
จากร้านหนังสือเก่าแก่ โรงภาพยนตร์ ถึงศาลเจ้า สถานที่และร้านค้าหลายแห่งที่อยู่คู่ย่านสยาม สามย่าน ปทุมวันและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการหรือย้ายสถานที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อหลีกทางให้การพัฒนาพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นสิ่งปลูกสร้างล่าสุดที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ แจ้งให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิ.ย. เนื่องจากตั้งแต่ที่ 16 มิ.ย. จะเริ่มดำเนินการปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีรายงานว่าประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียมและหอพักตามโครงการพัฒนาที่ดินของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ
แม้ว่าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ จะแจ้งว่าได้จัดเตรียมพื้นที่ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ไว้สำหรับก่อสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ อีกทั้งการออกแบบและก่อสร้างจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญและหลักฮวงจุ้ย แต่ชาวบ้านและศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ กลุ่มหนึ่งได้ออกมาประท้วงการรื้อถอนและย้ายศาลเจ้าแห่งนี้ด้วยเหตุผลว่าศาลเจ้าแม่ทับทิม "เป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้าง" มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของในชุมชน นิสิตและประชาชนที่ศรัทธา
- ประชาชนร่วม #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนจุฬาฯ รื้อถอน
- ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ โฉมใหม่ ทำไมจึงเป็น "ห้องสมุดที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ"
ก่อนหน้าศาลเจ้าแม่ทับทิม มีกิจการ ร้านค้า สถานที่และสิ่งปลูกสร้างหลายอาคารที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ และมีความผูกพันกับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านสยาม-สามย่าน-ปทุมวัน-สวนหลวง บางแห่งถูกยกให้เป็น "ตำนาน" ที่ต้องถูกรื้อถอน ปิดกิจการหรือย้ายสถานที่ด้วยเหตุผลคล้ายกันนั่นคือเจ้าของที่ดินคือจุฬาฯ ต้องการนำที่ดินไปพัฒนา บางรายปิดกิจการลงเพราะสู้กับค่าเช่าที่แพงขึ้นไม่ไหว
การปิด การย้าย การรื้อในช่วงที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์และความขัดแย้งระหว่างชุมชน ผู้ค้าผู้ประกอบการกับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ อยู่เป็นระยะ ซึ่งสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ออกมาชี้แจงหลายครั้งว่า การพัฒนาเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและนิสิต และมีการเตรียมมาตรการลดผลกระทบหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้แล้ว
บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องราวของกิจการ ร้านค้าและสถานที่บางแห่งที่หายไปหรือย้ายที่จากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในย่านการค้ากลางใจเมืองแห่งนี้
โรงภาพยนตร์คู่สยามสแควร์
หนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่มีคนพูดถึงและคัดค้านการรื้อถอนมากที่สุดคือ "โรงภาพยนตร์สยาม" ที่สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้นิยมใช้บริการโรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในไทย
โรงภาพยนตร์สยามเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2509 แต่ต้องปิดตำนานอันเคยรุ่งเรืองในอดีตไปหลังจากที่โรงภาพยนตร์ถูกไฟไหม้ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553
หลังจากนั้นสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ตัดสินใจพัฒนาพื้นที่โรงภาพยนตร์เพื่อการพาณิชย์ และพัฒนาพื้นที่นั้นให้เป็นศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน (SQ1) โดยได้เปลี่ยนพื้นที่ 8 ไร่นี้เป็นศูนย์การค้า ลานกิจกรรมและโรงละคร มาจนถึงปัจจุบันนี้
