รัฐสภาของเนปาลเตรียมให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อแผนที่ประเทศฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีการรวมเอาพื้น 3 แห่งที่กำลังเป็นข้อพิพาทกับอินเดียให้อยู่ในเขตแดนของเนปาล
แม้พื้นที่ดังกล่าวที่เนปาลได้ผนวกเข้าไปอยู่ในแผนที่ฉบับแก้ไขใหม่ของตนจะครอบคลุมพื้นที่ขนาดเล็ก ๆ บนเทือกเขาหิมาลัย แต่มันได้จุดชนวนความตึงเครียดไม่เพียงเฉพาะประเทศคู่กรณีทั้งสอง แต่ยังได้กระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างอินเดียกับจีน ที่มีความขัดแย้งและเคยเผชิญหน้าทางทหารกันมาแล้ว จากข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในภูมิภาคลาดักห์ ในดินแดนแคชเมียร์
ในเนปาล ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกประกบด้วยจีนและอินเดียนั้น ประชาชนในประเทศต่างแสดงความไม่พอใจ และออกมาประท้วง โดยกล่าวหาว่าอินเดียไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของพวกตน
ขณะที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ในอินเดียบางคน กล่าวหาจีนว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้เนปาลแก้ไขแผนที่ประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่จนถึงบัดนี้จีนยังไม่ได้ออกมาตอบโต้
ความขัดแย้งปะทุขึ้นได้อย่างไร
เนปาลและอินเดียมีพรมแดนเปิดร่วมกันระยะทาง 1,880 กม. และทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบในแผนที่ 98% ที่ครอบคลุมพรมแดนส่วนนี้ ยกเว้นในส่วนของช่องเขาลิปูเลกห์, กาลาปานี และลิมปิยาดูระ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของเนปาล
เจ้าหน้าที่เนปาลระบุว่า พื้นที่ 3 แห่งมีเนื้อที่รวมกันราว 370 ตร.กม. โดยที่ช่องเขาลิปูเลกห์ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐอุตตรขัณฑ์ของอินเดียกับเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน
เนปาลและจีนต่างแสดงความไม่พอใจต่ออินเดีย ที่เผยแพร่แผนที่ใหม่บริเวณพรมแดนที่พิพาททั้ง 3 แห่ง หลังจากเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วอินเดียได้แบ่งแยกดินแดนแคชเมียร์ในส่วนที่ตนเองปกครองออกเป็น 2 ดินแดนสหภาพ คือ จัมมูและแคชเมียร์ กับลาดักห์ โดยแผนที่ดังกล่าวได้รวมพื้นที่บางส่วนในบริเวณ 3 แห่งที่มีข้อพิพาทกับเนปาลเข้าไปอยู่ในเขตแดนของอินเดีย
นายประทีป ชญวาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนปาล ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "เราต่างเห็นพ้องว่าพรมแดนระหว่างสองประเทศถูกกำหนดโดยสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันสองฝ่าย การกระทำใด ๆ ที่ทำขึ้นโดยฝ่ายเดียวไม่สามารถใช้อ้างความชอบธรรมในการเข้าไปครอบครองได้"
นายชญวาลี ชี้ว่า ปัจจุบันไม่มีสนธิสัญญาอื่นใด นอกเหนือจาก สนธิสัญญาสุโกลี ที่ทำขึ้นในปี 1816 ที่กำหนดเส้นพรมแดนฝั่งตะวันตกที่แบ่งแยกเนปาลกับอินเดีย และในสนธิสัญญาดังกล่าวก็ระบุชัดเจนว่าพื้นที่ทั้ง 3 แห่งเป็นของเนปาล
ด้วยเหตุนี้ เนปาลจึงตีพิมพ์แผนที่ประเทศฉบับแก้ไขใหม่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่พิพาททั้งสามอยู่ในเขตแดนของเนปาล หลังจากมีความผิดพลาดในการตีพิมพ์แผนที่ฉบับก่อนหน้าในปี 1976 ซึ่งไม่ได้รวมพื้นที่แถบลิมปิยาดูระเข้าไปด้วย
คาดว่าแผนที่ฉบับใหม่นี้จะผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาเนปาล ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความไม่พอใจให้แก่อินเดีย
"เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเนปาลหลีกเลี่ยงการอ้างกรรมสิทธิ์ในแผนที่โดยไม่ชอบธรรม และเคารพอธิปไตย ตลอดจนอำนาจเด็ดขาดเหนือพื้นที่ของอินเดีย" กระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ระบุในแถลงการณ์
มีความชัดเจนหรือไม่ว่าพื้นที่พิพาทเป็นของใคร
เนปาลถูกบังคับให้สละพื้นที่ส่วนหนึ่งทางภาคตะวันตกของประเทศในปี 1816 หลังจากกองทัพเนปาลพ่ายแพ้ต่อบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และนำมาซึ่งการทำสนธิสัญญาสุโกลี ที่กำหนดให้ต้นกำเนิดของแม่น้ำกาลีเป็นจุดพรมแดนระหว่างเนปาลกับอินเดีย แต่ทั้งสองประเทศกลับเห็นไม่ตรงกันในเรื่องต้นกำเนิดของแม่น้ำกาลี
อินเดียอ้างว่าในสนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีการระบุระยะพิกัดที่ชัดเจนของแม่น้ำ และว่าเทคนิคการสำรวจทางภูมิศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ต้องมีการเขียนแผนที่ขึ้นใหม่
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา "สงครามแผนที่" ได้จุดกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชนทั้งสองประเทศ และเนปาลได้เรียกร้องให้อินเดียถอนกำลังทหารออกไปจากเขตกาลาปานี
