Search

เที่ยวจันทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์ ย้อนดูอดีตใต้ท้องทะเลไทย - ไทยรัฐ

soho.prelol.com

พิพิธภัณฑ์ที่ว่า ก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี ครับ

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการเดินเรือสินค้าเข้ามาในประเทศไทย และที่สำคัญยังเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุจากซากเรือที่จมในทะเลด้วยครับ

ผมเคยไปเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์วาซา ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบปลดระวางของประเทศสวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อ 2 ปีก่อน ถ้าตัดเรื่องอากาศและความโอ่โถงออกไป บอกเลยครับว่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี แห่งนี้ ทำได้ดีไม่แพ้พิพิธภัณฑ์ในยุโรปทีเดียว

จากเอกสารที่แจกตรงทางเข้า บอกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สร้างโดยกรมศิลปากร โดยเกิดจากการที่กรมศิลปากร ตั้งฐานปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำขึ้นที่ท่าแฉลบ และตั้งศูนย์การอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้ทะเลขึ้นที่ ค่ายเนินวง ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมีการสำรวจโบราณคดีใต้น้ำ และพบโบราณวัตถุจากซากเรือจมในอดีตมากมาย

ขณะที่กองทัพเรือก็ตรวจจับและยึดโบราณวัตถุจากนักล่าสมบัติใต้ทะเลชาวต่างชาติที่แอบมาลักลอบค้นหาในท้องทะเลไทยได้อยู่เรื่อยๆ จับได้ครั้งใหญ่ตอนปี พ.ศ. 2535 พอจับได้ก็จะยึดของกลาง และส่งมาให้กรมศิลปากรดูแลรักษา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ที่นี่มีโบราณวัตถุที่เคยจมอยู่ใต้ทะเล นับหมื่นๆ ชิ้น ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีโบราณวัตถุใต้ทะเลมากที่สุดก็ว่าได้

แต่น่าเสียดายครับ มีคนมาเที่ยวน้อยเหลือเกิน เดินเที่ยวไปก็ค่อนข้างเงียบเหงาอยู่สักหน่อย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นอาคารแฝด 2 ชั้น ภายในมีการแบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 6 ห้อง

ห้องที่โดดเด่นที่สุด ที่ผมคิดว่าไม่แพ้พิพิธภัณฑ์วาซา ก็คือ “ห้องจัดแสดงสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือ” ครับ ถือเป็นห้องหลักและไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

กรมศิลปากร เขาจำลอง “เรือหน้ายักษ์” ขนาดเท่าของจริง ที่ภัณฑารักษ์ที่นี่บอกว่า เป็นเรือสำเภาลำเล็กสุด แต่สำหรับผมแล้ว เล็กสุดยังไง ก็ยังใหญ่มากครับ มาตั้งไว้กลางห้อง ลักษณะเป็นเรือสำเภาโบราณ ด้านข้างสองข้าง มีตาเรือกลมๆ เจ้าหน้าที่ บอกว่า ตาเรือแบบนี้เป็นตาเรือสินค้า ถ้าสังเกตดีๆ ตาดำจะมองออกไปข้างหน้า ส่วนถ้าเป็นเรือที่มีตาดำมองต่ำลงไปในทะเล นั่นคือ เรือประมง แต่ถ้าเจอเรือที่มีรูปตาตัดเหลือเพียงครึ่งเดียวลอยมาหา ก็ต้องหนีทันทีเพราะนั้นคือเรือโจรสลัด

สำหรับเรือสำเภาจำลองลำนี้ ชื่อว่า “เรือบรรพนาวิน” แปลว่า บรรพบุรุษแห่งการเดินเรือ ด้านหน้าของเรือวาดเป็นรูปราหู ซึ่งเมื่อไปค้นข้อมูล หนังสือบางเล่มเขียนไว้ชัดครับ ว่า ราหู เป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวเรือเคารพ ส่วนด้านหลังของเรือบรรพนาวิน วาดเป็นรูปนกฟีนิกซ์เกาะอยู่บนภูเขากลางทะเล มีความหมายว่า เป็นอมตะ ไม่ตาย ซึ่งถ้าใช้กับชาวเรือก็หมายถึงการที่เรือลำนี้ จะไม่มีวันล่ม ไม่มีวันจม ครับ

เรือลำนี้มี 2 ชั้นครับ ผมเริ่มสำรวจที่ชั้น 2 ของเรือก่อน บนชั้นสองของเรือลำนี้ มีองค์ประกอบสำคัญๆ ของเรือสำเภาโบราณ ครบถ้วนครับ ไม่ว่าจะเป็น ใบเรือ พังงาเรือ ลูกตะเภาสำหรับกันเรือกระแทกที่ทำด้วยหวาย และยังจัดแสดงวิถีชีวิตชาวเรือสมัยก่อน ที่มีทั้งจับกังหรือกุลี ที่ภาษาจีนเรียกว่า จุมโพ่ กำลังแบกกระสอบ มีคนคอยดึงเชือกใบเรือ ที่เรียกว่า "อาปั๋น" กำลังทำท่าสาวดึงใบเรือ ใกล้ๆ กันมี เฒ่าเต้ง ทำหน้าที่ดูแลสมอเรือ โดยมีกัปตันเรือหรือไต้ก๋งยืนคุมคนงานอยู่บนชั้นดาดฟ้าอีกที