ล่าสุดมีรายงานว่า "โรงภาพยนตร์สกาล่า" ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์เก่าแก่อีกแห่งในสยาม ได้ปิดบริการลงเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้ต่อสัญญาเช่ากับทางสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ บีบีซีไทยได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ว่าผู้บริหารอาจจะแถลงความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
ปิดร้านหนังสือคู่ตำนานสยามสแคร์
หลังจากให้บริการมาเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาสยาม ที่ตั้งอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก ๆ ในสยามสแควร์ซอย 3 ต้องประกาศปิดกิจการลงเมื่อปลายปี 2560 ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สามารถสู้ค่าเช่าที่แพงขึ้น สวนทางกับรายได้ของร้านที่ลดลงได้
บรรดาหนอนหนังสือและลูกค้าประจำ ทั้งประชาชนทั่วไปและนิสิตนักศึกษาต่าง "ใจหาย" กับการจากไปของร้านหนังสือในตำนานแห่งนี้ และทำให้เรื่องค่าเช่าที่ของร้านค้าในสยามเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในช่วงหนึ่ง
เจ้าของร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาสยาม แจ้งกับลูกค้าและผู้สื่อข่าวว่าเหตุผลที่ต้องปิดกิจการเป็นเพราะหมดสัญญาเช่าและไม่สามารถสู้กับค่าเช่าที่สูงขึ้นได้ในขณะที่ยอดขายหนังสือลดลงมากเพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยม เข้าร้านหนังสือมากเหมือนในอดีตอีกแล้ว อย่างไรก็ตามทางร้านบอกว่าจะพยายามหาพื้นที่ขายหนังสือแห่งใหม่ต่อไป
ก่อนหน้าที่ร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาสยามจะประกาศปิดตัวไปร้านดอกหญ้าสาขาอุดรธานีก็ประกาศปิดกิจการเช่นเดียวกัน เพราะว่าร้านไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกำไรที่ลดน้อยลงกว่าเดิม
รวมโครงการพัฒนาพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ
โครงการ | รูปแบบโครงการนิยามโดยสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ |
---|---|
สยามสแควร์ | แลนมาร์คแห่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ |
สยามสแควร์วัน | ช้อปปิ้งสตรีทแนวตั้ง ใจกลางสยามสแควร์ |
สยามกิตติ์ | แหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาชั้นนำรวมถึงร้านอาหาร สำนักงาน และร้านค้า |
จัตุรัสจามจุรี | ครบทุกความต้องการในการดำเนินชีวิตบนทำเลธุรกิจใจกลางเมือง เชื่อมต่อ MRT สามย่าน |
สวนหลวง-สามย่าน | ย่านการค้าและพาณิชย์ติดจุฬาฯแหล่งกำเนิดธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร |
ตลาดสามย่าน | ตลาดสดทันสมัย โดดเด่นด้านคุณภาพความปลอดภัย ความสะอาดและสุขลักษณะที่ดี |
CU IHOUSE | International Houseที่พักอาศัยเพื่อรองรับนิสิตต่างชาติและบุคลากร |
สวนหลวงสแควร์ | "ศูนย์รวมความอร่อยใจกลางเมือง"และแหล่งเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สันทนาการ และสินค้าไลฟ์สไตล์ |
อุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาฯ | "ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม"พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ |
ที่มา : เว็บไซต์สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ
"จีฉ่อย" อีกหนึ่งตำนานที่ยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับนิสิต นักศึกษาและนักเรียนย่านสามย่าน ไม่มีใครไม่รู้จักร้าน "จีฉ่อย" ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าขายของชำที่มีสินค้าทุกอย่างตั้งแต่อุปกรณ์การเรียนไปจนถึงอาหารและเครื่องดื่ม
ร้านจีฉ่อยเคยตั้งอยู่บริเวณริมถนนพญาไทมากว่า 40 ปี และร้านนี้เป็นร้านโชว์ห่วยที่มีผู้ใช้บริการหลักเป็นกลุ่มอาจารย์ นิสิต นักศึกษาและนักเรียนในย่านนั้นมาเป็นเวลานาน
- เปิด "จม.ลาครู" ภาพสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย
- ปัญหา #dek63 สะเทือนคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ต้องลาออกเซ่นปมประกาศ TCAS รอบ 3 ผิดพลาด
ด้วยสภาพพื้นที่อันเสื่อมโทรมลงทุกวันบวกกับห้างร้านที่เติบโตขึ้นโดยรอบ สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ จึงตัดสินใจพัฒนาพื้นที่ตรงหัวมุมถนนพระราม 4 และพญาไท ให้เป็นห้างสรรพสินค้าสามย่าน มิตรทาวน์ และแน่นอน ร้านจีฉ่อยเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าว
