรัฐสภา (รัฐบาลและฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อสภา และนายกฯ มาจากเสียงข้างมากของสภา)" ทั้งหมดนี้วางอยู่บนหลักการที่ว่า "The King can do no wrong." หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิด เพราะ "The King can do nothing." หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไร เพราะในฐานะที่นายกฯ มีอำนาจในการบริหารประเทศ นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ

4 เงื่อนไขให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตามในฐานะประมุขแห่งรัฐ ไม่ว่าเป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีจำเป็นต้องมี "เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน" โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีหรือขึ้นศาลในระหว่างที่อยู่ในวาระประธานาธิบดี ทว่าพอเป็นกษัตริย์ก็จะเกิดปัญหาให้ต้องขบคิดเพราะเป็นตำแหน่ง "ประมุขที่อยู่ตลอดชีวิต" ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งนายปิยบุตรเล่าว่าได้เกิดข้อถกเถียงอย่างใหญ่หลวงในคราวสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญปี 2492 ที่เพิ่มเนื้อหาขึ้นมาใหม่ในมาตรา 6 ว่า "ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" โดยที่พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าประโยคนี้ประโยคเดียวตีความได้อยู่แล้วว่าการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้

มาถึงมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" แต่ทั้งนี้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้

  • พระมหากษัตริย์จะไม่กระทำการใด ๆ โดยลำพังพระองค์เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง ซึ่งผู้รับสนองฯ เป็นคนใช้อำนาจจริง ๆ และต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
  • ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์ และการกระทำใดเป็นของรัฐบาล
  • ไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดอะไร การพระราชทานคำแนะนำ ตักเตือน หรือสนับสนุนให้กำลังใจต้องทำโดยลับ รัฐบาลต้องไม่นำมาอ้างหรือเปิดเผย
  • พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ต้องให้คณะรัฐมนตรีรู้เห็นเพราะเป็นคนรับผิดชอบ

"รัฐบาลที่จงรักภักดีจริงจะไม่อ้าง หรือบอกว่าที่เขาตัดสินใจแบบนี้เพราะพระมหากษัตริย์บอกมา เพราะจะทำให้สถาบันฯ ตกเป็นที่วิจารณ์ รัฐบาลที่เป็นรอยัลลิสต์จริง ๆ จะไม่อ้างและไม่เปิดเผย ดังนั้นรัฐบาลแบบไหนที่อ้างเยอะ ๆ ให้สังวรเลยว่าไม่จงรักภักดี รัฐบาลแบบนี้กำลังเอาสถาบันฯ มาอยู่ในวงสาธารณะในทางการเมือง... เช่นเดียวกับการชุมนุมที่อ้างถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำให้สถาบันฯ ตกเข้ามาอยู่ในเวทีทางการเมือง ดังนั้นการจงรักภักดีจริงต้องไม่อ้าง" นายปิยบุตรระบุ

กลุ่มประชาชนปกป้องสถาบัน

ส่งเสียงถึงฝ่ายอนุรักษนิยมอย่า "ฆ่าอนาคตชาติ"

ในช่วงท้ายนายปิยบุตรได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาสถาบันให้อยู่กับประชาชน ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นประกาศยุบสภาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษา ส่วนการอภิปรายปัญหาสถาบันฯ ในที่สาธารณะ เขาเห็นว่ามี 2 ทางเลือก ระหว่าง กำจัดให้หมด หรือ รับฟังและนำมาเป็นประเด็นสาธารณะที่พูดคุยได้เป็นการทั่วไป

"ผมเห็นว่าทางเลือกแรกไม่มีทางจัดการปัญหาได้ การปราบให้หมด กำจัดให้หมด ทำได้แต่เพียงให้คนเห็นต่างหายไปจากประเทศช่วงหนึ่ง แต่ความคิดยังอยู่ และท้ายที่สุดก็เหมือนเข็มนาฬิกาที่ตั้งแล้วก็วนกลับมาที่เดิม ซึ่งไม่เป็นคุณต่อใครทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นการฆ่าอนาคตของชาติ ผมเห็นว่าทางเลือกที่ถูกต้องคือทางเลือกที่สอง ต้องเป็นเรื่องที่อภิปรายได้เหมือนประเด็นอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ต้องสามารถอภิปรายได้ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความรัก เคารพ จริงใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย" นายปิยบุตรกล่าว

เขาจึงส่งเสียงไปถึงฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำจารีตประเพณี และฝ่ายกษัตริย์นิยมที่มีเหตุผล มีสติปัญญาให้ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
August 16, 2020 at 06:26PM
https://ift.tt/2PVx2Sa

ปิยบุตร ติงรัฐบาล "ไม่จงรักภักดีจริง" เตือนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่า "ฆ่าอนาคตของชาติ" - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ปิยบุตร ติงรัฐบาล "ไม่จงรักภักดีจริง" เตือนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่า "ฆ่าอนาคตของชาติ" - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.