จากชั้นสองลงมาชั้นล่าง ซึ่งเป็นส่วนของท้องเรือ และระวางเรือ มีทั้งห้องพักของจับกังที่เอาไม้มาพาดเป็นสองชั้น ทำเป็นที่นอน และที่ผมสังเกตเห็นเล่นๆ ก็คือ หุ่นจับกังเรือเกือบทุกคน มีไม้เกาหลังประจำตัว สืบค้นได้ความว่า การอยู่ในเรือนานนับเดือนบางครั้งก็แทบไม่ได้อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย ทำให้พวกลูกเรือส่วนใหญ่ มีปัญหาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน จึงต้องมีไม้เกาหลังประจำตัวอยู่ตลอด

ด้านหนึ่งของเรือ มีส่วนที่กั้นเป็นห้องสำหรับเก็บเครื่องถ้วย ชาม ราม ไห ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ อธิบายให้ผมฟังว่า เครื่องโบราณวัตถุเหล่านี้ มีทั้ง ไหสี่หูเคลือบน้ำตาลดินของสิงห์บุรี เครื่องเคลือบสังคโลกเขียวไข่กา ผ้าไหมแพรพรรณที่นำมาจากจีน เครื่องเทศ ไม้ฝาง และทองแดงที่ซื้อมาเป็นทั้งวัสดุใช้ทำประโยชน์และเป็นอับเฉาเรือไปในตัว 

นอกจากพวกเครื่องเคลือบ หม้อ ไห ต่างๆ แล้ว ภายในห้องยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณที่นำมาจากแหล่งเรือจม ทั้ง คันฉ่อง(กระจก) เครื่องถ้วยสังคโลก เหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง จี้ทองคำฝังพลอยแดง กำไลข้อมือทองคำ แหนบ กุญแจจีน เบ็ด ไข่เป็ด ก้างปลา ฯลฯ ซึ่งข้าวของโบราณเหล่านี้สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย หรือเมื่อราวๆ 300-400 ปีที่แล้ว

นี่แค่ส่วนเดียวนะครับ ยังน่าสนใจขนาดนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังมีห้องจัดแสดงอีกถึง 5 ห้อง ที่ผมตื่นตาตื่นใจมาก ก็คือ “ห้องแนะนำปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมจำลองภาพการทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำมาให้ดูด้วย เก๋ไก๋เชียวล่ะครับ

นอกจากนี้ ยังมี “ห้องแสดงเรือและชีวิตชาวเรือ” จัดแสดงโมเดลเรือจำลองประเภทต่างๆ ในบ้านเรา ทั้งเรือขุดและเรือต่อ เรือพระราชพิธี เรือรบสมัยใหม่ เรือสำเภา และเรือพื้นบ้านที่บางลำกลายเป็นตำนาน หาดูได้ยาก แถมยังมีเรือชื่อแปลกๆ ที่ผมเชื่อว่า คนยุคนี้ไม่เคยรู้จักแน่นอน เช่น เรือผีหลอก, เรือพายม้า, เรือหมู ,เรือแม่ปะ, เรือหางแมงป่อง, เรือสำเภา ฯลฯ และยังมีซากเรือโบราณอายุประมาณ 200 ปีที่ขุดขึ้นมาจากไม้ตะเคียนต้นเดียว แต่ว่ายังขุดไม่เสร็จ ดีว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้วนะครับ ถ้าไปตั้งที่วัดไหนสักแห่ง ผมว่าป่านนี้คนคงไปขูดเลขจนอาจจะมองไม่เห็นลายไม้แล้วก็ได้

ปิดท้ายกันที่ “ห้องของดีเมืองจันท์” ว่าด้วยเรื่องราวประวัติความเป็นมาของจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์ การก่อตั้งเมือง เหตุการณ์สำคัญและความเป็นมา “คนชอง” ซึ่งเป็น ชนพื้นเมืองของจังหวัดจันทบุรี

บอกเลยครับว่า ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่ครึ่งวันเต็มๆ ยังรู้สึกว่าน้อยเกินไป มีความรู้มากมายที่อยากจะเสพให้อิ่มมากกว่านี้ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจันทบุรีให้ไปเที่ยวชม

อาทิตย์หน้า ผมจะพาไปกราบสักการะ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในจุดที่ว่ากันว่าเป็นสถานที่ ที่พระองค์ท่าน ทุบหม้อข้าว หม้อแกง ก่อนตีเมืองจันทบุรีแตก และยังเป็นที่มาของการสร้างพระยอดธง เพื่อชัยชนะในสงครามด้วยครับ.

นายตะลอน

Let's block ads! (Why?)



"อยู่บน" - Google News
June 20, 2020 at 07:01AM
https://ift.tt/3dfdWj9

เที่ยวจันทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์ ย้อนดูอดีตใต้ท้องทะเลไทย - ไทยรัฐ
"อยู่บน" - Google News
https://ift.tt/3bD0BBk
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3c5Fzvo

Bagikan Berita Ini

0 Response to "เที่ยวจันทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์ ย้อนดูอดีตใต้ท้องทะเลไทย - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.