ร้านจีฉ่อยเลือกที่จะสู้ต่อด้วยการย้ายไปเปิดกิจการที่อาคารยูเซ็นเตอร์ ซอยจุฬา 4 และยังคงเป็นที่พึ่งของนักเรียน นิสิตนักศึกษาในด้านอุปกรณ์การเรียน โดยเฉพาะด้านศิลปะมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่แวะเวียนไปใช้บริการอยู่เสมอ
ปัจจุบันสามย่าน มิตรทาวน์ เป็นห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และเป็นศูนย์รวมร้านอาหารชื่อดังที่ในย่านสามย่าน
อดีตศูนย์รวมแฟชั่นและชุดนักศึกษากลายเป็นที่จอดรถ
"โบนันซ่า สยาม" เป็นศูนย์รวมแฟชั่นและชุดนักศึกษาหลายสถาบันเมื่อในอดีต โดยวัยรุ่นในยุคก่อนจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งซื้อเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ตามยุคสมัย รวมไปจนถึงชุดนักศึกษาทุกสถาบันมาหลายสิบปี
แต่ศูนย์รวมแฟชั่นราคาย่อมเยาแห่งนี้ก็กลายเป็นตำนานเมื่อสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ประกาศเมื่อปี 2559 ว่าจะไม่ต่ออายุสัญญาเช่ากับทางโบนันซ่า เนื่องจากมีแผนก่อสร้างอาคารใหม่บริเวณนั้น ส่งผลให้โบนันซ่าและร้านค้าหลายร้านต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ รวมทั้งร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อและข้าวหน้าไก่เจ้าดัง "รสดีเด็ด" ที่ย้ายไปอยู่สยามสแควร์ซอย 7
สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาเป็น Siam Scape ซึ่งเป็นอาคารสูง 24 ชั้น ที่จะเป็นอาคารเป็นสำนักงาน ศูนย์การเรียนรู้ และร้านค้าตามพันธกิจของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ รวมทั้งเป็นที่จอดรถที่สามารถรองรับรถยนต์ได้ถึง 700 คัน
แผนพัฒนาของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ
ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาฯ ให้ข้อมูลกับ Marketing Oops เมื่อปลายปี 2561 ว่าพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ ที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ดูแลอยู่ถูกจัดสัดส่วนเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษา 637 ไร่ เพื่อการพาณิชย์ 385 ไร่ และเพื่อเป็นพื้นที่ส่วนราชการในรูปแบบยืม และเช่าใช้ 131 ไร่
พื้นที่ที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ นำมาใช้เพื่อการพาณิชย์คิดเป็น 33.39% ของที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นพื้นที่มีประเด็นความขัดแย้งและเสียงคัดค้านถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่อยู่เป็นระยะ ๆ
ดร.วิศณุกล่าวกับ Marketing Oops ว่าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ต้องทำการบ้านหนักขึ้นในการกำหนดกรอบการพัฒนาแต่ละโซนของทั้งย่านสยามสแควร์ และพื้นที่สามย่านให้มีคาแรกเตอร์ชัดเจน และมี "คุณค่าเพิ่ม" ให้สังคมใน 3 ด้าน คือ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และตอบโจทย์ความหลากหลายของไลฟ์สไตล์คนทุกกลุ่ม
ดังนั้น บนที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 385 ไร่ จึงมีทั้งโครงการที่ไม่มีรายได้อย่างเช่น "อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ" และโครงการที่ทำให้จุฬาฯ มีรายได้จากค่าเช่าแต่ก็ไม่ได้มุ่งที่การเก็บค่าเช่าสูงสุด
เขาย้ำว่าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่ได้มองที่การสร้างรายได้อย่างเดียว แต่ต้องมองว่าธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่สังคมต้องการหรือเปล่า
"เราต้องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า จุฬาฯ ไม่ใช่ทุบไล่ที่ แต่วัตถุประสงค์ของเราคือพัฒนาพื้นที่ดี ๆ ให้กับสังคม" ดร.วิศณุกล่าว
"หายไป" - Google News
June 16, 2020 at 01:50PM
https://ift.tt/2YExLv9
ศาลเจ้าแม่ทับทิม : ร้านค้าและสถานที่เก่าแก่อะไรบ้างที่ต้องหลีกทางให้การพัฒนาพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ - บีบีซีไทย
"หายไป" - Google News
https://ift.tt/3bJg2bb
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ศาลเจ้าแม่ทับทิม : ร้านค้าและสถานที่เก่าแก่อะไรบ้างที่ต้องหลีกทางให้การพัฒนาพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ - บีบีซีไทย"
Post a Comment