ในความเป็นจริง พื้นที่พิพาททั้ง 3 จุด อยู่ภายใต้การควบคุมที่เหนียวแน่นของอินเดียตลอด 60 ปีที่ผ่านมา และผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ปัจจุบันเป็นพลเมืองอินเดีย มีการเสียภาษีและใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของอินเดีย
ขณะที่นักการเมืองเนปาลหลายคนชี้ว่า เนปาลที่เพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองหลายทศวรรษ และตามด้วยปัญหาความไม่สงบจากกลุ่มกบฏนิยมลัทธิเหมานั้น ไม่อยู่ในจุดที่จะมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับอินเดียได้
เนปาลสำคัญแค่ไหน
ในฐานะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เนปาลจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากอินเดียมานานหลายปี และอินเดียก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในกิจการด้านต่าง ๆ ของเนปาล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนปาลเริ่มขยับออกห่างจากอิทธิพลของอินเดีย และจีนก็ค่อย ๆ เข้าไปเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ทั้งในด้านการลงทุน ความช่วยเหลือ และการให้เงินกู้
จีนมองเนปาลเป็นหุ้นส่วนสำคัญในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative หรือ BRI) และต้องการเข้าไปลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคของเนปาล ตามส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ในการส่งเสริมการค้าโลกของตน
สำหรับอินเดีย ช่องเขาลิปูเลกห์ มีความสำคัญในด้านความมั่นคง หลังจากเกิดสงครามในดินแดนพิพาทตามแนวชายแดนเทือกเขาหิมาลัยครั้งใหญ่กับจีนเมื่อปี 1962 อินเดียก็มีความกังวลว่าจีนอาจรุกรานประเทศของตนผ่านทางช่องเขาดังกล่าว และพยายามควบคุมเส้นทางสายยุทธศาสตร์แถบเทือกเขาหิมาลัยนี้ไว้ เพื่อป้องกันการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้พื้นที่แถบช่องเขาลิปูเลกห์จึงกลายเป็นปมความขัดแย้งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ชาวเนปาลจำนวนหนึ่งได้ไปชุมนุมประท้วงที่ด้านหน้าสถานทูตอินเดียในกรุงกาฐมาณฑุ พร้อมเรียกร้องให้อินเดียถอนกำลังทหารออกไปจากช่องเขาดังกล่าว ขณะที่คนอีกส่วนแสดงความไม่พอใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยติดแฮชแท็ก #Backoffindia ซึ่งแปลว่า "อินเดียจงถอยออกไป"
จีนเข้ามาแทรกแซงจริงหรือไม่
ในเหตุพิพาทเรื่องดินแดนครั้งล่าสุด รัฐบาลเนปาลกล่าวหาเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียที่ไม่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันอินเดียก็มีความเคลือบแคลงสงสัยว่าความมั่นใจครั้งใหม่ของเนปาลอาจเป็นเพราะได้รับการหนุนหลังจากจีน
พลเอก มาโนจ มูกุนด์ นาราเวน ผู้บัญชาการทหารบกอินเดีย กล่าวอย่างเปิดเผยว่า เนปาล "อาจยกปัญหานี้ขึ้นมาตามคำบงการของผู้อื่น" ซึ่งเป็นการกล่าวพาดพิงโดยตรงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงของจีน
ขณะที่สื่อฝ่ายนิยมขวาของอินเดียเรียกเนปาลว่า "ตัวแทนของจีน" ในการหยิบยกประเด็นเรื่องพรมแดนขึ้นมาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลเนปาล
ทางด้านจีน ยังคงนิ่งเฉยไม่ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของอินเดีย มีเพียงกระทรวงการต่างประเทศจีนที่แสดงความหวังว่าอินเดียและเนปาลจะ "หลีกเลี่ยงการกระทำเพียงฝ่ายเดียวที่อาจจะทำให้สถานการณ์นี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น"
แม้บรรดานักการทูตของทั้งอินเดียและเนปาลจะมีความเห็นตรงกันเรื่องใช้การเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องเขตแดนครั้งนี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังทุ่มเทไปที่การรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หากรัฐบาลอินเดียแสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้น เพื่อพยายามเข้าไปขยายอิทธิพลเพิ่มในเนปาล ก็อาจต้องเผชิญกระแสต่อต้านของคนเนปาลที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ส่วนเนปาลเอง อยู่ในจุดที่จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลหากสามารถเดินหมากไปในทางที่จะทำให้ประเทศได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างจีนกับอินเดีย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ท่ามกลางเกมการช่วงชิงอำนาจระหว่างสองชาติยักษ์ใหญ่ของเอเชีย
"อยู่บน" - Google News
June 13, 2020 at 03:32PM
https://ift.tt/2AmWJqY
แผนที่ใหม่ของเนปาลปลุกความขัดแย้งในอดีตระหว่างจีนกับอินเดียขึ้นมาได้อย่างไร - บีบีซีไทย
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo
Bagikan Berita Ini
0 Response to "แผนที่ใหม่ของเนปาลปลุกความขัดแย้งในอดีตระหว่างจีนกับอินเดียขึ้นมาได้อย่างไร - บีบีซีไทย"
Post a Comment